เมื่อคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ถือกำเนิด

“เพลงลูกทุ่ง” ถือกำเนิดโดยได้รับอิทธิพลมาจากเพลงไทยสากล ซึ่งพัฒนามาจากเพลงพื้นบ้าน บรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรีสากล มีอัตลักษณ์ที่สำคัญคือ เนื้อร้องที่ใช้ภาษาง่าย ๆ มีท่วงทำนอง คำร้อง รวมถึงลีลาการร้องที่มีลูกคอเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ให้บรรยากาศความเป็นลูกทุ่ง ซึ่งพัฒนาการของเพลงลูกทุ่งในช่วงปีพ.ศ. 2495 ถึง 2500 เป็นช่วงที่มีการแต่งเพลงในลักษณะที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวนา ชาวสวนและกรรมกร สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ บรรยายถึงความยากแค้นในชีวิต โดยใช้สำเนียงร้องอย่างชาวบ้านตามท้องถิ่น ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการบัญญัติประเภทของเพลง

คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” เกิดขึ้นโดยจำนงค์ รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายรายการสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม จัดรายการเพลงที่มีเนื้อร้องเกี่ยวข้องกับชีวิตในท้องทุ่ง โดยให้นักร้องยอดนิยมในยุคนั้นแต่งตัวแบบชาวชนบท และฉากประกอบเป็นกระท่อมปลายนา มีกองฟางจริง ๆ เป็นหลัก โดยเปลี่ยนชื่อรายการจาก “เพลินเพลงชนบท” เป็นรายการ “เพลงลูกทุ่ง” เมื่อรายการออกอากาศเป็นครั้งแรกในวันที่ 11 พฤษภาคม 2507 ปรากฏว่า ผู้ชมทางบ้านให้ความสนใจเกินความคาดหมาย และคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ก็ติดปากผู้คนทั้งประเทศจากวันนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นการให้กำเนิดคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” อย่างแท้จริง

looktung
ที่มา : เจนภพ จบกระบวนวรรณ.  (2550).  เพลงลูกทุ่ง.  กรุงเทพฯ: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้. (หน้า 15)

เพลงลูกทุ่งมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งสุรพล วิรุฬห์รักษ์ (2551: 46-54) ได้สรุปพัฒนาการไว้เป็น 7 ยุคคือ 1) ยุคต้น เป็นยุคบุกเบิกเพลงลูกทุ่ง  2) ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง เป็นยุคที่คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก  3) ยุคภาพยนตร์เพลง เป็นยุคที่เริ่มนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องแรกที่โด่งดังเป็นอย่างมากคือ มนต์รักลูกทุ่ง  4) ยุคเพลงเพื่อชีวิต เป็นยุคที่เกิดกระแสความคิดแบบเพื่อชีวิต วงการเพลงลูกทุ่งจึงแต่เพลงแนวเพื่อชีวิตมากขึ้น  5) ยุคหางเครื่องและคอนเสิร์ต เป็นยุคที่เนื้อหาของเพลงกลับมานิยมเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีและความรักของหนุ่มสาว  6) ยุคเพลงลูกทุ่งแนวสตริง เป็นยุคที่ความนิยมเพลงลูกทุ่งลดลง ทำให้เพลงลูกทุ่งปรับตัวไปเป็นแนวสตริงคอมโบ นักร้องลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และ 7) ยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่เกิดช่องว่างระหว่างผู้ฟังเพลงกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้ใหญ่ จึงเกิดกระแสการอนุรักษ์เพลงเก่าเข้ามาสู่วงการเพลงลูกทุ่ง

ต่อมาในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ค่ายเพลงปิดตัวเองไปเกือบหมด ได้เกิดช่องสถานีวิทยุชื่อ “คลื่นลูกทุ่งเอฟเอ็ม” ซึ่งเป็นช่องสถานีวิทยุ 24 ชั่วโมงในระบบเอฟเอ็มที่เปิดเฉพาะเพลงลูกทุ่งอย่างเดียว นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งใหญ่ที่ผลักดันให้เพลงลูกทุ่งกลับมาได้รับการยอมรับอีกครั้ง รวมทั้งเกิดการจัดงาน “มหกรรมเพลงลูกทุ่ง” ที่คนรักเพลงลูกทุ่งและนักร้องลูกทุ่งทุกคนทุกค่ายมารวมตัวกัน เพื่อแสดงพลังของความเป็นลูกทุ่งไทย

กว่า 55 ปีของการเกิดคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” นอกจากครูเพลงแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คงจะเป็นนักร้อง ซึ่งนักร้องลูกทุ่งแต่ละคนจะมีลีลาการร้องในแบบของตนเอง และลีลาการร้องที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น … ในส่วนของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรในฐานะที่มีการให้บริการข้อมูลศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด คือ กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี จึงสรุปนักร้องลูกทุ่งที่เป็นชาวจังหวัดในภาคตะวันตกไว้คร่าว ๆ ซึ่งนักร้องลูกทุ่งในภาคนี้จะเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรีและเพชรบุรีเป็นส่วนใหญ่

สุพรรณบุรี : ก้าน แก้วสุพรรณ / ขวัญจิต ศรีประจันต์ / ดำ แดนสุพรรณ / เด่นชัย สายสุพรรณ / พุ่มพวง ดวงจันทร์ / เมืองมนต์ สมบัติเจริญ / ไวพจน์ เพชรสุพรรณ / ศรเพชร ศรสุพรรณ / สังข์ทอง สีใส / สายัณห์ สัญญา / สุรพล สมบัติเจริญ / เสรี รุ่งสว่าง / เปาวลี พรพิมล

เพชรบุรี : กังวาลไพร ลูกเพชร / พนมไพร ลูกเพชร / ไพรวัลย์ ลูกเพชร / รุ่งเพชร แหลงสิงห์ / สมัย อ่อนวงศ์

กาญจนบุรี : ดวงตา คงทอง / แมน เนรมิตร / วิไล พนม

นครปฐม : ทม นทีทอง / ทม นทีทอง

ประจวบคีรีขันธ์ : ศรคีรี ศรีประจวบ

ราชบุรี : ดำรงค์ วงศ์ทอง / พยงค์ มุกดา / พรไพร เพชรดำเนิน / เพชร โพธาราม / รังษี เสรีชัย

สมุทรสงคราม : ทูล ทองใจ / ศรีไพร ลูกราชบุรี

สมุทรสาคร : เทียนชัย สมยาประเสริฐ

—————————————————-

บรรณานุกรม

เจนภพ จบกระบวนวรรณ.  (2550).  เพลงลูกทุ่ง.  กรุงเทพฯ: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้.

พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล.  (2564).   เหตุการณ์ในอดีตประจำเดือนพฤษภาคม.  สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม, จาก http://watthasai.net/last_5.htm

สุชาติ แสงทอง.  (2561).  “อัตลักษณ์เพลงลูกทุ่งไทย: ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับอนาคตที่ต้องดำเนินต่อไป.”  ใน เสน่ห์ลูกทุ่งนั้นมีมนต์ขลัง: เหลียวหน้าแลหลังเพลงลูกทุ่งไทย, 11-25.  อภิลักษณ์ เกษมผลกูล, บรรณาธิการ.  กาญจนบุรี: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี.

สุรพล วิรุฬห์รักษ์.  (2551).  “เพลงลูกทุ่ง.”  สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  เล่ม 33: หน้า 39-79.