Free Plagiarism Checker

Plagiarism คือ การโจรกรรมทางวิชาการ หรือการลอกเลียนวรรณกรรม  เป็นการแอบอ้างงานเขียนหรืองานสร้างสรรค์ดั้งเดิมของผู้อื่น ไม่ว่าจะนำทั้งหมดหรือนำมาบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นการขโมยความคิด คัดลอกคำต่อคำ คัดลอกเนื้อหา คัดลอกกระบวนการ หรือแม้แต่สรุปความแล้วนำเสนอให้ดูเหมือนว่าตนเองเป็นผู้คิดค้น ดำเนินการ นำมาใช้ในงานของตนเองโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา (Citation) หรือประกาศเกียรติคุณ (Acknowledgment)  นอกจากนั้นการคัดลอกผลงานของตนเอง ก็ถือว่าเป็น self plagiarism ด้วย (กุลธิดา ท้วมสุข, 2560; ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ และสันติพงษ์ ไทยประยูร, ม.ป.ป.)

บางครั้งในการเขียนงานวิจัยอาจเกิดความเหมือนโดยไม่ตั้งใจก็ได้ ที่เรียกว่า accidental plagiarism คือเราไม่ได้เจตนาที่จะใช้คำพูดหรือเนื้อหาของผู้อื่น แต่เป็นเพราะไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจถึงขอบเขตของการใช้ข้อมูล และไม่ทราบวิธีการอ้างอิงที่ถูกต้อง ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถเขียนงานวิจัยได้โดยไม่เสี่ยงต่อการโจรกรรมทางวิชาการ คือ เราจะต้องตรวจสอบกับระบบการตรวจสอบต่าง ๆ ก่อน

ระบบตรวจสอบที่สามารถใช้ได้ฟรี มีอยู่หลายเว็บไซต์ ซึ่งส่วนมากจะมี version ที่เสียเงินเพื่อให้สามารถใช้ function อื่น ๆ ได้ เช่น การเพิ่มจำนวนคำ จำนวนครั้งที่สามารถส่งตรวจ และการออกรายงานการตรวจสอบ ที่เรียกว่า similarity index ให้ได้ เว็บไซต์ที่ขอแนะนำ ได้แก่

1. copyleaks:  https://copyleaks.com 

ต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งาน ใช้งานได้ฟรีสำหรับการตรวจเอกสารขนาด 2,500 คำ เดือนละ 1 ครั้ง แต่การรายงานไม่แสดงแหล่งของข้อมูลที่ซ้ำ

2. Dupli Checker : https://www.duplichecker.com/

ใช้งานได้ฟรีสำหรับการตรวจเอกสารขนาด 1,000 คำ วันละ 1 ครั้ง รายงานผลดัชนีความเหมือน (similarity index) และแหล่งของเอกสารต้นทาง ช่วยตรวจสอบไวยากรณ์ให้ด้วย

3. PaperRater: https://www.paperrater.com/

ตรวจงานได้ฟรีครั้งละ 5 หน้า หรือเดือนละ 10 ครั้ง เมื่อรายงานแล้ว ไม่สามารถเก็บรายงานไว้ได้ และช่วยตรวจสอบไวยากรณ์ด้วย

4.Plagiarisma: http://plagiarisma.net/

ใช้งานฟรีได้วันละ 3 ครั้ง ถ้าตั้งเป็นส่วนขยายของ firefox หรือ chrome จะทำให้ทำงานเร็วขึ้น

5. Plagiarism Checker:  http://www.plagiarismchecker.com/

เป็นระบบที่ใช้งานแบบออนไลน์ ไม่ต้องติดตั้ง และยังตรวจสอบได้ว่ามีผู้อื่นคัดลอกงานของเราหรือไม่

6. Plagiarismhunt: https://plagiarismhunt.com/

ใช้งานได้ฟรี เป็น platform ที่สามารถตรวจผลงานกับเครื่องมือตรวจสอบอื่น ๆ ได้ด้วย แต่เมื่อตรวจสอบแล้วระบบจะลบข้อมูลหลังจาก 24 ชั่วโมง ไม่ออกรายงานให้และไม่สามารถเก็บไฟล์รายงานไว้ได้

7. Plagium: https://www.plagium.com/en/plagiarismchecker

ใช้ตรวจงานขนาด 1,000 ตัวอักษรเท่านั้น และบันทึกข้อมูลโดยการ copy / paste หรือพิมพ์ลงไปเท่านั้น

8. Plagramme : https://www.plagramme.com/

ใช้งานฟรี และแสดงรายงาน similarity index เป็นร้อยละของการซ้ำซ้อน พร้อมกับ link ของเอกสารต้นฉบับ

9. PlagScan : https://www.plagscan.com/register

ใช้งานฟรีกับเอกสารขนาด 2,000 คำ และใช้ระบบแบบออนไลน์ ไม่ต้องติดตั้ง การรายงานผลแสดงผล similarity index และ link ของเอกสารต้นฉบับ

10. PlagTracker: https://www.plagtracker.com/upload.html

ใช้งานฟรี ตรวจเอกสารโดยการ copy / paste ส่วนรายงานผล similarity index จะแจ้งว่าส่วนใดที่ต้องทำการอ้างอิงพร้อมทั้งมีรายการเอกสารที่สามารถใช้อ้างอิงแนะนำด้วย

11. Quetext: https://www.quetext.com/

ใช้งานได้ฟรีในการตรวจเอกสารขนาด 2,500 คำ หรือ 5 หน้า ส่งเอกสารโดยการ copy / paste เท่านั้น รายงาน similarity index จะแสดง hilight เป็นสีแดงและแจ้งเอกสารต้นฉบับ

12. Search Engine Reports :  https://searchenginereports.net/plagiarism-checker

สามารถใช้งานได้ไม่จำกัด แต่รายงานไม่แสดงเอกสารต้นฉบับ และไม่ hilight เนื้อหาส่วนที่ซ้ำซ้อน เหมาะสำหรับการตรวจสอบการเขียนที่สั้น ๆ เป็นประโยค เพราะตรวจสอบโดยการ match กับข้อมูลบน Google

13. SmallSEOtools : https://smallseotools.com/plagiarism-checker/

ไม่จำกัดจำนวนการใช้งาน เหมาะสำหรับเอกสารขนาดเล็ก เพราะจำกัดจำนวนคำเพียง  1,000 คำ

เว็บไซต์สำหรับการตรวจสอบการโจรกรรมทางวิชาการที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเว็บไซต์อื่น ๆ อีกมาก ส่วนมากแล้วจะมีทั้ง ส่วนที่ใช้ได้ฟรี และเสียค่าสมาชิกเพื่อใช้ function ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนั้น จากการหาข้อมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ ยังมีเรื่องประเด็นความแม่นยำในการตรวจสอบว่า มีการให้คะแนนไว้แตกต่างกัน ดังนั้น ขอแนะนำว่าควรมีการตรวจสอบกับระบบหลาย ๆ ระบบ เพื่อเปรียบเทียบรายงานผลที่ได้

ส่วนการตรวจสอบผลงานที่เป็นภาษาไทย สามารถใช้ระบบอักขราวิสุทธิ์ (https://www.akarawisut.com/) ตรวจสอบได้ค่ะ

 

อ้างอิง

กุลธิดา ท้วมสุข.  (2560). Plagiarism. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564 จาก https://vet.kku.ac.th/yaopdf/4Sep2017.pdf

ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ และสันติพงษ์ ไทยประยูร.  (ม.ป.ป.).  การละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานวิชาการและการใช้งานโปรแกรม CopyCatch ในการตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564 จาก copycatch.in.th/20170901-copycatch-presentation.pdf

https://plagiarism.tech/best-plagiarism-checker-for-research-papers/

https://www.scribbr.com/plagiarism/free-plagiarism-checker-comparison/

https://elearningindustry.com/top-10-free-plagiarism-detection-tools-for-teachers