ครั้งแรกกับการบริจาคโลหิต

ดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับคุณท็อป ทำงานที่โรงพยาบาลนครปฐม คุณท็อปเคยบริจาคเลือดมาแล้วทั้งหมด 119 ครั้ง จากการได้พูดคุยทำให้ดิฉันเกิดแรงบันดาลใจคิดที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ต้องการใช้เลือด และเป็นการทำบุญอีกทางหนึ่งด้วย ดิฉันไม่รอช้าตัดสินใจไปบริจาคเลือด ณ ธนาคารเลือด อาคารรวมเมฆ ชั้น 3 โรงพยาบาลนครปฐม ก่อนบริจาคต้องกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนลงในใบสมัครผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีให้เลือก 2 ช่อง ช่องที่ 1 ผู้บริจาคครั้งแรก และช่องที่ 2 ผู้บริจาคโลหิตประจำ ตอบแบบสอบถาม จะมีเจ้าหน้าที่มาวัดความดัน และเจาะเลือดจากปลายนิ้วไปเพียงเล็กน้อยเพื่อนำไปทดสอบ

เจ้าหน้าที่แจ้งดิฉันว่าเลือดดิฉันกรุ๊ป B พร้อมบริจาคเลือดได้ เจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะเลือดที่เส้นโลหิตดำ บริเวณข้อพับแขนซ้ายของดิฉัน แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) จำนวน 1 ถุง ซึ่งเลือดที่บริจาคนั้น ประมาณ 350-450 มิลลิลิตร (ชีชี) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค  การบริจาคโลหิตช่วยให้ร่างกายได้ผลิตเม็ดโลหิตใหม่ ซึ่งแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่า ลำเลียงออกซิเจนได้เต็มที่ เม็ดโลหิตขาวทำลายสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น และเกล็ดโลหิตจะช่วยซ่อมแซมรอยฉีกขาดในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระตุ้นการทำงานของไขกระดูก เปรียบเหมือนการออกกำลังกายให้กับไขกระดูกได้ทำงานดีขึ้น ผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกจะได้รับเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต และบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิต โดยบัตรแยกตามสีดังนี้

สีเหลือง คือบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิต หมู่ A
สีชมพู คือบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิต หมู่ B
สีฟ้า คือบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิต หมู่ O
สีขาว คือบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิต หมู่ AB

ผู้บริจาคควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคเลือด สามารถบริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน หรือ 4 ครั้งต่อปี โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายเราได้รับอันตรายใด ๆ ทั้งชีวิตของคนเราสามารถบริจาคเลือดได้มากถึง 212 ครั้ง กรุ๊ปเลือดที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กรุ๊ป AB ตามมาด้วยกรุ๊ป A, B และ O ตามสัดส่วนของประชากรในประเทศ ผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้จะต้องมีอายุ 17-60 ปี หากอายุต่ำกว่า 16 ปี ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ใครที่บริจาคครั้งแรกต้องอายุไม่เกิน 55 ปี ต้องมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป และสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ การบริจาคเลือดในครั้งหนึ่ง ๆ ผู้บริจาคจะเสียเลือดเพียงบางส่วนจากที่ร่างกายสำรองไว้เท่านั้น ร่างกายมีเลือดสำรองไว้ประมาณ 4 ส่วนของเลือดที่มีอยู่ในร่างกาย 12 ส่วน ในแต่ละครั้งบริจาคเพียง 1 ส่วน ของเลือดที่สำรองไว้เท่านั้น หลังบริจาคเลือดเสร็จแล้วนั่งพักประมาณ 10-15 นาที เจ้าหน้าที่เตรียมขมม อาหารว่างและมียาธาตุเหล็ก 30 เม็ด ไว้ให้สำหรับผู้บริจาคเลือด

หลายคนมีคุณสมบัติครบ ขาดแค่อย่างเดียว คือ “ความกล้า” ความกล้าก็มีความสำคัญอยู่ในลำดับต้น ๆ ทีเดียว ถ้าขาดความกล้าแล้วแค่เห็นเข็มกับเลือดก็จะถอยหนี มีความกลัวกันไปก่อนว่าจะต้องเจ็บแน่นอน ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะเจ็บ แต่เจ็บไม่มากเจ็บเพียงแค่ชั่วอึดใจเท่านั้น ถ้าแลกกับการได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นการให้ชีวิตที่มีคุณค่ามหาศาล ถือว่าคุ้ม และเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง อีกทั้งยังรู้สึกสุขใจ เพราะได้ช่วยชีวิตผู้อื่นด้วย “การบริจาคเลือด” จะให้อะไรมากกว่าที่เราคิด สำหรับดิฉันตั้งใจว่าจะไปบริจาคอีกแน่นอน

เข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตและนามบัตรสำหรับบริจาคครั้งต่อไป

 

ถ่ายรูปคู่กับคุณท็อป

ธนาคารเลือด โรงพยาบาลนครปฐม เปิดรับบริจาคโลหิต วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-15.00 น.
วันเสาร์ เวลา 8.30-12.00 น. อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 8.30-15.00 น.
โทรศัพท์ 034-254150-4 ต่อ 1030 ในเวลาราชการเท่านั้น
สถานที่รับบริจาคโลหิต
http://icare.kapook.com/blood.php?ac=detail&s_id=29&id=93

ขอขอบคุณ คุณท็อป
ข้อมูล:
ข้อมูลเพิ่มเติม:
ทัศยานี จันทนยิ่งยง. (2529). “การบริจาคเลือด.” หมอชาวบ้าน 8, 88 (สิงหาคม): 20-22
วสุธรา ทับทิมแก้ว. (2548). “เลือดในกาย ให้ชีวิต.” ใกล้หมอ 29, 2 (กุมภาพันธ์): 42-44
บริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์. เข้าถึงเมื่อ 14 กันยายน 2562 เข้าถึงได้จาก  https://web.ku.ac.th/saranaroo/chap5a.htm
รู้หรือไม่ว่า การบริจาคเลือดมีประโยชน์มากมาย!. เข้าถึงเมื่อ 14 กันยายน 2562
เข้าถึงได้จาก  https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/483934