พุทธมณฑล…ข้อมูลเบื้องหลังการสร้าง


ประติมากรรมต้นแบบ พระศรีศากยทศพลญาณฯ
ผลงานชิ้นสำคัญของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
เก็บรักษา ณ หอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร
ภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/nationalmuseumbangkok
หน้าที่พบ http://gestyy.com/et16Sr

หากจะกล่าวถึงสถานที่สำคัญทางศาสนาของประเทศไทย นอกจากวัดวาอารามแล้ว ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเพียงแค่เอ่ยชื่อก็ชัดแจ้งในความสำคัญอันเนื่องเกี่ยวแล้ว สถานที่แห่งนั้น คือ
พุทธมณฑล อันแปลความได้ว่า เป็นเขตแดนที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ ซึ่งหากเรามองตามชื่อและสิ่งที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบันก็อาจจะเชื่อได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าการก่อเกิดของพุทธมณฑลนั้นแรกเริ่มเดิมทีเป็นกลยุทธ์ในการใช้พุทธศาสนานำการทหารและการเมือง

 

มูลเหตุการสร้างพุทธมณฑลมีความเป็นมาอย่างไร

ความจากหนังสือเรื่องจดหมายเหตุการสร้างพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ภาคที่ 1  เรื่อง พุทธมณฑล
หน้า 7- 33  ได้ให้ข้อมูล กล่าวโดยสรุปได้ว่า ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
มีการสร้างฐานทัพที่จังหวัดเพชรบูรณ์และเขตปลอดทหารในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นนโยบายรีบด่วนและสำคัญ เพื่อการรบขับไล่ญี่ปุ่นตามแผนยุทธการที่ 7 ขณะเดียวกันก็ได้ออกประกาศเป็น ระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑลขึ้น เพื่อเป็นการปกปิดแผนการสร้างฐานทัพและเขตปลอดทหาร

 

รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดทั้ง 2 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 และวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 โดยลำดับ แต่สภาฯ ลงมติไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ส่งผลให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องลาออก

 

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑล ที่รัฐบาลเสนอต่อสภาฯ มีเหตุผล คือ เพื่อดำเนินการจัดสร้างนครศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา ให้เป็นแหล่งกลางที่ชุมนุมแห่งการศึกษา เสาะค้นพระพุทธศาสนา และปฏิบัติศาสนธรรม เป็นที่รวมประดิษฐานแห่งศาสนวัตถุทั่วราชอาณาจักร และเป็นที่ตั้งแห่งการบริหารพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ ทั้งเป็นนิวาสมณฑลของพุทธมามกชน ซึ่งมีโครงการสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นอันดับแรก สร้างพิพิธภัณฑ์สงฆ์เป็นอันดับ 2 และสร้างนิวาสถานเป็นอันดับ 3  แต่เบื้องหลังที่การสร้างพุทธมณฑลนั้น มีบันทึกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อง การต่อสู้ขัดขวางรอนกำลังญี่ปุ่นและการเตรียมรบญี่ปุ่นขั้นสุดท้าย ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2488 กล่าวว่า

 

“ญี่ปุ่นได้คิดจะเอาชนะเราในเรื่องนี้ โดยจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่หลังแนวรบของกองทัพที่ 2  คือ ระหว่างลพบุรีกับสระบุรี ผมจึงได้เอาพระเข้าช่วยโดยจัดการประกาศสร้างพุทธบุรีมณฑลในบริเวณนี้ทันที”

 

ความดังกล่าวทำให้เราทราบว่าดำริอันแท้จริง ที่จะจัดตั้งพุทธมณฑลในประเทศไทยขึ้นครั้งแรกนั้น เกิดตั้งแต่ พ.ศ.2487 และมีชื่อว่า พุทธบุรีมณฑล

 

พุทธมณฑลอันเนื่องด้วยงานฉลอง  25 พุทธศตวรรษ

ด้วยเจตนารมณ์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ แม้โครงการพุทธบุรีมณฑลจะเกิดด้วยเหตุผลภาวะทางการเมืองเป็นสำคัญ แต่เมื่อใกล้ปีพุทธศักราช 2500 อันเป็นปีที่พุทธศาสนาดำรงมาได้ 2500 ปี หรือ 25 พุทธศตวรรษ ประเทศที่นับถือพุทธศาสนาทั่วโลกต่างก็จัดงานมงคลเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ ประเทศไทยซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง จึงได้รื้อฟื้นโครงการดังกล่าว ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานฉลอง  25 พุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนาขึ้น เมื่อเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2497  มีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการจัดเตรียมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

 

งานฉลองดังกล่าวกำหนดทั้งในส่วนของประชาชนและรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12-18 พฤษภาคม พ.ศ 2500 มีการจัดสร้างโรงพิธีในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ขึ้น ณ ท้องสนามหลวง และให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยกำหนดให้มีการสวดมนต์ รักษาศีล ทำบุญทำทาน และประกอบการกุศลต่างๆ ในส่วนของรัฐบาลได้บูรณะวัดและปูชนียสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา การอภัยปลดปล่อยผู้ต้องโทษ การนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดบางประเภท ตลอดจนจัดที่ให้เป็นที่อภัยทานแก่สัตว์ นอกจากนี้ได้เผยแพร่การจัดงานฉลอง โดยเชิญผู้แทนรัฐบาลของประเทศที่นับถือพุทธศาสนา และผู้แทนองค์การทางพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ มาร่วมพิธีฉลอง ผู้แทนของต่างประเทศที่มาร่วม อาทิ นายอูนุ นายกรัฐมนตรีประเทศพม่าในขณะนั้น พระสงฆ์จากประเทศต่างๆ

 

พุทธมณฑล…พุทธานุสรณีย์ ปูชนียสถาน

นอกจากการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษแล้ว คณะกรรมการยังดำริให้มีการสร้างปูชนียสถานให้เป็นพุทธานุสรณีย์ไว้ในพุทธศาสนาสักแห่งให้ยิ่งใหญ่กว่าปูชนียสถานใดๆ ที่เคยมีมาก่อน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงศรัทธามหากุศลของรัฐบาลและประชาชนในสมัยครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ รัฐบาลเห็นชอบจึงได้มีมติ ให้สร้างเป็นพุทธมณฑลมีพื้นที่  2 2500 ไร่ ในบริเวณกลางแจ้ง โดยซื้อที่ดินบริเวณตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี  และตำบลบางกระทึก อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐม เป็นสถานที่ก่อสร้างพุทธมณฑล

 

ภายในบริเวณพุทธมณฑลที่จะสร้างขึ้นในครั้งนั้น มีเอกสารคำแถลงของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานในครั้งนั้น กล่าวในเรื่องเรื่อง ความมุ่งหมายในการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ว่า จะสร้างเป็นพุทธมณฑลในบริเวณกลางแจ้ง  มีบริเวณ  2500  ไร่ ภายในบริเวณจะสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางลีลา มีภาพแสดงโดยแกะสลักและจำหลักแสดงถึงพุทธประวัติ  พุทธบัญญัติ พุทธานุ ศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งแสดงประวัติศาสตร์ของชาติไทย มีพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา มีสระใหญ่โดยรอบ ประดับด้วยไม้ที่สำคัญทางพุทธศาสนา ให้เป็นสถานที่ร่มรื่นเพื่อให้สัตว์จตุบาท ทวิบาทได้อยู่โดยปลอดภัย พื้นที่บริเวณรอบนอกพุทธมณฑลจัดปรับปรุงให้มีผังเมืองที่เหมาะสม สร้างถนนให้สะดวกแก่ผู้ไปนมัสการ และมีทางน้ำเข้าถึงได้โดยสะดวก สำหรับพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางลีลา ซึ่งจะประดิษฐานเป็นพระประธานพุทธมณฑลนั้น กำหนดขนาดไว้เดิมสูง 2500 นิ้ว

 

ภายหลังจากงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ  การจัดสร้างพุทธมณฑลยังคงค้างอยู่ ต่อมาสมัยนายกรัฐมนตรีพจน์ สารสิน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑล ดำเนินการต่อจากคณะกรรมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑล ประกอบด้วยคณะกรรมการ 6 คณะ คือ คณะกรรมการวางผังพุทธมณฑล คณะกรรมการประวัติศาสตร์ชาติไทย คณะกรรมการออกแบบพระพุทธรูป พุทธประวัติ  พุทธบัญญัติ คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา คณะกรรมการดำเนินการและประสานงานจัดสร้างพุทธมณฑล คณะกรรมการจำหน่ายพระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

 

การดำเนินงานจัดสร้างพุทธมณฑล แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงพุทธศักราช 2500 – 2520 และช่วงพุทธศักราช 2521 – 2525 การดำเนินงานจัดสร้างพุทธมณฑลในระยะแรกมีปัญหาด้านงบประมาณ คณะกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑลมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลายครั้ง จนกระทั่งเกิดวิกฤตการเมืองภายในประเทศ คือ เหตุการณ์วันมหาวิปโยค ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ 2516 คณะกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑลจึงหมดสภาพไปและมิได้มีการจัดตั้งขึ้นอีก ต่อมาวันที่ 22 เมษายน พ. ศ. 2517 กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างพุทธมณฑลขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะกรรมการ

 

ในปี 2517 นี้ กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ใช้ที่ดินบริเวณพุทธมณฑลทั้งหมดดำเนินงานตามโครงการพุทธอุทยานและหอสมุดกลางเพื่อการศึกษาและค้นคว้าทางพุทธศาสนาระหว่างชาติของมูลนิธิ ต่อมาคณะรัฐมนตรีสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนพ.ศ 2518 อนุมัติให้ความสนับสนุนแลความอุปการะ ตลอดจนให้หน่วยราชการต่างๆ ให้ความร่วมมือแก่โครงการ ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคมปีเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการลุล่วงไปในเวลาอันควร ไม่ลดพื้นที่ดำเนินการลงเหลือ  500 ไร่ และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดสร้างพุทธมณฑลต่อไป ให้มูลนิธิภูมิพโลภิกขุดำเนินการในส่วนสร้างหอสมุดกลางและพุทธอุทยาน รวมทั้งการปลูกต้นไม้นานาชนิดโดยทางราชการให้ความสนับสนุนและอนุเคราะห์

 

ต่อมา ปีพุทธศักราช 2521 สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลต้องให้ความสนับสนุนและเร่งรัดโครงการก่อสร้างพุทธมณฑลให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ 2521 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โอนงานการสร้างพุทธมณฑลให้กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการต่อไป และอนุมัติให้มูลนิธิภูมิพโลภิกขุส่งเสริมการสร้างพุทธมณฑลได้ตามที่ประสงค์ ในส่วนที่จะศรัทธาตามแบบแปลนแผนผังที่คณะกรรมการจัดสร้างเห็นสมควร

 

พระประธานพุทธมณฑล

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการออกแบบพระพุทธรูป พุทธประวัติ พุทธบัญญัติ  ในการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ณ ห้องประชุม กรมศิลปากร โดย ได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ว่า

 

“พระพุทธรูปนั้น ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้าจริง เป็นแต่เพียงสิ่งแทนอันหมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เท่านั้น ถ้าพูดในด้านความรู้สึกแห่งจิตใจแล้ว ควรเป็นแบบ idealistic แต่อย่างไรก็ตามขอให้เป็นหน้าที่ของศิลปินผู้ออกแบบ จะเป็นแบบไหนก็ได้ ขอให้เกิดความรู้สึกก็แล้วกัน”

และที่ประชุมได้มีมติให้สร้างพระพุทธรูปแบบ idealistic อันเป็นแบบของชาวตะวันออก

 

ต่อมาเมื่อคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑล นำร่างเสนอของศาสตราจารย์ศิลป์ มาศึกษาและคำนวณตัวเลขต่างๆ เพื่อความเหมาะสม ได้เปลี่ยนความสูงขององค์พระจาก 2,500  นิ้ว มาเป็น  2500 กระเบียด ราวๆ 15.785 เมตร  และเปลี่ยนจากการใช้ทองแดง หรือ ประดับกระจกหุ้มห่อคอนกรีตแกนเหล็ก ซึ่งเป็นมติของคณะกรรมการออกแบบพระพุทธรูป ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ศิลป์ ที่ว่า ควรหุ้มห่อคอนกรีตแกนเหล็กด้วยกระเบื้องเคลือบเล็กๆ เหมือนอย่างองค์พระปฐมเจดีย์ หรือหุ้มห่อด้วยอิฐกระจกแวววาวสีทอง  เหมือนอย่างพระศรีรัตนเจดีย์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาเป็นการใช้โลหะสำริดหล่อทั้งองค์พระ รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบแท่นประดิษฐานใหม่ด้วย

 

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล นับเป็นรูปประติมากรรมสำริด พระพุทธรูปปางลีลา ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างกันมาในประเทศไทย และผลงานการออกแบบองค์พระประธานนี้ นับเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในภูมิภาคตะวันตก ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ได้สร้างไว้เพียงครึ่งหนึ่ง พุทธลักษณะของพระประธานพุทธมณฑล ที่อาจารย์ศิลป์ ออกแบบและปั้นต้นทุนต้นแบบไว้ เป็นพุทธรูปปางลีลา มีพระเกตุมาลาเป็นเปลวสูงเหนือพระเศียร ทรงห่มจีวรเฉวียงบ่า ผาดสังฆาฏิ อยู่ในท่าย่างพระบาท มีบัวรองพระบาท

 

ท่านออกแบบไว้ 4 แบบ และคณะกรรมการได้คัดเลือกไว้แบบหนึ่ง กับมอบหมายให้ท่านปั้นหุ่นแบบพระพุทธรูปสูง 2.14 เมตร แล้วจึงปั้นขยายองค์พระอยากดูต้นแบบ สูง 3.50 เมตร เมตรอีก 1 องค์ เพื่อประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่  12 – 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500  เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา และในงานดังกล่าวได้มีการแห่พระพุทธรูปโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ด้ว

 

พระพุทธรูปองค์แรกที่เป็นต้นแบบนั้น ได้นำไปประดิษฐานที่โรงพิธี ส่วนองค์ที่ 2 ได้นำไปประดิษฐาน ณ พุทธมณฑลจำลอง ที่สร้างไว้ด้านเหนือของท้องสนามหลวง หลังจากนั้นได้นำพระพุทธรูปองค์ต้นแบบ มาเก็บรักษาที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ส่วนองค์ที่พุทธมณฑลจำลอง คงประดิษฐานไว้กระทั่งเมื่อรื้อถอนพุทธมณฑลจำลอง ได้ชำรุดคงเหลือแต่พระเศียร นำมาเก็บรักษาที่กองหัตถศิลป์ เช่นกัน

 

งานปั้นหล่อองค์พระพุทธรูปที่ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษ

งานปั้นหล่อองค์พระพุทธรูปนั้น ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ไปทรงประกอบพระรัฐพิธีก่อฤกษ์ ณ ตำแหน่งฐานพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล เมื่อวันที่  29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 แล้ว ได้หยุดชะงักไปด้วยอุปสรรคบางประการ เป็นเวลานานร่วม 24 ปี

 

จนกระทั่ง พ.ศ 2521 เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รื้อฟื้นจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสขึ้นใหม่ โดยคณะกรรมการได้พิจารณาปรับโครงสร้างพระพุทธรูปที่กำหนดไว้เดิม 2,500 นิ้ว ลดขนาดลงเหลือความสูง 2,500 กระเบียด มีน้ำหนักประมาณ 20 ตัน

 

สำหรับนามพระประธานพุทธมณฑลนั้น คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลฝ่ายฆราวาส ได้มีหนังสือที่ ศธ. 0405/10866 ลงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ขอพระราชทานนามพระประธาน ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จทันการจัดงานเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้มีขึ้นระหว่าง วันที่ 4 – 21 เมษายน พ.ศ. 2525  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระประธานว่า พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

 

ทั้งนี้ องค์พระพุทธรูปนั้นประกอบด้วยชิ้นโลหะส่วนต่างๆ ซึ่งต้องเชื่อมประกอบขึ้นเป็นองค์พระ ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2525 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาสน์ วาสโน) ได้เสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเชื่อมพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการประกอบองค์ จากนั้นจึงทำการรมดำองค์พระพุทธรูปโลหะสำริด แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2525  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี พระยศในขณะนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีสมโภชพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525

 

อ้างอิง
ทรงสรรค์ นิลกำแหง, พรรณี สุนทรโยธี และสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม.  จดหมายเหตุการสร้างพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.