วันนี้ฤกษ์งามยามเย็น หลังจากเสร็จธุระและขับรถกลับบ้าน มีโอกาสได้แวะเข้ามาไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดห้วยตะโก หลังจากที่เคยหันมองอยู่หลายครั้งเวลาขับผ่านวัดนี้ จุดเด่นอยู่ที่สถาปัตยกรรมของวัดนี้มีความสวยงาม ตัวโบถส์เหมือนปราสาทหินตามเมืองโบราณ ทันทีที่เดินเข้าวัดเรารู้สึกเย็นสบายอย่างบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งเรามาช่วงเวลาตอนเย็น พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน ไม่มีผู้คนแล้ว จึงได้เดินชื่นชมความสวยงามของวัดได้อย่างสบายใจ และได้เก็บภาพมุมต่างๆ ของวัดห้วยตะโก มาฝากสำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปทำบุญในวันหยุด
วัดห้วยตะโก เป็นวัดโบราณเก่าแก่ ที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก บริเวณวัดห้วยตะโกสันนิษฐานว่าเคยเป็นวัดเก่าแก่มาก่อน ต่อมาพระครูสังฆรักษ์ไพบูลย์ กตปุญโญ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดห้วยตะโก ท่านมีความสนใจศิลปะเขมร จึงมีแนวคิดที่จะผสมผสานรูปแบบศิลปะดังกล่าวเข้ามาไว้ในวัด โดยเฉพาะการสร้างพระอุโบสถ ท่านได้แนวคิดมาจากบรรณาลัยของปราสาทหินพนมรุ้ง นอกจากนี้ท่านเจ้าอาวาสยังส่งเสริมให้วัดห้วยตะโกเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน มีมุมต่างๆ ที่ให้ความรู้ เช่น เตาเผาสร้างอาชีพ มีมุมที่จัดเป็นสถานที่ผลิตอิฐเพื่อนำมาก่อสร้างโบสถ์องค์ปัจจุบัน มุมวาดลายไทย เป็นต้น
(ข้อมูลจาก : https://www.thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/3386)
วัดห้วยตะโก ตั้งอยู่ที่ตำบลพะเนียด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และมีวิหารหลวงพ่อหิน เป็นวิหารที่เก่าแก่ชาวตำบลพะเนียดให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ตำบลพะเนียดในอดีตเรียกกันว่า บ้านเพนียด บริเวณนี้เป็นโรงฝึกหัดช้างป่าจากที่เคยมีนิสัยดุร้าย จะถูกฝึกให้กลายเป็นช้างที่เชื่องและพร้อมนำมาใช้งานได้ เมื่อครั้งสุนทรภู่เดินทางมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ได้แต่งนิราศพระประธมขึ้นเพื่อบรรยายการเดินทาง เมื่อผ่านมายังบริเวณบ้านเพนียดได้จอดเรือแวะพักผ่อนและได้กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ไว้ในนิราศพระประธมว่า…
ถึงถิ่นฐานบ้านเพนียดเป็นเนินสูง ที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง
เหตุเพราะนางช้างต่อไปล่อลวง พลายทั้งปวงจึงต้องถูกมาผูกโรง
โอ้อกเพื่อนเหมือนหนึ่งชายที่หมายมาด แสนสวาทหวังงามมาตามโขลง
ต้องติดบ่วงห่วงรักชักชะโลง เสียดายโป่งป่าเขาคิดเศร้าใจ
(ข้อมูลจาก : ป้ายในวัดห้วยตะโก “แหล่งท่องเที่ยวตามรอยนิราศพระประธม (นนทบุรี-นครปฐม) สถานีที่ 9”)