วัดใหม่สุปดิษฐาราม

          วัดใหม่สุปดิษฐาราม

          วัดใหม่สุปดิษฐาราม เป็นชื่อเรียกทางราชการ ชาวบ้านทั่วไปเรียกวัดใหม่ ส่วนชื่อเดิมคือวัดใหม่ริมจวน เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่ง ตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในขณะนั้น (พุทธศักราช ๒๔๓๘)

          ทรงจัดการปกครองประเทศเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลโดยพระยามหาเทพ (บุตร บุญยรัตพันธ์) ดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงมณฑลนครชัยศรีเป็นคนแรก ซึ่งในมณฑลนครชัยศรีนั้นประกอบด้วย

          ๑. เมืองสุพรรณ

          ๒. เมืองสมุทรสาคร

          ๓. เมืองนครชัยศรี

          ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเสนีพิทักษ์ (ชม สุนทราชุน) ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร มาเป็นผู้ว่าราชการเมือง นครชัยศรี หลวงเสนีพิทักษ์ผู้นี้ ได้ทำความเจริญต่างๆ ให้แก่เมืองนครชัยศรีเป็นจำนวนมาก ทางด้านศาสนาได้สร้างวัดขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๓๙ โดยติดอยู่กับที่ทำการอำเภอเมืองนครชัยศรีทางด้านทิศเหนือ โดยวัดมีชื่อเรียกในขณะนั้นว่า “วัดใหม่ริมจวน” หลังจากนั้น พระองค์เจ้าสุปดิษวรฤทธิราช มหามกุฏบุรุษรัตนราชวโรรส พระราชโอรสองค์ ที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงสร้าง พระอุโบสถ พระวิหาร สถูป และมณฑลพระอีกคู่หนึ่งขึ้น ณ วัดแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า “วัดใหม่สุปดิษฐาราม” มาจนถึงปัจจุบันนี้

          ในเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๔๑ หลวงเสนีพิทักษ์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุนทรพิชัยสงคราม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง สำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรีแทนมหาเทพซึ่งป่วย พระยาสุนทรพิชัยสงครามได้ดำรงตำแน่งมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีวิชัยชนินทร จนกระทั่งในเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๔๔ เมืองนครชัยศรีได้ยายไปตั้งที่จังหวัดนครปฐม

          หลักฐานการตั้งวัดใหม่สุปดิษฐารามได้รับรางวัลพระราชทานวิสุคามสีมา ประมาณพุทธศักราช ๒๔๙๕ เนื้อที่กว้าง ๘ เมตร ได้รับประกอบพิธีผูกพัทธสีมาในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕

          ข้อมูลทั่วไปของวัด

          รายงามเจ้าอาวาสวัดใหม่สุปดิษฐาราม

          ๑. พระอธิการภู่ ( ท่านเจ้าภู่ )             พ.ศ. ๒๔๓๙ – พ.ศ. ๒๔๔๗

          ๒. พระครูคต                                       พ.ศ. ๒๔๔๘ – พ.ศ. ๒๔๖๒

          ๓. พระใบฎีกาแย้ม                              พ.ศ. ๒๔๖๓ – พ.ศ. ๒๔๖๘

          ๔. พระอธิการเป้า                                พ.ศ. ๒๔๖๘ – พ.ศ. ๒๔๘๒

          ๕. พระครูพุทธิศิริชัย ( ผูก )               พ.ศ. ๒๔๘๓ – พ.ศ. ๒๕๒๒

          ๖. พระอธิการเงิน                                พ.ศ. ๒๕๒๓ – พ.ศ. ๒๕๒๓

          ๗. พระอธิการสุริยะ สุริโย                   พ.ศ. ๒๕๒๕ – พ.ศ. ๒๕๓๘

          ๘. พระมหาไสว วรธมฺโม                     พ.ศ. ๒๕๓๘ – พ.ศ. ๒๕๔๔

          ๙. พระครูปลัดสุวิชัย อภิชโย              พ.ศ. ๒๕๔๔ – พ.ศ. ๒๕๔๘

          ๑๐. พระอธิการสมชาย  วรมุนี             พ.ศ. ๒๕๔๘ – พ.ศ. ปัจจุบัน

ที่มา https://sites.google.com/site/nkhrchaysri/bukhlakr