23 ตุลาคม รำลึกถึงพระปิยมหาราช

พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 พระองค์เสด็จขึ้นเถลิงวัลย์ราชสมบัติราชาภิเษกสืบสันติวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2411 (ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, 2527, น. 21)

พี่พร้อมได้รวบรวมพระราชกรณียกิจจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ สรุปได้ 13 ด้าน ดังนี้

 

1. พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดิน

ทรงเปลี่ยนการปกครองแบบจตุสดมภ์ที่ประกอบด้วยกรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา ที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าไม่ครอบคลุมในการปฏิบัติราชการ โดยยกฐานะและปรับปรุงขึ้นเป็นกระทรวง 10 กระทรวง มีเสนาบดีเป็นเจ้ากระทรวง ทรงได้รับการยกย่องจากชาวต่างประเทศว่า ทรงเป็นนักปกครองและนักการทูตที่ยิ่งใหญ่ด้วยทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงของความเจริญในประเทศตะวันตกและทรงนำมาผสมผสานให้เข้ากับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี โดยทรงยึดถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ (เสกสรร สิทธาคม, 2557, น.49)

 

2. พระราชกรณียกิจด้านกาศึกษา

ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรเป็นแห่งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพ์ และตั้งหน่วยงานมีหน้าที่ดูแลการศึกษาของชาติขึ้นเป็นการเฉพาะคือ กรมศึกษาธิการ รวมทั้งจัดตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร พิพิธภัณฑสถานและโบราณคดีสโมสร (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 38) และได้ทรงจัดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับเยาวชนผู้เรียนดีไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะสาขาที่ไม่มีสอนในเมืองไทย หรือสาขาที่ขาดแคลน ทำให้การศึกษาเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น (สวัสดิ์ จงกล, 2553, น.15)

 

3. พระราชกรณียกิจด้านกาศาสนา

ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามทั่วราชอาณาจักร ทรงสร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ หนังสือพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์” (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 38)

 

4. พระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจและการคลัง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ของแผ่นดินรวมไว้แห่งเดียวกัน ต่อมายกฐานะเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และได้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรกในนามว่า สยามกัมมาจล ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 39)

 

5. พระราชกรณียกิจด้านสังคม

ทรงมีพระราชประสงค์เลิกทาสตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราษฎร์ และตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 กำหนดให้มีการเลิกทาสโดยเด็ดขาด (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 39)

 

6. พระราชกรณียกิจด้านสาธารณูปโภคและสาธารณสุข

ทรงพระราชทานทุนแรกในการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช และทรงให้ตั้งกรมพยาบาลขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2437 มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัด “โอสถสภา” เพื่อเป็นสถานจำหน่ายยาให้แก่ราษฎร์ (คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, 2525, น. 173)

 

7. พระราชกรณียกิจด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม

ทรงนำสถาปัตยกรรมตะวันตกมาผสมผสานกับศิลปะของไทย อาทิพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นศิลปะผสมผสานไทยกับยุโรป อเมริกา พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นศิลปะอิตาเลี่ยน วัดเบญจมบพิธ เป็นศิลปะไทยประยุกต์ (สวัสดิ์ จงกล, 2553, น.12-13)

 

8. พระราชกรณียกิจด้านประเพณี วัฒนธรรม

ทรงปรับปรุงการแต่งกายและทรงผม โดยเปลี่ยนจากทรงผมมหาดไทย เป็นตัดแบบฝรั่ง ข้าราชการสำนักนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนแทนผ้าสมปักแบบเก่า สวมเสื้อแพรสีตามกระทรวงแทนเสื้อกระบอกแบบเก่า ทรงออกแบบเสื้อราชปะแตน นุ่งกางเกง ฝ่ายหญิง ให้ไว้ผมยาวแทนผมปีกแบบเก่าทำให้การไว้ผมยาวแบบโบราณค่อย ๆ หมดไป  (สวัสดิ์ จงกล, 2553, น.13-14)

 

9. พระราชกรณียกิจด้านวรรณกรรม

ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองหลายเรื่อง เช่น ไกลบ้าน บทละครเรื่องเงาะป่า ลิลิตนิทราชาคริต อาบูหะชัน กาพย์เห่เรือ พระราชพิธีสิบสองเดือน รวมทั้งจดหมายเหตุรายวัน และพระราชวิจารณ์ต่าง ๆ (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 41) ; (เสกสรร สิทธาคม, 2557, น.49)

 

10. พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศ

ทรงมีพระราชดำริที่เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศ ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

11. พระราชกรณียกิจด้านการทหารและป้องกันประเทศ

มีการแก้ไขปรับปรุงรูปแบบกองทัพให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก ทรงจัดแบ่งหน่วยทหารในกองทัพเป็นทหารบกทหารเรือ ปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ ทรงตั้งกรมยุทธนาธิการ ต่อมายกฐานะขึ้นเป็น กระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่บังคับบัญชาทหารบกและทหารเรือ (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 42)

 

12. พระราชกรณียกิจด้านกฎหมายและการศาล

ทรงแก้ไขปรับปรุงด้านกฎหมาย แก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ไทยเสียเปรียบชาติตะวันตก ซึ่งงานปฏิรูปอย่างแรก คือ การจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม เพื่อปรับปรุงระเบียบการศาลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 เป็นฉบับแรก (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 43)

 

13. พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม

ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟหลวงสายแรกระหว่าง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา และให้มีการตัดถนนขึ้นอีกหลายสาย เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนเยาวราช ถนนอุณากรรณ ถนนสี่พระยา และถนนเดโช ฯลฯ (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 43) (อุดม เชยกีวงศ์, 2553, น. 248)

 

องค์การยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้เป็นบุคลสำคัญของโลก ประจำปี 2545-2546 ในสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคม และการสื่อสาร (“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช บุคคลสำคัญของโลก,” 2546, น. 29, 31)  พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณแก่ชาติบ้านเมืองนับเป็นเรื่องที่ชาวไทยทุกคนตระหนักเป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริรวมพระชนมพรรษาได้ 58 พรรษา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ปวงชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระปิยมหาราช” หอสมุดฯ มีหนังสือและบทความวารสารเกี่ยวกับพระองค์มากมาย

 

สนใจสืบค้นข้อมูลได้ที่  http://www.opac.lib.su.ac.th/คำค้น จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ เลือก SUBJECT

 

อ้างอิง

 

คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. (2525). พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับ ระชาชน. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ.

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, (2527). รำลึกถึงพระปิยมหาราช . วารสารวัฒนธรรมไทยม , 23(10), 21-26

บุญช่วย จินดาประพันธ์, (2530). พระปิยมหาราช พระราชบิดาแห่งวิชาชีพครู. มิตรครู, 29(20), 5-9

สวัสดิ์ จงกล. (2553). เราจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป. ใน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ปิยมหาราชานุสรณีย์ ร้อยปีสู่สวรรคาลัย (น.7-16). กรุงเทพฯ : สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.

เสกสรร สิทธาคม. (2557). รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์นักปกครองที่ยิ่งใหญ่.

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, 62(6), 48-49

อุดม เชยกีวงศ์. (2553). ย้อนรอยพระปิยมหาราช 100 ปี. กรุงเทพฯ : แสงดาว

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. ประวัติโรงพยาบาลศิริราช. สืบค้น 20 ตุลาคม 2563, จาก

https://si.mahidol.ac.th/sirirajhospital/history.php