การใช้งาน Youtube อย่างมีจริยธรรม

ปัจจุบันมี Youtuber เกิดขึ้นมากมาย สร้างงานเผยแพร่บน Youtube หลากหลายรูปแบบ หลากหลายเนื้อหา และมีการนำเอาข้อมูล วิดีโอ มาใช้ซ้ำมากมายเช่นกัน ซึ่งจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเกิดการใช้งานที่ไม่เป็นธรรม

การใช้งานที่เป็นธรรม หมายถึงข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ที่จะบอกว่า เราสามารถใช้งานที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้เงื่อนไขได้อย่างไรโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของไฟล์งานหรือข้อมูลนั้น  แต่ละประเทศจะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปในเรื่องการใช้ข้อมูลของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา งานประเภทวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ วิจัย การสอน หรือ รายงานข่าว จะสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดการละเมิด ศาลจะเป็นผู้วิเคราะห์ถึงความเป็นธรรม ดังนั้นผู้ที่จะใช้ไฟล์งานหรือข้อมูลซ้ำอย่างถูกกฎหมายจะต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะมีการอัพโหลดไฟล์วิดีโอที่สร้างขึ้น  เพราะเมื่อเกิดการฟ้องร้อง ศาลจะมีการประยุกต์ข้อกำหนด 4 ข้อนี้เข้ากับการพิจารณาในแต่ละกรณี

 

1. วัตถุประสงค์และลักษณะของการใช้งาน รวมถึงการใช้งานเชิงธุรกิจ หรือไม่แสวงหากำไร ไม่มีเจตนาทุจริต หรือเพื่อการศึกษา

2. ลักษณะของงานที่ได้รับการคุ้มครอง  การใช้เนื้อหาจากงานที่เป็นข้อเท็จจริงจะมีความเป็นธรรมมากกว่าการใช้เนื้อหาจากงานที่เจ้าของงานสร้างสรรค์เอง   หรืองานที่มีระดับการสร้างสรรค์ที่ใช้จินตนาการสูงก็มีความเสี่ยงมาก ไม่ควรนำไปใช้ซ้ำ

3. สัดส่วนของงานที่ลักลอกกับงานทั้งหมด หรือแม้นำไปใช้น้อยแต่เป็นส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญก็อาจเกิดความไม่เป็นธรรมได้

4. ผลกระทบทางการตลาดหรือมูลค่าของงานที่ได้รับการคุ้มครอง หรือกระทบต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าของผลงาน

 

การคุ้มครองจาก Youtube

เมื่อ Youtube ได้รับคำร้องให้นำเอาวิดีโอที่ได้รับแจ้งว่าละเมิดออกจาก Youtube   ผู้ถือสิทธิ์จะต้องแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • ข้อมูลของเจ้าของสิทธิ์
  • ข้อมูลการติดต่อ
  • รายละเอียดของผลงานที่เจ้าของสิทธิ์เชื่อว่ามีการละเมิด
  • ที่อยู่หรือ URL ของไฟล์งานที่ทำการละเมิด
  • และจะต้องมีประโยครับผิดชอบหากข้อความที่ส่งแจ้ง Youtube  ไม่เป็นความจริง ว่า

                    “ข้อมูลในหนังสือแจ้งนี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และยินดีรับโทษในกรณีที่แถลงข้อความอันเป็นเท็จว่า

                    ฉันเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการแทนเจ้าของสิทธิ์ที่ถูกละเมิดตามข้อกล่าวหา

                    นี้แต่เพียงผู้เดียว”

  • ปิดท้ายด้วยลายเซ็นของผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นลายเซ็นจริงหรือลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าของลิขสิทธิ์

Youtube จะพิจารณาก่อนที่ส่งประกาศเตือนไปยังผู้สร้างงานรายใหม่ที่ถูกร้องเรียน ให้นำไฟล์งานที่ละเมิดออก ผู้ถูกร้องเรียนสามารถโต้แย้งได้ โดยต้องมีข้อมูลเจ้าของเนื้อหา หรือหลักฐานการอนุญาตให้ใช้เนื้อหา หลักการใช้งานที่เป็นธรรม และความเป็นสาธารณะของเนื้อหา เป็นต้น

 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม   https://www.ipthailand.go.th/images/781/manual_copyright.pdf

https://support.google.com/youtube/answer/9783148?hl=en&ref_topic=2778546

https://support.google.com/youtube/answer/2807684?hl=th&ref_topic=9282678