วันใดที่ฉันไม่อยู่ ถ้านายรักฉัน คิดถึงฉัน นายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน
ประโยคที่เรียบง่ายแต่มีความหมาย อันชัดเจนลึกซึ้ง ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ซึ่งได้กล่าวแก่ศิษย์ ด้วยหวังให้ลูกศิษย์ทุกคน มีความตั้งใจทำงานที่ตนเองรับผิดชอบให้เต็มที่
เต็มกำลังความสามารถ ในขณะที่ท่านทำหน้าที่ “ครูฝรั่ง”
ผู้เห็นคุณค่าอันแท้จริงของงานศิลป์ และเล็งเห็นว่า
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น ด้วยว่าชีวิตนั้นจะสั้นยาวเพียงใด ศิลปะที่เราสร้างไว้
ก็จะยังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมตราบนานเท่านาน
อมตะวาจาของ “ครูฝรั่ง” นี้ เชื่อว่ายังคงกึกก้องอยู่ในความทรงจำ
ของลูกศิษย์ทุกคนอย่างไม่มีวันจางหาย
ด้วยคุณูปการที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
มีต่อวงการศิลปะในห้วงเวลาแห่งการก้าวย่างเข้าสู่ยุคศิลปะร่วมสมัยของไทย
นับแต่ท่านได้เดินทางเข้ามารับราชการและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย
ความทุ่มเท ความรัก ความรับผิดชอบ ต่องานราชการอย่างมหาศาล
แม้ว่าท่านจะอยู่ในฐานะของชาวต่างชาติ ซึ่งกาลต่อมามีเหตุให้ท่าน
ต้องโอนสัญชาติเป็นไทย และท่านเลือกที่จะใช้ชีวิต
อยู่ในประเทศไทยจนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2505
ด้วยสำนึกในคุณค่าและความหมายอันงดงาม
แห่งความดีที่ท่านดำรง ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ
กรมศิลปากร สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ร่วมกัน
จัดงานวันศิลป์ พีระศรี เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่าน ในวันที่ 15 กันยายน
อันเป็นวันที่ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของท่าน ในทุกปี
และนับได้ว่า วันศิลป์ พีระศรี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของวงการศิลปะไทย
ในฐานะที่ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็น บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย
ในการจัดงานแต่ละปีนั้น จะมีกิจกรรมต่างๆ เริ่มจากพิธีทางศาสนาในตอนเช้า
ด้วยการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 10 รูป ตามขนบของวัง เนื่องจากทั้งวิทยาเขตวังท่าพระ
และวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์เป็นวังเดิมในอดีต
จากนั้นจะมีการวางช่อดอกไม้เพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
กิจกรรมอื่นๆ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรม กิจกรรมการแสดง
กิจกรรมบันเทิง ทั้งในส่วนของศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน
ส่วนในภาคค่ำจะมีพิธีจุดเทียนรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
และร่วมร้องเพลง “Santa Lucia” ณ ลานอาจารย์ศิลป์
ทั้งนี้กิจกรรมสำคัญอันจะขาดมิได้ คือ การแสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี
ในหัวข้อต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ตามโอกาสในแต่ละปี
การแสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี นับเนื่องมาจนปัจจุบัน พ.ศ. 2563
นับเป็นครั้งที่ 25 โดยการแสดงปาฐกถานั้นเริ่มมีขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2538 คือ
- ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 1 ประจำปี 2538
เรื่อง บันทึก-สร้างสรรค์ โดย อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 2 ประจำปี 2539
เรื่อง ภูมิทัศน์บริเวณพระตำหนักและเขตพระราชฐานชั้นนอกในรัชกาลที่ 9
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประชิด วามานนท์ - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 3 ประจำปี 2541
เรื่อง ศิลปากร โดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2543 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 4 ประจำปี 2542
เรื่อง การจัดการทรัพยากรศิลปะและวัฒนธรรม
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. พิสิฐ เจริญวงศ์ - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 5 ประจำปี 2543
เรื่อง ปัญญาสร้างสรรค์จากเรือนพื้นถิ่น
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อรศิริ ปาณินท์ - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 6 ประจำปี 2544
เรื่อง จารึกกับประวัติศาสตร์ศิลป์
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 7 ประจำปี 2545
เรื่อง ความรักเยี่ยงบิดามีต่อบุตร
โดย อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2544 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 8 ประจำปี 2546
เรื่อง อาจารย์ศิลป์กับศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย
โดย ศาสตราจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2541 สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 9 ประจำปี 2547
เรื่อง เคลือบขี้เถ้า หลากรูปแบบ หลายอารมณ์
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เสริมศักดิ์ นาคบัว
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2558 สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบอุตสาหกรรม) - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 10 ประจำปี 2548
เรื่อง บ้านเมืองจะอับจนถ้าผู้คนร้างศิลปะ
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 11 ประจำปี 2549
เรื่อง มัณฑนศิลป์กับสังคม
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาโนช กงกะนันทน์ - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 12 ประจำปี 2550
เรื่อง ภูมิหลังเรื่องเล่า รากเหง้าชาวศิลปากร
โดย อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา
- ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 13 ประจำปี 2551
เรื่อง ศิลปะสมัยสุโขทัย : ก่อนสมัย-ในสมัย-เมื่อสิ้นสมัย
โดย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม
- ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 14 ประจำปี 2552
เรื่อง สาระสำคัญในงานจิตรกรรมไทยประเพณี
โดย อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ (ผู้เชี่ยวชาญศิลปะไทย) - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 15 ประจำปี 2553
เรื่อง การค้นคว้า คัดลอก จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา
สุโขทัย ศรีสัชชนาลัย และไตรภูมิพระร่วงเจ้า เป็นผู้ช่วยทุกอย่าง
ของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ กับหัวใจของศิลปะไทยสยาม
โดย อังคาร กัลยาณพงศ์ - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 16 ประจำปี 2554
เรื่อง การก่อเกิดเพลงไทยสากล : แนวคิดด้านดนตรีวิทยา
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พูนพิศ อมาตยกุล - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2555
เรื่องสถาปัตยกรรม คือ ศิลปกรรม (สถาปัตยกรรม คือ ศิลปกรรม)
โดย เมธา บุนนาค
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2554 สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 18 ประจำปี 2556
เรื่อง จากวันนั้น…ถึงวันนี้ ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ กำจร สุนพงษ์ศรี - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 19 ประจำปี 2557
เรื่อง วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2547 สาขาวรรณศิลป์
- ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 20 ประจำปี 2558
เรื่อง สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์ สู่กลิ่นสีแดนหิมวันต์
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 21 ประจำปี 2559
เรื่อง บนพื้นฐานการศึกษาที่ได้จากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัณฑิต ผดุงวิเชียร - ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 ประจำปี 2560
เรื่อง ศิลปะ ความสำเร็จในหนทางของศิลปินอาชีพ
โดย ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2554 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
- ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 23 ประจำปี 2561
เรื่อง รอมแพงวิจารณ์รอมแพง…ในภาพเงาของบุพเพสันนิวาส
โดย จันทร์ยวีร์ สมปรีดา นามปากกา “รอมแพง”
- ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 24 ประจำปี 2562
เรื่อง ฅนกับการรังสรรค์ศิลปกรรม อดีตของอนาคต อนาคตของอดีต
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2552 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
สำหรับในปี 2563 นี้ เป็นการจัดงานวันศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 25
ตรงกับวันอังคารที่ 15 กันยายน ซึ่งนับเป็นวันครบรอบ 128 ปีเกิด
ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยผู้ที่ได้รับเกียรติคัดเลือกให้เป็นองค์ปาฐกนั้น
คณะกรรมการปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปี 2563 ได้พิจารณาคัดเลือก
ศาสตราจารย์ลูกา วิเวียนิ เป็นผู้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ
เรื่อง La Figura Umana : Una Questione di Stile
หรือ The Human Figure : A Matter of Style
โดยแสดง ณ หอประชุม 3004 มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ
ซึ่งนับเป็นการคืนสู่เหย้าของการจัดงานวันศิลป์ พีระศรีเป็นปีแรก
หลังจากที่ต้องย้ายสถานที่จัดงานมาทางวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
ในครั้งที่ 21 พ.ศ. 2559 ถึงครั้งที่ 24 พ.ศ. 2562 รวม 4 ครั้ง
เนื่องจากทางวังท่าพระมีการปรับปรุงพื้นที่ภายในวิทยาเขต
ในส่วนประวัติของศาสตราจารย์ ลูกา วิเวียนิ นั้นพบข้อมูลของท่าน
จาก เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร
https://shorturl.asia/iFl61 จึงขอนำมาเสนอในที่นี้ด้วย
“ท่านเกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ที่เมืองฟลอเร็นซ์ สาธารณรัฐอิตาลี
เป็นหลานชายของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาชื่อ โรมาโน วิเวียนิ
(บุตรชายศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) และมารดาชื่อวิลมา มัลซินี
ศาสตราจารย์ลูก้า วิเวียนิ สำเร็จการศึกษาจากคณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยแห่งนครฟลอเรนซ์ สาธารณรัฐอิตาลี
ทำงานในสายงานโบราณคดี โดยรับผิดชอบงานภาคสนาม
ในโครงการโบราณคดีในแคว้นทอสคาน่า
เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งนครฟลอเรนซ์
และมหาวิทยาลัยแห่งเมืองเซียน่า
และเขายังมีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในสำนักพิมพ์และสถาบันเอกชน
ถึงกระนั้น ศาสตราจารย์ลูกา วิเวียนิ ได้ถ่ายเทความสนใจ
ข้ามมายังศาสตร์ทางด้านศิลปะทัศนศิลป์
ที่เชื่อมโยงจากประวัติศาสตร์ศิลปะในอดีตจนถึงศิลปะร่วมสมัย
จากความหลงใหลนี้ทำให้ท่านเข้าศึกษาต่อและจบการศึกษา
จากภาควิชาประติมากรรม สถาบันศิลปวิจิตรแห่งนครฟลอเรนซ์”
นครฟลอเรนซ์ แห่งอิตาลีนั้น เป็นเมืองที่ทั่วโลกต่างรู้จักกันดีว่า
เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยความงดงามเรื่องของ “ศิลปะ”
และเป็นบ้านเกิดของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก ทั้งจิตรกร ประติมากร
นักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ หลากหลายท่าน อาทิ
Michelangelo และ Leonardo Da Vinci รวมทั้ง “ครูฝรั่ง” ของเรา
ในส่วนของงานการศึกษาวิจัย การทำงาน ตลอดจนงานด้านศิลปะของท่านนั้น
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงว่าท่าน
“ขยายขอบเขตงานศึกษาวิจัยที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
ระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน
และเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งนครฟลอเรนซ์
รวมทั้งยังควบคุมสตูดิโอการเขียนภาพเปลือย
สตูดิโอเทคนิคในงานประติมากรรม
และสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ยุคโบราณควบคู่ไปด้วยกัน
ศาสตราจารย์ลูกา วิเวียนิ มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม
ในกิจกรรมทางศิลปะที่หลากหลายมากขึ้น เช่น
นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะเดี่ยว ณ พิพิธภัณฑ์อัลเตส กรุงเบอร์ลิน
โดยมีสถาบันวัฒนธรรมอิตาลีเป็นเจ้าภาพ
การแสดงผลงานศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ
และแสดงงานศิลปะที่ พิพิธภัณฑ์โบราณคดี ไอโออันนีน่า
ร่วมกับสถาบันวัฒนธรรมอิตาลีแห่งกรุงเอเธนส์
ส่วนในนครฟลอเรนซ์เอง เขาก็ได้มีผลงานแสดงที่
พิพิธภัณฑ์สเปโคลา พิพิภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ
พิพิธภัณฑ์ คาซา สิวิเอโร พิพิธภัณฑ์ คาซา ดิ ดันเต้ อิลกัฟเฟ่จิอุบเบ รอสเซ
สถาบันดาราศาสตร์แห่งเคียนติ และเขายังได้มีส่วนร่วมแสดงผลงาน
ทั้งในประเทศอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา และอื่นๆ
อีกทั้งหอศิลป์เอกชน และงานนิทรรศการทางศิลปะต่างๆ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วม
นอกเหนือจากผลงานแสดงนิทรรศการต่างๆแล้ว
ยังมีผลงานประติมากรรมนูนต่ำสำหรับทางเข้าสุสานดิน มอนเต ซาน วีโต
(แคว้น อังคอนา) งานอนุสาวรีย์ที่ระลึกในสงครามทางอากาศ
ที่สุสาน เตรสปิอาโน (ฟลอเรนซ์) ส่วนผลงานสำหรับพิพิธภัณฑ์สมรภูมิ-
แห่งอังกิเอียรี (เมืองอาเรซโซ) กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการสร้างสรรค์”
ปี 2563 นี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่การจัดงาน
ได้มีโอกาสย้ายกลับไปจัดรำลึกในบ้านอันเป็นที่รักของท่าน
ณ ลานอาจารย์ศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
และนอกจากการจัดงานปกติของทางมหาวิทยาลัยแล้ว
ในปีนี้ สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
โดย นายลลิต เลิศไม้ไทย นายกสมาคมนักศึกษาเก่าศิลปากร
ยังได้จัดโครงการให้ศิษย์เก่าในแต่ละจังหวัด ร่วมรำลึกถึงอาจารย์ศิลป์ด้วย
โดยให้นัดกันมาแสดงมุทิตาจิตจุดเทียนร่วมกันร้องเพลงซานตาลูเชีย
ในเวลา 1 ทุ่มตรง ตามสถานที่กำหนดในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด
โดยอาจจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือ อื่นๆ ของศิษย์เก่า
โดยสมาคมฯ ได้จัดธงราว ของที่ระลึก และโปสเตอร์งาน 128 ปี อาจารย์ศิลป์ ที่วังท่าพระ
ให้เจ้าของสถานที่ตบแต่งบริเวณ พร้อม ปชส ภาพเผยแพร่ใน FB
หรือ ร่วม ไลฟ์สดไปยังวังท่าพระ เพื่อเป็นการแสดงพลังของชาวศิลปากร
สำหรับท่านที่สนใจหนังสือปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 1- 25
สามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่ http://www.snc.lib.su.ac.th/
จาก OPAC ในส่วนชื่อเรื่อง (Title) โดยใช้คำค้นว่า ปาฐกถาศิลป์
และหนังสือปาฐกถา ครั้งที่ 1- 21 สามารถอ่านฉบับเต็ม (Full Text) ได้แล้วขณะนี้