ตรวจประกันคุณภาพ 30 สิงหาคม 2562

ดิฉันเรื่องการตรวจประกันคุณภาพหลังสุดคือเมื่อปี 2559 ไว้ที่ http://libsis.lib.su.ac.th/snclibblog/?p=55886 การเขียนครั้งนั้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ที่ไปพูดในสไลด์เรื่อง WE ในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559 หลังจากนั้นก็ไม่ได้เขียนเรื่องราวแบบนี้อีกเลย จึงถามตัวเองว่าทำไม เหตุผลหลักๆก็คงเหมือนกับหลายๆคนที่บอกว่าไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่มีมุมที่อยากนำเสนอ ภาษาโจรก็น่าจะจนมุม หยุดตัวเองไว้แค่นั้น  :mrgreen:  พวกเราชาวหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์อยู่กับคำว่า ประกันคุณภาพมานาน เป็นที่แรกๆ ของหน่วยงานสนับสนุนที่ใช้เป็นหน่วยงานนำร่อง เป็นระยะเวลาที่นานมาก จากที่รู้เรื่องในวันก่อน หากวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้ต่อไปจนกว่าจะหลุดจากองค์กร บอกตัวเองว่า สู้สู้

เรื่องที่พิเศษของปีนี้คือระบบประกันที่ใช้อยู่ในปีหน้าจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปสู่ระบบที่เรียกว่า EdPex ซึ่งน้อง พนิดาเขียนไว้ให้อ่านที่ http://libsis.lib.su.ac.th/snclibblog/?p=69220 เนื่องจากวันดังกล่าวดิฉันไม่ได้อยู่ฟังวิทยากรจึงต้องอาศัยตามอ่านจากที่น้องๆ ที่เข้าฟังสรุปมา กระบวนการจดบันทึกของมนุษย์ดีเสมอ ใครจะเชื่อว่าการเขียนบนผนังถ้ำในอดีตและวิวัฒนาการให้อยู่ในออนไลน์เช่นปัจจุบัน

ตามประเพณีของการตรวจประกันฯ หัวหน้าหน่วยงานนำเสนอผลงานเด่นในรอบปี ด้วยหน้าที่จึงต้องทำ เคยเวียนให้ทุกฝ่าย/งานเสนอ ล้วนแล้วแต่ตอบมาแบบขำๆ ว่าแบบไหน ดิฉันจึงเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำเสนออะไรในรูปแบบใด ส่วนตัวแล้วง่ายๆ คือตัดคำว่าเด่น  เพราะมีความเชื่อว่าทุกคนตั้งใจทำงาน ทุกงานในหอสมุดฯ ของเราต่างประกอบร่างจากน้ำมือ แรงใจและมันสมองของทั้งสามฝ่ายและหนึ่งาน ส่วนระยะเวลาของการประกันคุณภาพเป็นปลายปีงบประมาณ ซึ่งพวกเรามักจบงานกันตั้งแต่กรกฎาคม ตามกรอบเวลาที่การเงินของความร่วมมือ อินเนอร์ของงานที่ทำผ่านพ้นไปจึงหายไปกับเวลา  สิ่งที่ดีใจและยินดีทึ่สุดคือทุกคนยึดมั่นในภารกิจ “หลัก” ของคำว่าห้องสมุด ที่ผู้รับผิดชอบกิจกรรมหรือโครงการพยายามตีความและสร้างสรรค์งนาออกมา พวกเรายินดีที่เห็นนักศึกษา/ประชาคมศิลปากรเข้ามาร่วมกิจกรรมและพวกเราดีใจที่ผู้คนในชุมชนเข้ามาถามไถ่ และปลื้มใจกับคำบอกเล่าว่าปีที่แล้วก็มา ปีก่อนก็มา รออยู่ว่าจะจัดเมื่อไร ปีนี้จึงเล่าเรื่องผลงานของพวกเราไว้ที่นี่   QA_62 ผลงานของพวกเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ไปนำเสนอและไม่สามารถบอกเล่าความสุข ความทุกข์ หนาว ร้อน หรืออบอุ่น ทั้งหลายเหล่านั้นเก็บงำให้พวกเราได้เรียนรู้และเรียกว่าประสบการณ์

ส่วนคณะกรรมการคุณภาพฯ ก็จะหยิบบางส่วนจากของที่อยู่ต้นทางไปร้อยเรียงนำเสนอเพื่อตอบสิ่งที่เรียกว่าองค์ประกอบ สิ่งที่ดีของการประกันคุณภาพคือการได้รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ยิ่งถ้าได้เยอะและเฉียบคมจะเป็นคุณกับพวกเรา วันนั้นดิฉันฟังไปก็จับประเด็นไปจึงขอสรุปตามความเข้าใจคือ 1) ภารกิจหลักต้องเข้มแข็ง กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน 2) ระบบงานที่ครอบคลุมต้องมี ครบถ้วนทั้ง PDCA 3) ตัวชี้วัดความโครงการและแผนงานต้องทบทวนและปรับปรุง 4) มาตรฐานต่างๆ ต้องแม่นและต้องมี 5) การวัดความพึงพอใจก็ต้องทราบว่าใคร อะไร ที่ไหนอย่างไร // จับใจความได้แบบนี้ รายละเอียดคงต้องรอเอกสารฉบับจริงต่อไป

การเริ่มต้นระบบประกันคุณภาพไม่ได้ง่ายนะ แต่เชื่อมั่นว่าไม่เกินความสามารถของพวกเราที่ต้องเพียรคิดและเพียรทำ ดิฉันมักพูดเสมอและก็ยังคงเชื่อมั่นว่าหากเราสามารถจัดการและเข้าใจเรื่องระบบงานของเรา ไม่ว่าโลกนี้จะใช้ระบบอะไรเข้ามาจับ เราก็สามารถทำได้อย่างไม่เคอะเขิน  ➡

ทุกคนต่างมีหน้าที่และไม่ว่าการณ์ใดมนุษย์มักใช้ตัวเองเป็นที่ตั้งเสมอ แต่ด้วยวัยและประสบการณ์ดิฉันพบว่ามุมสะท้อนของ ME เป็น WE เสมอ  😛