วิทยาลัยทับแก้ว…บ้านเลขที่ ๖

   

จากโจทย์การบ้าน เนื่องด้วยบ้านเลขที่ ๖ ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
ซึ่งหัวหน้าหอสมุดให้บรรดาพี่พร้อมของฉัน ค้นหาคำ ความ วลีโดนใจ
จากหน้าหนังสือใด…สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ขอเพียงต้องมาจากหน้าที่ลงท้ายด้วยเลข ๖

 

ก็แล้วทำไมไม่เจาะจงลงไปเสียเลยว่าหน้า ๖
… แหม…ก็นะ หน้าที่นับเนื่องจากปกมาถึงหน้าที่ ๖ ของหนังสือ
ส่วนใหญ่แล้ว มักจะยังไปไม่ถึงเนื้อหาของเล่มเลย
หากไม่ตกอยู่ในช่วง คำนิยม คำนำ ก็คงอยู่ในราวๆ หน้าสารบัญ ประมาณนั้น

 

การบ้านที่ฉันหยิบมาเป็นคำตอบของโจทย์ครั้งนี้
มีชื่อภาษาฝาหรั่งอีกแล้ว (เออนะ…ฉันก็เพิ่งสังเกตตัวเองนี่ล่ะ)


หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า Snap___#ส่วนประกอบของความคิดถึง
(หอสมุดฯ มีให้บริการเลขหมู่ดังนี้ นะคะ  PN1994 ค23)

เขียนโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัลทั้งไทยและเทศ
หนังสือเล่มนี้เป็นผลพวงต่อจากภาพยนตร์เรื่อง Snap แค่…ได้คิดถึง
เป็นเสมือนภาคต่อความคำนึงของเขาถึงเรื่องราวทรงจำ
ที่ไม่อาจบอกเล่าได้ทั้งหมดในภาพยนตร์
หากแต่ยังคงฝังใจด้วยอาการคิดถึงของเขา

 

 

ความที่ฉันเลือกปรากฏในหน้าที่ ๑๖ แต่ขอเกริ่นความที่นำมาก่อนหน้าสักเล็กน้อย
บทนี้เป็นบทแรกของหนังสือ เขาให้ชื่อว่า #บันทึกกันลืม
เป็นการบอกกล่าวถึงจุดประสงค์การเขียนเพียงเพื่อ…กันลืม


โดยเขาเกริ่นถึงคุณค่าความเกี่ยวโยงของเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง
ความร้อยรัดของหลากชีวิตซึ่งเหนือไปจากในบทภาพยนตร์
ซึ่งเขาคำนึงถึงจากช่วงเวลาการทำหนังและมันยังคงอยู่เป็นความทรงจำกระจัดกระจาย
การเขียนหนังสือเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนการเดินเข้าไป
ในห้องเก็บของที่ไม่เคยถูกจัดนานนับหลายสิบปี

 

สิ่งที่ฉันประทับใจ เขากล่าวว่า

…แม้อาจเป็นความพยายามที่ไร้ค่า
แต่นี่ก็คือหนึ่งในการลองลุกขึ้นมาลุกขึ้นมาจัดระเบียบให้ห้องนี้
รื้อค้น ตักโกย และคัดเอาสิ่งที่น่าจะพอมีความสำคัญบ้างในชีวิต
กลับขึ้นมาพินิจดูอีกครั้ง ตรวจตราความรู้สึกในวันนั้นและเปรียบเทียบกับวันนี้

 

หลังจากนั้น เราก็แค่ถ่ายสำเนาความรู้สึกบางช่วงตอนเอาไว้
เอาออกมาจัดหมวดหมู่ข้างนอก ในรูปแบบของหนังสือและรูปภาพ
หลังจากกระบวนการทั้งหมดนี้ ห้องนั้นจะถูกปล่อยทิ้งไว้อีกครั้ง
และแน่นอนว่ามันจะรกเรื้อมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปอีก…

 

อย่างน้อยส่วนหนึ่งของมันได้ถูกเอามาจัดวางไว้ด้านนอก
เวลาที่เราต้องการรื้อค้น ก็แค่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาดู…

 

ฉันว่า ถ้อยความคำนึงคิดของผู้เขียน…
เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจดีๆ นะ
ว่าแต่…ฉันจะหาพละกำลังตรงไหนมาฉุดดึงให้เดินตามแรงดีๆ นี้ดีน้าาาา


กลับมาสู่ต้นทางของบ้านเลขที่ ๖ อันเป็นที่มาของโจทย์การบ้านของฉัน

 

มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
หรือที่เดิมคุ้นเคยเรียก “ทับแก้ว” อันเป็นมงคลนามของวิทยาลัยแห่งแรก
ที่ตั้งขึ้นตามพระนามของ “พระตำหนักทับแก้ว” ในพระราชวังสนามจันทร์
ซึ่งอาคารหลังแรกของวิทยาเขตฯ คืออาคารทับแก้ว ๑ (อาคาร A1)
ได้สร้างชิดติดกับพระตำหนักองค์นั้น
โดยอาคารทับแก้ว ๑ นั้นสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐

 

คำเรียก “วิทยาลัย” นี้ หมายถึงระบบวิทยาลัย (College System)
ซึ่งศาสตราจารย์ มล.ปิ่น มาลากุล อธิการบดีในขณะนั้นบอกเล่าไว้ใน
“บันทึกเรื่องการสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม”
ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในวันประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรก
เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ (บันทึกฉบับเต็มติดตามได้ที่
http://www.l.su.ac.th/downloads/archives-content/pin-malakul/SuNote.pdf )

 

ท่านได้อธิบายถึงหน้าที่ของวิทยาลัยที่แตกต่างจากคณะวิชา
ซี่งจะดำเนินการเฉพาะด้านวิชาการ คือ จัดการสอน การสอบและวิจัยเท่านั้น
ทั้งนี้การจัดระบบวิทยาลัยภายในมหาวิทยาลัยนั้น
ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลนักศึกษา
เนื่องจากเป็นวิทยาเขตที่อยู่ในภูมิภาคและเมื่อแรกตั้ง
ความเจริญในเมืองนครปฐมยังมีไม่ทั่วถึงมากนัก

สำหรับหน้าที่ของวิทยาลัยนั้นมีรายละเอียด ดังภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในวิทยาลัยทับแก้วแห่งนี้ นอกจากนักศึกษาที่ต้องเข้าพักอาศัยภายในหอพักแล้ว
ในแต่ละวิทยาลัยจะมีอธิการและอาจารย์อยู่ประจำเพื่อดูแลปกครองนักศึกษา
โดยระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ มหาวิทยาลัยได้บรรจุบุคลากร
เข้ารับราชการในวิทยาลัยทับแก้ว และคณะอักษรศาสตร์

 

เมื่ออาคารวิทยาลัยทับแก้วซึ่งเป็นอาคารหลังแรกแล้วเสร็จ
จึงได้นำบุคลากรเข้าพักอาศัยร่วมกับนักศึกษา

แต่ทั้งนี้การเข้าพักอาศัยจะต้องปฏิบัติตามเทศบัญญัติของเทศบาลเมืองนครปฐม
มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการขอบ้านเลขที่ให้แก่อาคารวิทยาลัยทับแก้ว คือ บ้านเลขที่ ๖
ดังนั้น ทั้งบุคลากรและนักศึกษาที่อยู่ในหอพัก
จึงต่างต้องย้ายสำมโนครัวเข้าอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ ๖

แต่ปัจจุบันมิได้มีการบังคับการโอนย้ายแต่อย่างใด

 

ต่อมาบ้านเลขที่ ๖ ของวิทยาลัยทับแก้วได้แตกออกเป็นบ้านเลขที่
ตามกลุ่มบ้านพักของบุคลากรในมหาวิทยาลัย

กำหนดเป็นบ้านพักเลขที่ ๖/๑,  ๖/๒,  ๖/๓  และเลขที่ย่อยอื่นๆ
ซึ่งในเวลาต่อมาทางเทศบาลฯ ได้ยกเลิกบ้านเลขที่ย่อยให้ใช้เพียงบ้านเลขที่ ๖
และให้ย้ายรายชื่อบุคคลจากบ้านเลขที่ย่อยทั้งหมดมารวมอยู่ในบ้านเลขที่ ๖ เพียงแห่งเดียว

 

เรื่องราวที่มาของบ้านเลขที่ ๖
ฉันอ้างอิงข้อมูลจากบันทึกเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๔๘ ของ นายสาโรช จันมุกดา
อดีตหัวหน้างานสารบรรณ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ข้าราชการบำนาญ
ซึ่งได้มาช่วยราชการโครงการจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศิลปากร
และปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว


ฉันเองแอบสงสัยในใจดังๆ ว่า เลขที่ ๖ ของบ้านทับแก้วหลังนี้

จะมีความเกี่ยวข้อง หรือไม่อย่างไร กับการที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของพระราชวังสนามจันทร์ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖

 

…ฉันขออนุญาตทิ้งท้ายไว้
…เผื่อว่า…จะมีท่านผู้ใดกรุณามาไขรู้ ความเป็นมาอันประจวบเหมาะของบ้านเลขที่ ๖
ซึ่งความเห็นส่วนตัว ฉันคิดว่าเป็นเลขมงคลสำหรับชาวศิลปากร
ที่ได้อาศัยพระบารมีใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของพระราชวังสนามจันทร์ของพระองค์ท่าน
เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาของชาติ กราบขอบพระคุณล่วงหน้า ณ ที่นี้ค่ะ