บริการคืองานที่ใจรัก

เราทำงานด้านบริการเมื่อเห็นชื่อเรื่องแล้วน่าสนใจดี เป็นเรื่องที่ใกล้ ๆ กับตัวเรา

งานบริการเป็นงานที่คนทำต้องสนุกกับงาน และรักที่จะบริการจริง ๆ งานบริการจะต้องทำในอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข

“สะสมความสุข” เป็นความสุขข้างในลึก ๆ ไม่ใช่ความสุขจากการกอบโกยเอากำไรจากลูกค้า หัวใจของงานบริการอยู่ที่ ความรัก ซึ่งได้แก่ ความรักในอาชีพ ความรักในบริการที่จะมอบให้ผู้มาใช้บริการ รักตนเอง และเพื่อนมนุษย์ ความรักในงาน ที่ก่อให้เกิดความสุขในงาน ได้แก่

  • รักในงานที่ทำ ได้ทำในสิ่งที่ชอบจริง ๆ ทำไปเพราะเป็น ฉันทะ มีความพึงพอใจ
  • ดีใจกับความสุขของผู้อื่น เป็นมุทิตา คือยินดีที่เห็นคนอื่นได้ดี
  • ทำด้วยจิตอาสา จิตสาธารณะ เป็นเมตตา และกรุณาที่อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หรือสุขยิ่งขึ้นกว่าเดิม
  • เห็นประโยชน์ทางธรรมที่ยิ่งใหญ่และถูกต้อง มีความเชื่อว่า งานแบบนี้แหละคืองานที่บริสุทธิ์ งานที่เหมาะกับการฝึกสติสะสมบารมีธรรมเมื่อโดนตำหนิ โดนต่อว่า โดนกดดัน ก็เอาวิกฤตเหล่านี้มาเป็นโอกาส ในการสร้างกำลังสติ แยกแยะจิตกับความคิด สร้างกำลังสติให้ต่อเนื่อง

สิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ เบื่อหน่าย เซ็ง เครียด ในงานบริการจนทำให้เกลียดงานบริการ ได้แก่

  • คิดแทนลูกค้า ถ้าอยากทำงานให้สนุก จงอย่ายัดเยียดความสุข อย่ายัดเยียดความรักให้ลูกค้า เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ การคิดแทนคนอื่น มักผิดพลาดได้เสมอ
  • มีตัวตนมากไป จงคิดเสียว่า งานบริการก็เหมือนงานละคร เราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เพราะต้องเล่นไปตามบท แต่อย่ามาแสดงตัวตนเป็นนางร้ายในเวลาทำงาน
  • ขาดพรหมวิหาร 4 ทางพุทธศาสตร์ไม่ใช้คำว่า ความรัก แต่ใช้คำที่กว้างกว่า คือ พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คนที่จะมาทำงานบริการต้องมี พรหมวิหาร 4 อย่างน้อยต้องมี 2 ตัวแรกให้เป็นพื้นฐาน คือ เมตตาและกรุณา
  • ขาดสมดุลชีวิต ทำงานมากไปจนลืมครอบครัว พักผ่อน ออกกำลังกาย ฯลฯ ท้ายที่สุดก็เครียด ป่วย

 

พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมที่สำคัญของงานบริการเพื่อให้คนที่ไม่ถนัดภาษาธรรมเข้าใจได้ง่าย ๆ หรือเรียกง่าย ๆ

ว่าความรัก  ความรักในที่นี้ ต้องเป็นความรักที่ดีงาม ไม่ใช่ด้านอกุศล  ความรักในที่นี้ คือ พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตา หมายถึง จากทุกข์ จากจิตตก จากลำบาก ก็ช่วยให้ดีขึ้น สบายขึ้น จากสภาพติดลบ มาเป็นบวก จากเป็นทุกข์ก็ขอให้พ้นทุกข์

กรุณา หมายถึง จากที่ดีอยู่แล้ว ก็ช่วยให้ดีขึ้นไป จากบวกให้เป็นบวกบวก จากที่เป็นสุขอยู่แล้ว ขอให้เป็นสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป

มุทิตา หมายถึง ชื่นชมยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี หรือคำภาษาอังกฤษ appreciative เรื่องมุทิตา คนไทยมีน้อยต้องฝึกกันพอสมควร โดยเฉพาะความที่ชอบแซว หรือทับถม เกทับ ข่ม อวดรวย ฯลฯ ขาดคำพูดปิยวาจาที่จะช่วยล่อเลี้ยงจิตใจกัน

อุเบกขา หมายถึง จิตว่างแต่กายใจไม่ต้องว่างก็ได้ อุเบกขาไม่ได้แปลว่าละทิ้ง (ignore) แต่เป็นการอยู่ร่วมกันแบบจิตว่าง ยอมทำให้ทั้ง ๆ ที่จำใจ จำเป็นแต่จิตก็ว่าง ๆ เช่น พ่อร้ายแต่ลูกถืออุเบกขา อดทน อดกลั้น ทำตามหน้าที่ ไม่ถือสาพ่อ ไม่มีอคติ ไม่ลำเอียง

 

ยกวัดมาไว้ที่หน้างาน  วัดในที่นี้ หมายถึง วัดจิต วัดใจ ไม่ใช่เอาศาลา โบสถ์ กุฏิมาสร้างในร้านในองค์กรของเรา วัด (measure หรือ observe) ที่กลางอกของเรานี่แหละ เวลาเราโกรธ เราเคยสังเกตไหมว่า มันแน่น ๆ มันอึดอัด มันไม่สบายอาการแปลก ๆ แบบนี้แหละ คือ จิตไม่ว่าง จิตเกิดอาการ เวลาเราโกธรโลภ หลง ลองสังเกตดูนะ ร่างกายของเราจะบอกเรา (Indicate) ว่ามีการเปลี่ยนแปลง เช่น กำมือแน่น คิ้วขมวด กล้ามเนื้อจะเกร็ง ลมหายใจเข้าออกถี่เร็วกว่าปกติ หัวใจเต้นแรง การสังเกตอาการของกายที่เปลี่ยนแปลงนี้ คือการฝึกสติในเบื้องต้น คือฝึกดูกาย ฝึกสติ มี 4 ระดับ จากง่ายไปยาก คือ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต และดูธรรม

 

งานบริการ เป็นงานที่เสี่ยงต่อจิตเกิดอกุศลได้พอ ๆ กับจิตเกิดกุศล แต่ในทางพุทธศาสตร์ เราต้องการจิตที่ไม่เป็นทั้งอกุศลและกุศลเป็นจิตที่เป็นกลาง เป็นจิตที่ว่าง งานบริการเป็นงานสร้าง บารมีธรรมอย่างหนึ่งฝึกอดทน อดกลั้น เสียสละ ทำทาน รักษาศีล ฝึกสติ พัฒนา (ภาวนา) จิตใจ คนที่เข้ามาวงการบริการแล้วหากยังทุกข์ ก็แสดงว่ายังบริการไม่เป็น ยังไม่รักในอาชีพบริการอย่างจริงจัง

 

จิต สติ ความคิด  จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์ หรือจะพูดแบบง่าย ๆ คืออย่าคิดตอนมีอารมณ์ ให้คิดตอนอารมณ์ดี ๆ  สบาย ๆ คนที่ยังมีกิเลส เมื่อเกิดอารมณ์ เราเรียกสภาวะตอนนั้นว่า จิตไม่ว่าง เช่น โกรธ โลภ หลง ฯลฯ เมื่อใดจิตเป็นอิสระจากความคิด เมื่อนั้นเราก็จะพ้นทุกข์ จิตที่เป็นกุศล คือจิตใจที่งดงาม เป็นจิตที่มีแต่จะให้ ช่วยสังคมช่วยชุมชน ช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก มีจิตอาสา จิตสาธารณะ ฯลฯ คนที่มาอยู่ในงานบริการจะต้องบ่มเพาะจิตใจแบบนี้ให้ได้เป็นพื้นฐาน

 

สติมาปัญญาเกิด   ตราบใดที่จิตกับความคิดยังคงทำงานร่วมกัน ก็ทำให้เราเกิดความคิดที่พระอาจารย์พุทธทาส เรียกว่า เฉโก เฉโก คือ ความคิดที่ออกมาตอนจิตไม่ว่าง เป็นความคิดที่เจือกิเลส เจืออัตตา เต็มไปด้วยอคติ ลำเอียง พิพากษา ลงโทษ โลภ โกธร หลง อยาก ไม่อยาก ชอบ ไม่ชอบ สนุก ไม่สนุก ฯลฯ และเฉโก นี่เองที่ทำลาย งานบริการจนเสียหายได้เสมอ

 

นักวิชาการฝรั่งมักสอนให้เราคิดดีเอาไว้ก่อน เพราะเมื่อคิดดี คิดบวก (Positive thinking) เราก็จะได้คิด คำว่าได้คิด ก็คือ มีสติ คิดดีก็ได้คิด ได้คิดก็จะคิดได้ ดังนั้น ตำราฝรั่งมักจะสอนให้พวกเราคิดดี ทำงานบริการให้เป็นเรื่องสนุก เราต้องตระหนักเอาไว้ว่า หากคิดจะมาเป็นนักบริการที่ดี ควรฝึกสติให้มาก ๆ เท่ากับว่าเราได้ปฏิบัติธรรม ฝึกสติ ทำทาน รักษาศีล และภาวนา (ฝึกสติ) ไปด้วยทำงานไปด้วย งานก็ได้ผล สติก็งอกงาม

 

วรภัทร์ ภู่เจริญ. (2555.) บริการคืองานที่ใจรัก. กรุงเทพฯ : อริยชน