Review ประสบการณ์ ความรู้สึก ของการทำงานแบบ Work from Home ครั้งแรกในชีวิต

จากคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานแบบ Work from Home มาก่อน เราต้องปรับตัวรับมือกับอะไรบ้าง เราจะมา Review ประสบการณ์ ความรู้สึก ของการทำงานแบบ Work from Home จำนวน 12 วันทำการ  (26 มีนาคม – 10 เมษายน 2563)

26-27 มีนาคม สองวันนี้หมดเวลาไปกับการติดตั้งโปรแกรมเพื่อการใช้งานต่างๆ เช่น การติดตั้ง VPN ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Seirra ติดตั้งและ Update Web Browser ต่างๆ โปรแกรม Photoscap และอื่นๆ ที่ปัญหาคือ เครื่อง Notebook ที่ใช้งานอยู่ในบ้าน 3 เครื่อง เป็นเครื่องรุ่นเก่า 2 เครื่อง เครื่องใหม่ 1 เครื่อง ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ไม่ได้ใช้นาน เปิดมาสายไฟโดนคุณมิกกี้กัดขาดเมื่อไรไม่รู้ได้ (ที่สำคัญคือ คนในบ้าน 4 คน มีภารกิจ ที่ต้อง Work from Home สอนออนไลน์ เรียนออนไลน์ ทุกคน) ต้องติดตั้งอุปกรณ์ และซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม ขอยืมอุปกรณ์ วุ่นวายไปหมด นอกจากนี้ยังต้องติดตามดูแลบุคลากรในงานจัดการฯ ผ่านกลุ่มไลน์และช่วยเหลือ ช่วงค่ำต้องตรวจงานของบุคลากรที่มอบหมายงานใหม่ให้ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไข เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติมาก่อนและส่งรายละเอียดของปัญหาไปให้ (ถ้ามี) **สาเหตุที่ต้องตรวจงานช่วงค่ำเนื่องจากการเข้าไปทำงานใน Function บาง Function ของระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ไม่สามารถใช้งานซ้อนกันได้

เสาร์-อาทิตย์ วันหยุดที่หมดไปกับการปรับโฉม จัดการบ้าน ย้ายโน้น ยกนี้ เพื่อให้คน 4 คน มีมุมทำงาน และมุมทำการบ้าน ไม่รบกวนกัน

30 มีนาคม – 3 เมษายน สัปดาห์นี้ งานยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนัก และหอสมุดฯ กำหนดให้มีการเปิดอาคารหอสมุดเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบระบบ ระบบไฟฟ้า ระบบเครื่องปรับอากาศ 2 วันคือ วันจันทร์กับวันพฤหัส ดังนั้นหัวหน้าหน่วยงาน 3 คน จึงต้องเข้าไปช่วยดูแล รวมถึงต้องดูแลบุคลากรในงานจัดการทรัพยากรฯ ที่แจ้งความประสงค์จะเข้ามารับงานไปทำที่บ้านเพิ่มเติม และนำไฟล์เอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเช่น สถิติ รายงานการศึกษาเรียนรู้และอื่นไปปฏิบัติ คนที่มีอุปกรณ์ไม่พอแล้วมาขอยืม ไปใช้ชั่วคราว เข้าไป และช่วยเจ้าหน้าที่ทำความสำอาดหนังสือที่คืนผ่านตู้รับคืน เพื่อให้เจ้าหน้าสแกนรับคืน ช่วยไปคัดแยกเอกสาร วารสาร ฯลฯ ที่ส่งทางไปรษณีย์ในส่วนของหอสมุด

ระหว่างวันได้ช่วยเหลือตอบคำถามผู้ปฏิบัติงานทางโทรศัพท์และกลุ่มไลน์ ติดตามการส่งรายงานการปฏิบัติงานประจำเดือนมีนาคม ของบุคลากรในงานจัดการทรัพยากรฯ ทุกคนให้ส่งรายงานเป็นไฟล์เอกสารผ่านอีเมล์ ยกเว้นบุคลากรที่ไม่สะดวกให้ส่งเป็นเอกสารใส่ตะแกรงหน้าหอสมุดฯ ซึ่งหัวหน้าจะเข้าเก็บมาตรวจ

ส่วนช่วงค่ำต้องตรวจงานของบุคลากรที่มอบหมายงานใหม่เพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ไขเหมือนเดิม โดยส่งอีเมล์และข้อความเข้ากลุ่มไลน์เเพื่อสอบถามและซักซ้อมความเข้าใจให้ตรงกัน และทำสถิติและรายงานการปฏิบัติงานเดือนมีนาคม

ปัญหาที่พบในสัปดาห์นี้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ร้อนมาก ผนวกกับอากาศที่ร้อนมาก และที่บ้านไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ จนมีบางวันที่ต้องปิดพักเครื่องในช่วงบ่ายๆ และสารพัดเสียงรบกวนต่างๆ จากรอบๆบ้าน เสียงเจียเหล็ก เสียงวิทยุ เสียงรถยนต์วิ่ง อื่นๆ อีกมากมาย

6 เมษายน – 10 เมษายน สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ตามกำหนดเวลาจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการทำ Work from Home แต่สถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงทุกวัน ซึ่งผลก็คือ มหาวิทยาลัยประกาศปิดทำการไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ช่วงต้นสัปดาห์วันจันทร์กับวันพฤหัส หัวหน้ายังต้องเข้าไปช่วยดูแล รวมถึงต้องดูแลบุคลากรในงานจัดการทรัพยากรฯ ที่แจ้งความประสงค์จะเข้ามารับงานไปทำที่บ้านเพิ่มเติมเหมือนเดิม และช่วยเจ้าหน้าที่ทำความสำอาดหนังสือที่คืนผ่านตู้รับคืน เพื่อใหเจ้าหน้าสแกนรับคืน ช่วยค้นหนังสือที่มีผู้ใช้จองออนไลน์ บุคลากรบางส่วนเริ่มส่งสถิติการปฏิบัติงานแล้ว ที่เหลือก็ทยอยส่งมาให้ตรวจ ระหว่างวันก็ยังมีการคุยและให้คำปรึกษาบุคลากรในงานจัดการทรัพยากรฯ ผ่านกลุ่มไลน์ และเนื่องจากมหาวิทยาลัยขยายเวลาปิดทำการออกไป จึงต้องมีการเรียกประชุม พบปะ พูดคุยตกลงเกี่ยวงานที่จะมอบหมายให้ปฏิบัตใหม่อีกครั้ง วันที่ 9 เมษายน จึงได้เรียกประชุมบุคลากรงานจัดการทรัพยากรฯ ทุกคน รวมทั้งให้นำงานที่ได้รับมอบหมายในช่วงแรกมาส่งคืน

ความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่าคนโดยทั่วไปมักคุ้นชินกับการทำงานที่ทำงาน อยู่ในกรอบที่ต้องเข้าทำงานตรงเวลา ออกจากที่ทำงานเมื่อเลิกงาน พักเที่ยงต้องกินข้าว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการทำงานอยู่บ้าน คนส่วนใหญ่จะปรับตัวได้ค่อนข้างยากในช่วงแรก และรู้สึกถึงความไม่สะดวกสบาย และมักคุ้นชินว่า การอยู่บ้านคือการอยู่บ้านที่ต้องมีกิจวัตรอื่นเกี่ยวกับเรื่องของบ้านต้องทำ เช่น ทำกับข้าว ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งการทำงานที่บ้านไม่ได้ห้ามไม่ให้คุณไม่ให้ทำ แต่ถ้าหากคุณจะพักผ่อนคลายความเครียด พักสายตา คุณก็ต้องกลับมาทำงานของวันนี้ให้เสร็จด้วยเช่นกัน เพราะเป้าหมายของการทำงานของแต่วันต้องเสร็จหรือสำเร็จ หรือหากวันนี้มีกิจกรรมอื่นมาแทรกมากไปนานไป ก็ต้องไปชดเชยในวันถัดๆไปแทน

การทำงานที่เรากำหนดตัวเอง เวลาทำงาน ปริมาณงาน ที่ต้องทำให้ได้เทียบเท่ากับการทำงานที่ทำงานวันละ 7 ชั่วโมงนั้น เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องเร่งรีบอย่างที่เคยเป็น สามารถทำได้เรื่อยๆ หยุดพักบ้าง แต่เป้าหมายคือ งานต้องเสร็จ

เมื่อเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 และ 3 สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น มีเวลาทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือที่ซื้อเก็บไว้มากมาย เอาหนังสือเก่าๆ ที่อ่านจบบ้าง ไม่จบบ้าง มาอ่านใหม่อีกรอบ ลงมือรื้อฟื้นความรู้เรื่องการเย็บผ้าหลังจากทิ้งห่างหายมาหลายปี เด็กหาภาพยนตร์หรือซีรีย์ มาดูด้วยกัน สามารถคลายเครียด ทำให้รู้สึกดีขึ้น

การปรับตัวจากกิจวัตรประจำวันที่เดิมต้องตื่นแต่เช้าอาบน้ำแต่งตัวไปทำงานเพื่อให้ทันเวลา 8.30 กิจวัตรประจำวันหลายอย่างเปลี่ยนไป เช่น บางวันตื่นเช้าทำงานบ้านนิดๆหน่อยๆ หรือบางวันตื่นสายนิดหนึ่ง แทนที่จะใช้เวลาที่ต้องขับรถไปทำงาน ก็เปลี่ยนมาทำอาหารเช้าให้คนในครอบครัวกิน ชงชา กาแฟดื่มได้อย่างสบายใจ ระหว่างวันต่างคนต่างทำงานของตัวเอง พอหิวก็พักทานข้าวกลางวันพร้อมกัน 4 คน บ่ายๆ ลูกๆ ก็เตรียมอาหารมื้อเย็น ทานข้าวมื้อเย็นจบ หากมีเวลาก็ทำงานต่ออีกสักพัก

จบรีวิวการ Work from Home ครั้งแรกในชีวิตของการทำงาน^o ^