WFH – Work from Home

หากจะนึกย้อนกลับเมื่อไม่กี่เดือน คำว่า Work from Home เป็นคำที่ดูจะห่างไกลจากมนุษย์เงินเดือนในประเทศไทย เมื่อเอ่ยคำว่า Work from Home เรามักนึกถึงภาพของบริษัทใหญ่ๆ เช่น Google หรือบริษัทใหญ่ในต่างประเทศที่ใช่เทคโนโลยีสารสนเทศทีทันสมัย ใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกร์อิเล็กทรอนิกส์ในการทำงาน พนักงานจะนั่งทำงานที่บ้าน มีมุมทำงานสบายๆ นั่งทำงานไปจิบเครื่องดื่ม นั่งมองวิวสวยๆ ผ่านหน้าต่าง แลดูไม่ต้องเร่งรีบ นั่นคือภาพลักษณ์ที่มักถูกนำเสนอผ่านสื่อ

จนเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ทั่วโลกเริ่มรู้ โรคระบาดที่มีชื่อว่า COVID -19 ที่เริ่มระบาดที่ประเทศจีนเป็นประเทศแรก และลามเหมือนไฟลามทุ่งไปทั่วโลกถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านแบบเราๆ โรคที่ติดต่อผ่านการใกล้ชิด การสัมผัส การจับต้องสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ ดังนั้นการทำงานหรือการอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เช่น สถานที่ทำงาน สถานศึกษา แหล่งชุมชนที่มีผู้คนชุมนุมเป็นจำนวนมากจึงเป็นเรื่องต้องห้าม สถานศึกษาต้องรีบปิดเพื่อไม่ให้นักเรียน นักศึกษาอยู่รวมกัน ให้แยกย้ายกันไปอยู่บ้านของตัวเอง และมาถึงคราวของสถานที่ทำงาน ที่หน่วยงานต่างๆ เริ่มมาพูดคุย ปรึกษา ประชุมหารือเรื่อง การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home

Work from Home ผู้เขียนแทบจะนึกภาพไม่ออกเลยว่า Work from Home ของหน่วยงานที่ผู้เขียนเป็นหัวหน้างานนั้น งานอะไรที่บุคลากรในหน่วยสามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้ หน่วยงานที่ผู้เขียนรับผิดชอบคือ งานจัดการทรัพยากรสารสเทศ เป็นงาน Back Office ที่ต้องรับผิดชอบตั้งแต่การจัดหาหนังสือ การวิเคราะห์หมวดหมู่หนังสือและทำรายการ งานเตรียมตัวเล่มก่อนการวิเคราะห์หมวดหมู่ งานเตรียมตัวเล่มหลังการวิเคราะห์หมวดหมู่เพื่อออกบริการ งานซ่อมและบำรุงรักษาทรัพยากร หากพิจารณาจากเนื้องานแล้วเป็นงานที่ต้องดำเนินการกับตัวเล่มหนังสือเอง ตัวเล่มหนังสือ เน้นว่า ตัวเล่มหนังสือ สิ่งที่ต้องมาคิดคือ งานในหน่วยจำแนกออกมาเป็นงานอะไรบ้างถ้าไปทำงานที่บ้านบุคลากรต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมืออะไรบ้าง ในช่วงแรกที่ได้รับแจ้งมามหาวิทยาลัยจะปิดทำการตั้งแต่ 26 มีนาคม – 12 เมษาย 2563 (12 วันทำการ) ดังนั้นจึงการมอบหมายงานการทำงานของบุคลากรในตำแหน่งบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ สิ่งที่พบว่าเป็นปัญหาคือ เราเป็นงาน Back Office ที่ทำงานกับ ตัวเล่มหนังสือ เน้นว่า ตัวเล่มหนังสือ การนำหนังสือไปเพื่อปฏิบัติงานที่บ้านเราต้องใช้วิธีขนหนังสือกลับบ้าน ด้วยศักยภาพของบุคลากรบางท่านเราพบว่า ไม่สามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้ จะด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ การข้นย้าย จึงต้องมีการมอบหมายงานอื่นๆ ให้เป็นการชั่วคราว ตัดงานไม่สามารถนำงานกลับไปทำงานบ้านออกไปก่อน

สิ่งที่หน่วยงานคาดหวังคือ บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่บ้าน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ได้ควรเทียบเท่ากับหรือใกล้เคียงกับการปฏิบัติงานที่ทำงาน การปรับตัวในการ Work from Home เราต้องจัดการกับตนเอง ครอบครัว อาจต้องถึงขั้นต้องทำสัญญากันเลยที่เดียวว่า เวลานี้คือเวลาทำงาน เวลานี้เวลาของครอบครัว กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ใช้เวลาพอสมควร

ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยได้แจ้งขยายเวลาปิดทำการออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนเมษายน และมีท่าทีว่าจะขยายต่อไปเรื่อยๆ หากยังหยุดการระบาดของโรคไม่ได้ ในที่สุุดเราก็ได้กลับมาทำงาน ณ สถานที่ทำงานได้ตามปกติ แต่ก็ยังคงต้องใช้ชีวิต แบบ New Normal ส่วนตัวผู้เขียน หากถามว่าชอบการทำงานแบบ Work from Home หรือไม่ มีทั้งชอบและไม่ชอบคละเคล้ากันไป ชอบเพราะรู้สึกว่ามีอิสระในการจัดเวลาการทำงาน สามารถยืดหยุ่นเวลา แต่ก็ต้องจำไว้ให้ได้ว่า เราต้องทำงาน เราต้องมีงานไปส่งหรือไปรายงานผู้บังคับบัญชา ที่ชอบอีกประการหนึ่งก็คือ มีเวลาได้ทำงานอดิเรกที่ไม่ได้ทำมานาน เนื่องจากเราไม่ต้องเร่งรีบตื่นไปทำงาน เย็นก็เร่งรีบกลับบ้าน สรุปแล้ว การ Work from Home จะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเราล้วนๆ

ตลอดระยะเวลาเกือบสองเดือนการติดตามงาน การมอบหมายงานเราใช้วิธีการติดต่อ ผ่านกลุ่มไลน์ ผ่านอีเมล ผ่านโทรศัพท์ มีการเข้าไปรับงานเพิ่มเติม นัดพบกันเพื่อพบปะพูดคุย ทบทวนการทำงาน มีการส่งรูปการทำงานที่บ้าน งานที่ทำได้ การส่งรายงานการปฏิบัติงาน ปํญหาที่เกิด สอบถามการแก้ปัญหาต่างๆ