การตรวจข่าวเพื่อจัดทำกฤตภาค

การตรวจข่าวจากหนังสือพิมพ์ในแต่ละวัน เพื่อนำมาจัดทำเป็นกฤตภาค เป็นงานหลักที่ดิฉันได้รับมอบหมาย  ในรอบการประเมินนี้เป็นรอบการประเมินแรก  ซึ่งยอมรับว่าตนเองยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความมั่นใจในการคัดเลือกข่าวเป็นอย่างมาก บางครั้งในการคัดเลือกดิฉันเข้าใจว่าข่าวนั้น ๆ เด่นดัง บุคคลสำคัญในข่าวมีภูมิลำเนาเกิดในจังหวัดนครปฐมจึงเลือกทันที โดยไม่ได้มองถึงด้านอื่น ๆ ว่า บุคคลนั้นได้ก่ออาชญากรรม ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ใด ๆ ให้กับชุมชนและสังคม ดังที่ดิฉันได้รับการแนะนำจากหัวหน้างานฯ เป็นต้น  ดังนั้น  ดิฉันจึงต้องพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์การคัดเลือกข่าวฯ ให้รอบคอบมากขึ้น โดยดิฉันได้ศึกษาจากเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก (http://www.snc.lib.su.ac.th/westweb)  เกี่ยวกับขอบเขตของข้อมูล ทั้งหมด 16 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านภาษาและวรรณกรรม ได้แก่ องค์ความรู้ ได้แก่ ผลงานการอนุรักษ์และสร้างสรรค์งานด้านภาษา คือ ภาษาถิ่น ภาษาไทยในภูมิภาค รวมถึงวรรณกรรมท้องถิ่น สารานุกรมภาษาถิ่น การปริวรรตหนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่น เป็นต้น
  2. ด้านเกษตรกรรมได้แก่ องค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคแบบดั้งเดิมในการเพาะปลูกพืช พืชสวน พืชไร่ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคในด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี ซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการผลิต การรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตร รวมทั้งสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
  3. ด้านปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น วัด รวมเครื่องราง ของขลังที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของท้องถิ่นนั้นๆ ปรัชญา ความเชื่อ ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์
  4. ด้านการละเล่น การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี และนันทนาการได้แก่ การละเล่นพื้นบ้าน เช่น การแข่งวัวลาน การเล่นโม่ง การทอยสะบ้า การเล่นคอน หุ่นกระบอก การละเล่นของหลวง เช่น หนังใหญ่ เพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงปรบไก่ เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย
  5. ด้านศิลปกรรมได้แก่ ผลงานการอนุรักษ์และสร้างสรรค์งานด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ทัศนศิลป์ ประณีตศิลป์ สถาปัตยกรรม คีตศิลป์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
  6. ด้านอาหารและโภชนาการได้แก่ การเลือกสรร การประดิษฐ์ การปรุงแต่งอาหาร โภชนาการ นำไปสู่การผลิตเป็นสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ได้รับความนิยมแพร่หลาย ตลอดจนสามารถขยายคุณค่าเพิ่มของทรัพยากรท้องถิ่น
  7. ด้านการแพทย์แผนไทยได้แก่ การจัดการป้องกัน การรักษาสุขภาพของคนในท้องถิ่น ที่เน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้ เช่น ยาจากสมุนไพร การนวดแผนโบราณ การดูแลและรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน
  8. ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรมได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตของท้องถิ่น ซึ่งเป็นขบวนการที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานสับปะรด ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตหัตถกรรมท้องถิ่น กลุ่มหัตถกรรมต่างๆ รวมทั้งผลกระทบ และปัญหาข้อพิพาทของอุตสาหกรรมต่อชุมชนในท้องถิ่น
  9. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แก่ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน รวมทั้งปัญหา ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ เช่น การบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการป่าต้นน้ำและป่าชุมชน ปัญหาการทำลายทรัพยากร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยธรรมชาติ สาธารณภัย การป้องกัน/บรรเทา/ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ เช่น น้ำท่วม เป็นต้น
  10. ด้านกองทุน ธุรกิจชุมชน และสวัสดิการได้แก่ การดำเนินการและการบริหารจัดการในกิจการต่างๆ ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคน เช่น กองทุนในท้องถิ่น กองทุนหมู่บ้าน ธุรกิจชุมชน สวัสดิการชุมชน รวมทั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต (ไม่รวมสหกรณ์การเกษตร) เช่น การจัดการกองทุนของชุมชนในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของชุมชน การจัดระบบสวัสดิการบริการชุมชน
  11. ด้านการท่องเที่ยวได้แก่ การส่งเสริม สนับสนุน การอนุรักษ์ฟื้นฟูและเผยแพร่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์ทางทะเล พิพิธภัณฑ์ของเล่น ฯลฯ หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์เชิงท่องเที่ยว เป็นต้น
  12. ด้านการเมือง / การปกครองได้แก่ ข้อมูลที่สำคัญ ตลอดจนประเด็นที่อยู่ในความสนใจโดยทั่วไปในด้านการเมือง การปกครอง นักการเมือง โดยเน้นการเมืองการปกครองในระดับท้องถิ่น และที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาชุมชน พัฒนาท้องถิ่น ปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด การป้องกันและควบคุมปัญหา ตลอดจนแผนพัฒนาในด้านต่างๆ
  13. ด้านการศึกษาได้แก่ การจัดการศึกษา กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตามสภาพปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจของท้องถิ่น และเป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ
  14. ด้านชาติพันธุ์ / ชนกลุ่มน้อยได้แก่ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สังคม ชุมชน ความเป็นอยู่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ภาษาและวรรณกรรม ปัญหาและข้อพิพาท รวมทั้งผลกระทบและการได้รับผลกระทบของชนกลุ่มน้อย
  15. ด้านบุคคลสำคัญได้แก่ ประวัติบุคคลที่เกิดในท้องถิ่นรวมถึงพระสงฆ์ ที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ ไม่จำกัดเฉพาะการสร้างผลงานในพื้นที่ภูมิลำเนา รวมทั้งบุคคลที่แม้มิได้เกิดในท้องถิ่น แต่มาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและทำคุณประโยชน์ ทำผลงานให้แก่ท้องถิ่นนั้นๆ จนเป็นที่ประจักษ์
  16. ด้านประวัติศาสตร์ / โบราณคดีได้แก่ เรื่องราวของประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

หลังจากที่ดิฉันได้ปฏิบัติงานตรวจมาระยะหนึ่งจนถึงปัจจุบัน  ทำให้ดิฉันได้รับความรู้ ความเข้าใจในการคัดข่าวมากขึ้น และจะพยายามปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนี้ให้ดีที่สุด