วรรณคดีสโมสร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “วรรณคดีสโมสร”ขึ้น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พุทธศักราช 2457 เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย โดยคัดเลือกหนังสือที่แต่งดี มีสารประโยชน ์ เพื่อประกาศยกย่องหนังสือนั้น และพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ประทับตราพระราชลัญจกรรูปพระคเณศ เพื่อประกาศเกียรติคุณเช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชลัญจกรตรามังกรคาบแก้วเป็นเครื่องหมายของโบราณคดีสโมสร นับว่าเป็นครั้งแรกของรางวัลวรรณกรรมที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ หนังสือที่กำหนดให้ได้รับการพิจารณาตามความหมายในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ

  1. กวีนิพนธ์ คือ งานประพันธ์  โคลง  กลอน กาพย์   ฉันท์
  2. ละครไทย คือ เนื้อเรื่องที่ประพันธ์เป็นกลอนแปด แต่งเป็นกลอนแปด มีกำหนดน่าพาทย์ฯลฯ
  3. นิทาน คือ เรื่องราวอันผูกขึ้นและแต่งหรือประพันธ์เป็นร้อยแก้ว
  4. ละครพูด คือ เนื้อเรื่องที่เขียนขึ้นสำหรับแสดงบนเวที ละครแบบไทย ได้มาจากตะวันตก เป็นละครที่ไม่แต่งเครื่อง อย่างละครรำ แต่แต่งตัวตามสภาพชีวิตจริง แสดงกริยาทาทางอย่างคนจริงๆ และจัดฉากจริงๆ ตามเนื้อเรื่อง (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดริเริ่มขึ้น)
  5. อธิบาย คือ เอสเซย์หรือ แปมเฟลต แสดงด้วยศิลปวิทยาหรือกิจการอย่างใด อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ตำราหรือแบบเรียน หรือความเรียงเรื่องโบราณคดี พงศาวดาร เป็นต้น

วรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรรัชกาลที่ ๖ หรือบางทีเรียกว่า “ยอดของหนังสือ” ที่แต่งดีในแต่ละประเภท ดังนี้

  • ประเภทลิลิต ได้แก่ ลิลิตพระลอ  เป็นยอดของลิลิต
  • ประเภทฉันท์ ได้แก่ สมุทรโฆษคำฉันท์ หรือ ฉันท์สมุทรโฆษ เป็นยอดของฉันท์
  • ประเภทกาพย์ ได้แก่ มหาชาติกลอนเทศน์ หรือ กาพย์มหาชาติคำเทศน์ (ปัจจุบันเรียกว่า ร่ายยาว) เป็นยอดของกาพย์
  • ประเภทความเรียงเรื่องนิทาน ได้แก่ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นยอดของความเรียงเรื่องนิทาน
  • ประเภทกลอนสุภาพ ได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  เป็นยอดของกลอนสุภาพ
  • ประเภทบทละครรำ ได้แก่ อิเหนา บทละคร (รำ) ในรัชกาลที่ ๒ เป็นยอดของกลอนบทละคร (รำ)
  • ประเภทบทละครพูด ได้แก่ หัวใจนักรบ บทละคร (พูด) ในรัชกาลที่ ๖ เป็นยอดของบทละคร (พูด)
  • ประเภทความเรียงอธิบาย ได้แก่ พระราชพิธีสิบสองเดือน  ในรัชกาลที่ ๕ เป็นยอดของความเรียงอธิบาย
  • ประเภทกวีนิพนธ์ ได้แก่ พระนลคำหลวง
  • ประเภทนิราศ ได้แก่ นิราศนรินทร์

ต่อมาภายหลังได้มีการพิจารณาหนังสือที่แต่งดีขึ้นอีก ได้แก่

  • ประเภทกาพย์เห่เรือ ได้แก่ กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นยอดของกาพย์เห่เรือ
  • ประเภทกลอนนิทาน ได้แก่ พระอภัยมณีหรือพระอภัยมณีคำกลอน ของสุนทรภู่ เป็นยอดของกลอนนิทาน
  • ประเภทบทละครร้อง ได้แก่ สาวเครือฟ้า เป็นยอดของบทละครร้อง
  • ประเภทบทละครพูดคำฉันท์ ได้แก่ มัทนะพาธา เป็นยอดของบทละครพุดคำฉันท์

กิจการของวรรณคดีสโมสรได้สิ้นสุดลงหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2468 จนกระทั่งวันที่ 5 ตุลาคม พุทธศักราช 2474 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุ ภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ได้ทรงจัดตั้ง “สมาคมวรรณคดี” เพื่อประชุม ปรึกษาหารือและสนับสนุนการแต่งและแปลหนังสือให้ถูกแบบแผน มีการออกหนังสือประจำรายเดือน เรียกว่า บันทึกของสมาคมวรรณคดีอย่างไรก็ตามสมาคมนี้เป็นเพียงเอกเทศมิได้ขึ้นกับรัฐบาล แม้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะทรงมีวัตถุประสงค์ให้สมาคมเป็นเช่นวรรณคดีสโมสร แต่ยังมิ ทันจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชาอนุมัติต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมาคมก็ต้องหยุดชะงักไปในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2475 ต่อมาพุทธศักราช 2485รัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง “สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ”  มีสำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม เป็นสำนักหนึ่งที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการแต่งหนังสือให้ถูกแบบแผนเพื่อรักษาวัฒนธรรมทาง  ภาษาและเผยแพร่วรรณคดีของชาติรวมทั้งมีการจัดตั้งวรรณคดีสมาคม และออกวารสาร “วงวรรณคดี” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวรรณคดีเช่นเดียวกับวรรณคดีสโมสร ครั้งรัชกาลที่ ๖

ปัจจุบันแม้ว่าสภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้ยกเลิกไป แต่ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน  ส่งเสริมสนับสนุนด้านภาษาและวรรณคดีไทย มีการคัดเลือกและให้รางวัลหนังสือดีเด่นประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพุทธศักราช 2553 นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ” โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อส่งเสริมการศึกษาคนคว้า สืบค้นรวบรวมและพิจารณาวิวินิจฉัยข้อมูลเกี่ยวกับวรรณคดีไทย จัดทำหนังสือประวัติวรรณคดีไทย รวมทั้งมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาหนังสือที่แต่งดีและประกาศยกยองให้เป็นหนังสือดีเด่น ตลอดจน เผยแพร่วรรณคดีให้แพร่หลายอย่างกว้างขวาง

แหล่งอ้างอิง :

เบญจมาส แพทอง, เรียบเรียง. การยกย่องวรรณคดีไทย : วรรณคดีสโมสร. https://identity.opm.go.th/identity/doc/nis04441.PDF

วรรณคดีสโมสร. https://th.wikipedia.org/wiki/วรรณคดีสโมสร

อาทิตย์ ศรีจันทร์. วรรณคดีสโมสรกับองค์ความรู้ เรื่องวรรณกรรมในสังคมไทย: ข้อวิพากษ์ในบริบทของสังคมการเมืองของ การทำให้เป็นสมัยใหม่ (Modernization).  สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 ม.ค. – เม.ย. 2559

 

Leave a Reply