แนวโน้มการวิจัยสู่ความยั่งยืนของห้องสมุด

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ ซึ่งจัดโดยชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา ชมรมห้องสมุดเฉพาะ และชมรมผู้สอนวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ เรื่องแนวทางการพัฒนาห้องสมุดที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีอยู่หัวข้อหนึ่งซึ่งวิทยากรเป็นอาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือ รองศาสตราจารย์ ดร. พิทักษ์ ศิริวงศ์ หรืออาจารย์ติ๊ก ได้พูดถึงเรื่องแนวโน้มการวิจัยสู่ความยั่งยืนของห้องสมุดในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

พอดีเห็นว่าช่วงนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องการพัฒนาห้องสมุดไปสู่ความยั่งยืนอยู่บ่อย ๆ จึงได้เรื่องหัวข้อที่อาจารย์ได้พูดในการประชุมนี้มาเล่าสู่กันฟังโดยสรุป ส่วนหัวข้ออื่น ๆ ก็น่าสนใจเช่นกัน หากมีเวลาจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อ ๆ ไป

อาจารย์ได้กล่าวถึง ประเด็นวิจัยสำหรับห้องสมุดภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เช่น
– กิจกรรมด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของห้องสมุด หรือแนวปฏิบัติที่ดีของห้องสมุดด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงาน หรือการลดของเสีย
– ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาห้องสมุดให้มีความยั่งยืนมากขึ้น
– การมีส่วนร่วมของชุมชน อาจทำการวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของห้องสมุดกับการมีส่วนร่วมของชุมชน
– ความร่วมมือและการสร้างความเป็นหุ้นส่วน ด้วยการสร้างความร่วมมือกับสถาบัน องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในห้องสมุด
– การออกแบบห้องสมุด อาจทำการวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบห้องสมุดอย่างไรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
– การปรับตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– ข้อมูลและการวิจัย เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของห้องสมุด หรือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
– การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
– ข้อพิจารณาทางการเงิน
– การสร้างประสบการณ์ผู้ใช้
– โปรแกรมด้านนวัตกรรม เป็นการวิจัยถึงนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความยั่งยืน หรือแนวปฏิบัติที่ดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
– การฉลาดรู้ด้านข้อมูลและสารสนเทศเพื่อความยั่งยืน
– ห้องสมุดสีเขียว

ในการวินจัยควรมีการเลือกใช้วิธีวิทยา (Methodology) ที่เหมาะสมกับการวิจัย เช่น งานวิจัยเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ งานวิจัยแบบผสานวิธี งานวิจัยแบบผสมผสาน งานวิจัยแบบกรณีศึกษา การวิจัยแบบเปรียบเทียบ เป็นต้น