ท่องเที่ยวภาคเหนือ วัดศรีพันต้น

วัดศรีพันต้น ตั้งอยู่ที่ ถนนเจ้าฟ้า ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเขตเทศบาลเมืองน่าน สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ. 1960 – 1969 ) ชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ซึ่งในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนแล้ว

วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2505 ภายในวัดมีวิหารที่สวยงาม ตั้งเด่นเป็นสง่ามีสีทองระยิบระยับ เป็นอีกวัดหนึ่งในจังหวัดน่านที่มีจิตรกรรมปูนปั้นที่สวยงามโดยเฉพาะพญานาคเจ็ดเศียร เฝ้าบันได หน้าวิหารวัด สีทองเหลืองอร่ามสวยงามตระการตา มีความสวยงามมาก  ดูอ่อนโยนมีชีวิตชีวา ซึ่งปั้นแต่งโดยช่าง ชาวน่านชื่อ นายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ “สล่ารง” และภายในวิหารได้มีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้า และประวัติ การกำเนิด เมืองน่าน โดยช่างชาวน่าน เป็นภาพ เขียนลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

วัดศรีพันต้นเคยเป็นที่พำนักของหลวงปู่ครูชันทะ อดีต เจ้าอาวาสวัดศรีพันต้น ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ มีวิชารักษาคนป่วย ด้วยการเป่าคาถาเสกน้ำมนต์และการใช้สมุนไพรพื้นบ้านรักษาได้ผลดีมาก โดยเฉพาะโรคกระดูกและแผลอักเสบจากตุ่มฝีหนอง ตลอดชีวิต ของหลวงปู่ครูบาชันทะ ท่านได้เมตาไปรักษาคนป่วยในโรงพยาบาลน่าน เป็นประจำทุกวันจนถึงแก่มรณะภาพ

เรือพญาฆึ เรือโบราณ

นอกจากตัวพระวิหาร และพุทธประติมากรรมแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “เรือพญาฆึ” (ฆึ แปลว่า ใหญ่โต อลังการ) โดยที่มาของชื่อเรือมาจากที่ผู้คนได้มาพบเห็นเรือลำนี้ต่างเกิดความประหลาดใจในรูปร่าง ทรวดทรงของเรือที่มีลักษณะใหญ่โต สวยงาม เป็นสง่าอย่างมาก ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่า “ฆึ” ทั้งยังมีหัวเรือรูปพญานาคที่มีลวดลายต่างจากที่อื่น จึงเรียกชื่อรวมกันว่า “เรือพญาฆึ” ตั้งแต่นั้นมา

เรือพญาฆึ สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2545 ส่วนเรือเกียรติประวัติสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2546 สล่ารงค์หรือคุณอนุรักษ์ สมศักดิ์ ชาวชุมชนศรีพันต้น เป็นผู้สร้างเรือลำนี้ขึ้น แต่เดิมสล่า(ช่าง) มีความถนัดและเชี่ยวชาญในงานปั้นต่างๆ โดยเฉพาะงานปั้นที่เกี่ยวกับวัด ในเรื่องของการสร้างเรือนี้ สล่ารงค์ มีความรักในศิลปะของเรือมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มจากการวาดภาพเรือแข่งก่อน และได้ส่งรูปเรือแข่งที่ตนเคยวาดไว้นั้น จะต้องได้รับการสร้างขึ้นมาและนำไปแข่งจริง จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้ตนมีความมุมานะในการสร้างเรือของชุมขนเมื่อเติบโตขึ้น โดยผู้ที่ร่วมกันสร้างเรือพญาฆึมีอยู่ด้วยกัน 5 คน ด้วยกันได้แก่ ช่างรงค์ บ้านศรีพันต้น ช่างทองใบ บ้านน้ำปั้ว ช่างดำ อำเภอท่าวังผา ช่างมาด บ้านปง และช่างบุญเทียม อำเภอทุ่งช้าง โดยทั้ง 5 คนนี้เป็นผู้ร่วมสร้างเรือพญาฆึด้วยกัน ไม้ที่นำมาสร้างนั้นเป็นไม้ตะเคียนที่อยู่ในป่าสุสาน บ้านดอนเฟือง ซึ่งเป็นไม้ที่ล้มลงใกล้กับเมรุเผาศพ จึงไม่มีใครกล้านำไปใช้ประโยชน์ เพราะด้วยเป็นไม้ใหญ่ที่อยู่ในป่าสุสาน ซึ่งก่อนที่จะนำไม้นี้มาสร้างเรือ ต้องมีการทำพิธีกรรมทางศาสนาก่อน

เรือพญาฆึ เป็นเรือขุดที่ใช้ไม้สองท่อนมาต่อกันจากไม้ต้นเดียว ตัวเรือจะมีลักษณะหางทรงกาบหมากไม้ มี 3 ช่วงคือ ช่วงต้นจะมีลักษณะโค้งงอเรียว ตรงกลางจะเป็นลักษณะท้องปลิงป่อง และช่วงปลายจะมีลักษณะเรียวยาว ตัวเรือคล้ายคลึงกับเรือของชุมพร ส่วนรูปลักษณะและลวดลายของเรือพญาฆึจะมีลักษณะแตกต่างไปจากเรือแข่งน่านทั่วไปคือ สล่าสร้างเรือได้พยายามนำเอาศิลปวัฒนธรรมของล้านนามาประดับตกแต่งเรือให้มากที่สุด แตกต่างจากเรือของชุมชนอื่นอย่างได้ชัด หลายคนที่พบเห็นเรือลำนี้ก็จะกล่าวในทำนองเดียวกันว่า เป็นเรือที่แปลกสะดุดตา ลวดลายของเรือพญาฆึจะมีดอกประจำยามหลายดอกเรียงกันอย่างสวยงาม ผสมกับลายเครือเถา ลายกนกแบบล้านนาที่มีความอ่อนช้อย ซึ่งปกติเรือลำอื่นจะมีดอกประจำยามเพียงแค่ดอกเดียวเท่านั้น

การลงแข่งในสนามของเรือพญาฆึครั้งแรกนั้นใช้ชื่อว่า “เรือเลิศเกียรติศักดิ์” ซึ่งมีความหมายว่า มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สุดยอดไม่มีใครเทียบเท่า เรือพญาฆึสามารถบรรจุฝีพายได้ทั้งหมด 71 คน มักนำไปแข่งขันประเภทเรือสวยงามมากกว่าที่จะนำลงไปแข่งแบบชิงถ้วยรางวัล เพราะเรือพญาฆึเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ย่อมแล่นได้ช้ากว่าเรือที่ลำเล็กกว่า ซึ่งเรือพญาฆึจะถูกออกนำมาจัดแสดงในตอนพิธีเปิด-ปิดสนามงานแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน และผู้คนที่มาเที่ยวเยี่ยมชมงานแข่งเรือเมืองน่านส่วนใหญ่ต่างก็รู้จักชื่อเสียงของเรือพญาฆึดี และเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือเมืองน่านในช่วงงานประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดน่าน เพราะเรือพญาฆึเป็นเรือโบราณขนาดใหญ่ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน เนื่องด้วยการสร้างเรือตามแบบโบราณนั้น จะหาเนื้อไม้ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเรือได้ยากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยให้ความสนใจในศิลปะการสร้างเรือ ทำให้หาผู้สืบทอดได้ยาก

ปัจจุบันหากใครได้มาเยี่ยมชมความงามของวิหารกาญจนาภิเษกของวัดศรีพันต้นแล้ว ก็จะไม่พลาดที่จะแวะชื่นชมความใหญ่โตของเรือพญาฆึไปในขณะเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมคู่ชุมชนและวัดศรีพันต้นมาแต่โบราณ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งภายในและภายนอกจังหวัดน่าน

* แหล่งที่มาข้อมูล https://www.paiduaykan.com/province/north/nan/watsripanton.html