บริการห้องละหมาด : หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์

ห้องละหมาด (Prayer Room) เป็นบริการพิเศษที่หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดไว้สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ให้ได้มีสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาได้ตลอดเวลาที่เข้ามาใช้บริการในหอสมุดฯ โดยจัดสถานที่ ณ บริเวณชั้น 3 อาคารหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เข้ามาใช้ห้องละหมาด เช่น ผ้าปูรองพื้นสำหรับละหมาด เป็นต้น

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา ดิฉันได้มาปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทางเข้า ได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการหอสมุดฯ สามารถเข้าใช้ห้องละหมาดได้หรือไม่ ดิฉันจึงแจ้งผู้ใช้บริการว่าสามารถเข้าใช้ได้

ข้อดีของการละหมาด คือ การฝึกฝนให้เป็นคนตรงต่อเวลา มีความอดทน และขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่ประพฤติสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางชั่วร้าย สำหรับมุสลิมแล้วการละหมาดถือเป็นกุญแจของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม และยังส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณอีกด้วย การละหมาดที่ถูกต้องสมบูรณ์สามารถพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์ อารมณ์นิ่งสงบ รักและเมตตาต่อเพื่อน มีทักษะในการใช้ชีวิตในสังคม และสุขภาพจิตดี โดยการละหมาดเป็นบัญญัติที่สำคัญของศาสนาอิสลามที่มุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติ เป็นการสรรเสริญพระเกียรติคุณ การวิงวอนขอพร และการขออภัยโทษต่อพระองค์

พระใบฎีกากฤษฎา กตปุญฺโญ และ ณัทธีร์ ศรดี (2565) ได้สรุปไว้ดังนี้ 1) การละหมาด เป็นการทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ คือมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง ทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ คือการเข้าใจตัวเองว่า สิ่งที่เรากระทำอยู่เพื่อใคร และมีประโยชน์หรือมีโทษมากน้อยเพียงไร 2) เป็นการให้ความเคารพต่อศาสนาและพระศาสดา การรู้จักให้ความเคารพต่อศาสนาของตนเอง มุสลิมทุกคนต้องสามารถที่จะทำกิจกรรมดังกล่าวได้เช่นกัน เพียงต่างสถานที่ กรณีการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีความหนักแน่น 3) การละหมาด ถ้ามองทางกายภาพมีความใกล้เคียงกับการททำโยคะ คือมีการลุก นั่ง นมัสการ มีการยืดแขนขา ทำให้กล้ามเนื้อขยับ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการแห่งโยคะ การละหมาด เป็นการแสดงความเคารพนับถือต่อศาสนานั้น ๆ และ 4) กิจกรรมที่ปลุกจิตสำนึกให้คนสนใจการละหมาด การละหมาด จะเป็นกิจกรรมประจำวันที่ผู้ใหญ่ควรทำให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง และชวนเด็กให้ปฏิบัติตามตลอด ดังคำกล่าวที่ว่า “ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน”

การเปิดให้บริการ : ห้องละหมาดเปิดให้บริการทุกวัน ตามที่หอสมุดฯ เปิดบริการ

 

อ้างอิง

พระใบฎีกากฤษฎา กตปุญฺโญ, และ ณัทธีร์ ศรดี. (2565). การศึกษาเปรียบเทียบการสวดมนต์ของชาวพุทธกับการละหมาดของชาวมุสลิมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข: ศึกษากรณีชุมชนหนองจอก กรุงเทพมหานคร. วารสารวิชาการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร, 5(4), 24-40.

วินัย ดะห์ลัน. (2560). การละหมาดช่วยคลายกล้ามเนื้อลดปวดหลัง. สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, 64(31), 59.

อาแว วาลี. (2562). การละหมาดกับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และการเรียนรู้อย่างมีความสุขของเยาวชนมุสลิมจังหวัดนราธิวาส. วารสารอัล-นูร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา, 14(26), 1-14.