ซูเปอร์มูน ในรอบ 14 ปี (Supermoon in August 2023)

ชูเปอร์มูนคืออะไร?

ซูเปอร์มูน คือ ดวงจันทร์ที่เห็นโตกว่าปกติ ถ้าเป็นจันทร์เพ็ญจะเห็นความแตกต่างระหว่างจันทร์เพ็ญที่เป็นซูเปอร์มูนและจันทร์เพ็ญที่เป็นจันทร์เพ็ญปกติชัดเจนมาก ทั้งนี้เพราะพื้นที่ของซูเปอร์มูนจะมากกว่าพื้นที่ของจันทร์เพ็ญปกติถึง 30% หรือถ้าเปรียบเทียบเส้นผ่านศูนย์กลางซูเปอร์มูนจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าจันทร์เพ็ญปกติ 15% สาเหตุที่ดวงจันทร์มีขนาดเปลี่ยนแปลงเพราะวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นวงรี จึงมีจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด (perigee) และจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุด (apogee) ถ้าจันทร์เพ็ญอยู่ที่จุดใกล้โลกที่สุดจะเป็นจันทร์เพ็ญซูเปอร์มูน ในขณะที่จันทร์เพ็ญซึ่งเกิดขณะอยู่ไกลโลกที่สุดจะเป็นจันทร์เพ็ญเล็กที่สุดซึ่งเล็กกว่าจันทร์เพ็ญปกติ

ที่มาของคำว่าซูเปอร์มูน

นักโหราศาสตร์ชื่อ ริชาร์ด โนลล์ (Richard Nolle) เรียกดวงจันทร์เพ็ญและจันทร์ดับที่โตกว่าปกติเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้วว่า ซูเปอร์มูน  การเกิดซูเปอร์มูน เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์อยู่ที่จุดใกล้โลกที่สุด หรือจุดที่ใกล้จุดนี้ไม่น้อยกูว่า 90% ใน 1 ปี จะมีซูเปอร์มูนเฉลี่ย 4 – 6 ครั้ง ดวงจันทร์เพ็ญจะอยู่ตรงจุดใกล้โลกที่สุดทุก ๆ 1 ปี 1 เดือน 18 วัน หรือ ทุก ๆ 1 ปี 48 วัน

(ซูเปอร์มูน (Supermoon): https://www.scimath.org/article-earthscience/item/12621-2022-07-25-08-20-30-25)

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาดูได้ยาก อย่าง “ซูเปอร์บลูมูน” (super blue moon) ที่รับชมได้ด้วยตาเปล่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้ เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา เพราะเกิดปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ 2 เหตุการณ์พร้อมกัน คือ “ซูเปอร์มูน (supermoon)” และ “บลูมูน (blue moon)”

ปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน มักเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกที่สุด หรือมีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร ทำให้มันมีขนาดใหญ่ และส่องสว่างมากกว่าปกติในท้องฟ้ายามค่ำคืน ปรากฏการณ์บลูมูน เป็นชื่อเรียกพระจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ระบุว่า เมื่อคืนวันที่ 30 สิงหาคม ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ โดยมีขนาดใหญ่กว่าเดิมประมาณ 7% และสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ส่วนเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 ส.ค. ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 ส.ค. ดูได้ด้วยตาเปล่า เมื่อมองไปทางทิศตะวันออก

ซึ่งปรากฎการณ์นี้ 14 ปีมี 1 ครั้ง สมาคมดาราศาสตร์แห่งไอร์แลนด์เหนือ ระบุว่า ปรากฏการณ์ซูเปอร์บลูมูนไม่เคยเกิดขึ้นเลยนับตั้งแต่ปี 2552 หรือ 14 ปีที่แล้ว และเมื่อเกิดขึ้นในวันนี้ จะไม่ปรากฎให้เห็นอีก จนกระทั่งปี 2580 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า “แต่ละปี คนเราจะได้เห็นดวงจันทร์เต็มดวง 12 ครั้ง แต่คุณต้องรอให้เกิดดวงจันทร์เต็มดวงครบ 168 ครั้ง จึงจะได้เห็นปรากฏการณ์ซูเปอร์บลูมูนสักครั้ง” (ย้อนชมปรากฎการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน” ที่ 14 ปีจะเกิดสักครั้งในไทยและทั่วโลก : https://www.bbc.com/thai/articles/cqeq9njr9l2o)

sp2.jpg 1_sp1.jpg

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แหล่งอ้างอิง :

ย้อนชมปรากฎการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน” ที่ 14 ปีจะเกิดสักครั้งในไทยและทั่วโลก . สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566, จาก https://www.bbc.com/thai/articles/cqeq9njr9l2o
นิพนธ์ ทรายเพชร. (10 มกราคม 2566). ซูเปอร์มูน (Supermoon) สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566, จาก https://www.scimath.org/article-earthscience/item/12621-2022-07-25-08-20-30-25