ตามติดชีวิตลูกหาบ@ภูกระดึง

จากประสบการณ์การเดินทางขึ้นภูกระดึงมา 10 ครั้งที่ผ่านมา ในแต่ละครั้งดิฉันได้ใช้บริการลูกหาบทุกครั้ง บางครั้งของการเดินทางที่เราเดินทางไปในช่วงที่นักท่องเที่ยวน้อย  ก็จะขาดแคลนลูกหาบเป็นธรรมดา หรือบางครั้งที่เราเดินทางไปในช่วงฤดูกาลที่ลูกหาบกำลังทำนา/เก็บเกี่ยวข้าว ก็จะขาดแคลนแรงงานลูกหาบอีกเช่นกัน เราก็อาจจะต้องแบกสัมภาระที่จำเป็นขึ้นไปสำหรับใช้ในคืนแรกก่อน และหลังจากนั้นลูกหาบที่มีจำนวนจำกัดก็จะพยายามจัดสรรเวลาเพื่อหาบสัมภาระตามขึ้นไปให้เรา หรือบางครั้งลูกหาบต้องแบกถึง 2 รอบ (เพิ่มรอบหาบ)  สัมภาระก็อาจจะถึงเราในช่วงดึก ๆ ประมาณ 3-4 ทุ่ม ซึ่งในช่วงดังกล่าวเป็นเวลาเดินทางที่ค่อนข้างอันตรายมาก ในระหว่างการเดินทางขึ้นภูกระดึงในแต่ละครั้ง ดิฉันได้เคยสนทนาพูดคุยสอบถามกับพี่ ๆ น้อง ๆ ลูกหาบหลายราย เกี่ยวกับจำนวนน้ำหนักที่หาบอยู่บนบ่า บางรายแบกน้ำหนักสูงมากถึง 100 กว่ากิโลกกรัม เมื่อนำมาคำนวณรายได้คือ 100 กิโลกรัม บางรายเอาพอไหว คือ 60-70 กิโลกรัม บางรายมาทำงานกันทั้งครอบครัว คือ ภรรยาและลูก ๆ เรียกได้ว่าแบกกันทั้งครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่เด็กน้อยที่อายุประมาณ 8-15 ขวบปี เท่าที่เห็นก็จะแบกเป้ใบที่น้ำหนักไม่มากเช่น อยู่ระหว่าง 5-10 กิโลกรัม บางครอบครัวก็จะแบ่งงานกันทำ คือ นำรถเข็นมารอที่บนหลังแป เพื่อที่จะเข็นของจากหลังแปใส่รถเข็นไปถึงยังที่ทำงานการฯ บางรายสามี-ภรรยา หรือคู่พี่-น้อง-ญาติ-เพื่อน ก็จะมีการแบ่งระยะสลับกันหาบ จากการสอบถามพบกว่า รองเท้าที่บรรดาลูกหาบนิยมใช้และเอาอยู่คือ “สตั๊ดดอย” ไม่ว่าสภาวะอากาศแบบใดก็เอาอยู่ ต่อให้ฝนมาก็เกาะพื้นไม่ลื่นล้มได้ แต่ดิฉันก็ยังไม่เคยทดลองเหมือนกัน เคยสอบถามว่าถ้าแบกคน คิดราคาอย่างไร พอทราบราคาว่า หากน้ำหนักอยู่ระหว่าง 40-55  กิโลกรัม คิดที่ 4,500 – 5,000 บาท ต่อ 1 เที่ยว สามารถต่อลองกันได้ แต่จะต้องเดินลงเองให้พ้นจุดที่ชันที่สุด ที่เป็นบันไดลิง 90 องศาฯ ซึ่งไม่สามารถแบกลงได้ ค่อนข้างอันตรายมาก เคยสอบถามว่าในระหว่างแบกสัมภาระขึ้นภูกระดึงในเวลาตี 4 เคยเจอสัตว์ป่า/ช้างป่าบ้างหรือไม่ พี่ ๆ ตอบเว่าเคยเจอซิ เลยถามเป็นแนวปฏิบัติว่า แล้วทำอย่างไรกัน พี่ ๆ บอกว่าก็ต้องวางของลงบนพื้นก่อน เพื่อให้พ่อใหญ่เขาสูดดมกลิ่น เป็นการเบี่ยงเบนจุดสนใจนั่นเอง จากนั้นก็วิ่ง จึงถามว่า แล้วเราควรจะวิ่งขึ้นหรือวิ่งลงเขาดีกว่า พี่ ๆ ตอบว่า ก็ต้องวิ่งขึ้นเขาซิ ถ้าวิ่งลงก็สบายพ่อใหญ่เขาละ และพี่ ๆ เตือนด้วยความหวังดีว่า เวลาเข้าป่าอย่าถามหาสัตว์ป่าหรือพ่อใหญ่ รวมถึงสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตนเปล่าเพราะจะเป็นการท้าทาย

 

อาชีพลูกหาบเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ไม่น้อยแต่ก็ต้องยอมรับว่า ต้องแลกด้วยสุขภาพในบั้นปลายชีวิตของพวกเขา บางรายจบด้วยปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับกระดูกข้อเข่า ข้อขา กระดูกสันหลัง เป็นต้น  แต่ก็เป็นอาชีพที่รายได้ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน เมื่อถึงวันหนึ่งก็ต้องปลดระวางตัวเองออกจากวงการลูกหาบก่อนวัยอันควร  และที่สำคัญในช่วง 4 เดือนของฤดูฝน (1 มิถุนายน – 30 กันยายน ของทุกปี) เป็นช่วงของการปิดป่าเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ส่งผลให้บรรดาลูกหาบก็ตกงานขาดแคลนรายได้ในระหว่าง 4 เดือนนี้ จำต้องไปหางานอื่นทำเพื่อสร้างรายได้

 

ในแต่ละครั้งดิฉันได้เห็นภาพการแบกสัมภาระของบรรดาลูกหาบ รู้สึกถึงความหนัก ความเหน็ดเหนื่อย ความล้าของร่างกาย มองชีวิตลูกหาบแล้วเหลียวมองตนเองทำให้เห็นสัจธรรมของชีวิตคนเราได้หลายอย่าง  ลูกหาบแต่ละคนจะมีลำโพงเพื่อเปิดเพลงฟังไปตลอดทางในระหว่างการหาบฯ จากการสอบถามพบว่าเป็นการปลุกพลังและกระตุ้นอารมณ์ และสังเกตเห็นว่า บรรดาลูกหาบส่วนใหญ่จะเดินแกว่งแขนข้างที่บ่าว่างไปตลอดเวลา จากการสอบถามคือ เพื่อสร้างความสมดุลน้ำหนักและเพื่อลดความเหนื่อยล้าลงได้บ้าง  ในทุกครั้งที่ติดต่อรับสัมภาระจากลูกหาบดิฉันก็จะให้ทิปเล็ก ๆ น้อย ๆ กับบรรดาลูกหาบเสมอเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พวกเขาดำรงอาชีพนี้ต่อไป เพราะหากขาดอาชีพลูกหาบนี้ไป ดิฉันและนักท่องเที่ยวอีกหลายคนก็คงหมดโอกาสขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเช่นกัน