How to ก่อนขึ้นภูกระดึงแบบฟิน ๆ

จากประสบการณ์การเดินทางไปภูกระดึงมา 9 ครั้งของดิฉัน ในแต่ละครั้งก็จะนำข้อมูลมาเตรียมตัวในครั้งต่อ ๆ ไปเสมอ และในครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 10  เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ – 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่มีผู้ติดตามเยอะมากที่สุด คือ ได้มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ติดตามไปด้วย และที่สำคัญเป็นการเดินทางขึ้นภูกระดึงครั้งแรกของทุกท่านเสียด้วย  สภาพแวดล้อมทางกายภาพตั้งแต่การเดินทางค่อนข้างลำบาก สะดวกสุดคือการนั่งรถโดยสารประจำทางไปนั่นเอง  ต่อให้ขับรถยนต์ได้และมีรถยนต์ส่วนตัวก็ใช่ว่าทริปภูกระดึงนี้คุณจะสามารถขับไป-กลับได้ เพราะหลังจากลงจากภูกระดึงขาอาจจะสั่น ไม่มีแรง ปวดขา และอื่น ๆ อีกหลายอาการ เป็นต้น  และในเรื่องการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ บนภูกระดึง เช่น การเดินทางขึ้น-ลง  การกิน การนอน การอาบน้ำ การเข้าสุขา เป็นต้น ทุกอย่างไม่สุขสบายเหมือนที่บ้านอย่างแน่นอน หลายครั้งระหว่างทางเดินขึ้น-ลง หรืออ่านเจอจากสื่อโซเชียล เรามักจะได้ยินคำว่า มาทำไม อยู่บ้านดี ๆ ทำไมไม่ชอบ จะขึ้นมาทำไมให้ลำบาก  ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ผ่านจุดนี้มาแล้วเมื่อ 20 กว่าปีก่อน  เป็นครั้งแรกที่บ่นไม่หยุดปาก มาทำไม  เข็ดแล้ว อยู่บ้านสบาย ๆ ไม่ชอบ จนในวันนั้นลั่นวาจาตั้งแต่บนภูกระดึงไว้ว่า เป็นตายอย่างไรก็จะไม่มาอีกแล้ว แต่เมื่อความเหน็ดเหนื่อยจางหาย ร่างกายหายจากการบาดเจ็บและอ่อนเพลีย ความคิดถึงความเงียบสงบและธรรมชาติบนภูกระดึงก็เข้าหลอกหลอนในความคิดตลอดเวลา รู้สึกโหยหาจนมีครั้งที่ 10 และจะไม่หยุดที่ 10 จะยังคงมีครั้งต่อ ๆ ไปแบบไม่สิ้นสุดจนกว่าจะไม่มีแรงปีนขึ้นไป

ในทุก ๆ ครั้ง ที่ดิฉันได้เดินทางไปภูกระดึง ก็จะพบเจอประสบการณ์แตกต่างกันไป จึงได้รวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากปัญหาตลอดจนแนวทางปรับแก้ฯ การเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกายและสิ่งของฯ เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการเดินทางไปภูกระดึงครั้งแรกของเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ไม่มากก็น้อย มีดังนี้

  1. กระเป่าใส่เสื้อผ้า จะเป็นเป๋าผ้า เป๋าเป้ หรือกระเป๋าใดๆ เอาที่สะดวก แต่ ไม่ควรเอาเป๋าแบรนด์เนมไป เพราะกระเป๋าของเราจะสมบุกสมบันมาก หากตอนส่งไปชั่งแล้วลูกหาบจัดเรียงกระเป๋าเราได้อยู่ข้างล่างก็จะถูกทับโดยกระเป๋าอื่น สิ่งของที่อาจแตกหักได้ควรเอาออกมาถือเอง หรือไม่ก็ต้องแพคให้ดีก่อน
  2. ฤดูกาลบนภูกระดึงไม่แน่นนอน บางครั้งไปหน้าหนาว/ร้อน แต่ก็อาจพบฝนได้เช่นกัน เพราะบางครั้งแดดร้อนๆ ลูกหาบก็คาดไม่ถึง อาจจะมีฝนเทลงมาระหว่างทางได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันกระเป๋าเปียกฝน เราอาจจะต้องเตรียมถุงพลาสติกใหญ่ใส่เสื้อผ้าแล้วค่อยใส่นำถุงใส่กระเป๋า หรือจะเอาถุงพลาสติกใหญ่สวมกระเป๋าไว้ชั้นนอกก่อนก็ได้ หรือหากมีกระเป๋าสามารถกันน้ำก็สะดวกดี
  3. เป้น้อย/หรือกระเป๋าหรับหรับใส่สำภาระส่วนตัว จะเป็นถุงผ้า ถุงหิ้วใด ๆ ก็แล้วแต่ สำหรับพกติดตัวไปตลอดเวลา เช่น น้ำดื่มแก้กระหาย ขนมจุกจิก ลูกอม ยาดม ยาหม่อง หมวก เสื้อกันฝน
  4. รองเท้าแตะเบาๆ ใส่เป้น้อยไว้ติดตัวตลอดเวลา เพราะบางครั้งรองเท้าที่เราไว้ใจ ไม่ว่าจะราคาแพงแค่ไหนก็อาจทรยศเราได้
  5. กระเป๋าคาดเอว (ถ้ามี) ไม่มีก็ไม่เป็นไร จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับใส่เงินเล็กน้อยที่จะใช้จ่าย โทรศัพท์เวลาจะหยิบถ่ายรูป หยิบง่าย ใช้คล่อง เวลาปีนภูเขา จะไม่สะดวกเลยถ้าต้องหยิบของเข้า-ออกในกระเป๋าจากเป้บนหลัง
  6. ไม้ปีนเขา (ถ้ามี) เมื่อเราปักไม้ฯ ลงพื้น อุปกรณ์นี้ จะช่วยพยุงตัว รักษาสมดุลของร่างกาย เพราะว่าในขณะที่เดินขึ้น “เขา” เราจะพบกับลักษณะทางกายภาพแวดล้อมที่หลากหลาย อีกทั้งยังต้องแบกสัมภาระเล็กน้อยที่ติดตัวไป อาจจะทำให้ทรงตัวได้ยากขณะเดิน จนอาจก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าได้ แต่ถ้าเราไม่นำไปเองก็สามารถใช้ไม้ไผ่ที่วางบริการ ณ ตีนภู ได้เช่นกันนะคะ
  7. ไฟฉาย ที่เป็นไฟฉายจริง ๆ ไม่ใช่ฟังก์ชั่นไฟฉายในโทรศัพท์มือถือ ควรตรวจสอบเปลี่ยนถ่านหรือชาร์ตไฟให้เต็มก่อนพกติดตัวไป
  8. Power Bank (ถ้ามี) เพราะการชาร์ตไฟบนภูกระดึง ไม่ง่าย ไม่ไว ไม่มีบริการมากเพียงพอ เนื่องจากเป็นกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ และทุกจุดบริการต้องเสียเงิน ยกเว้นร้านค้าที่เรารับประทานอาหาร แต่ก็จะมีคนจำนวนมากรอมาชาร์ตกัน เต้าเสียบอาจไม่เพียงพอสำหรับเรา ทั้งนี้ แล้วแต่จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงนั้น ๆ นะคะ (กระไฟฟ้าบนที่ทำการฯ เฉพาะในส่วนของบ้านพัก จะดับในเวลา 21.00 น.) จะมีเครื่องขยายเสียงประกาศเตือนล่วงหน้า
  9. เสื้อกันฝน สภาพอากาศบนภูกระดึง อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางทีหนาว บางทีร้อน บางครั้งก็มีฝนตก ถ้าฝนตกก็จะมีสัตว์ไม่พึงประสงค์ คือ “ทาก” ขึ้นมาจากดินมากพอสมควร ดังนั้น เราก็ควรจะต้องมีเสื้อกันฝนและยากันทากหรือตะไคร้หอมพกติดตัวไปด้วย
  10. เสื้อแขนยาวเนื้อบางเบา/ปลอกแขน /หมวก/ ผ้าพันคอบางๆ ขนาดประมาณ 1 เมตรX1เมตร สำหรับไว้คลุมศีรษะ เพื่อกันแสง UV กันร้อนขณะเดินหรือขี่จักรยานท่องเที่ยวฯ
  11. เสื้อเนื้อหนาว เผื่ออากาศหนาวเย็นในช่วงกลางดึก (เที่ยงคืน-ตี5) แต่ถ้าหากเราเดินทางในช่วงฤดูหนาวอาจจะต้องเพิ่มเติมด้วยถุงมือ ถุงเท้า หมวกไหมพรม เป็นต้น
  12. ถุงผ้า /ถุงพลาสติกแบบบางเบา สำหรับใส่เสื้อผ้า/สัมภาระ/ผ้าขนหนู/อุปกรณ์อาบน้ำ เวลาเดินไปอาบน้ำ ณ ห้องน้ำสาธารณะ
  13. ผ้าห่ม/หมอน มีบริการให้เช่าบนภู แต่เกรงไม่สะอาด ก็ขนไปเอง แต่เอาแบบบางเบานะคะ
  14. ที่รัดข้อเข่าหรือข้อเท้าเพื่อพยุงและป้องกันการพลิก/อักเสบของกล้ามเนื้อ สำหรับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องนี้
  15. เหล็กตะขอตัว S จะเอาไว้แขวนถุงเสื้อผ้าในห้องน้ำ ควรแยก 2 ถุง (เสื้อผ้าใช้แล้ว-ยังไม่ใช้)  เนื่องจากหากเราพักในเต็นท์ ห้องน้ำสาธารณะอยู่ไม่ใกล้นัก ที่สำคัญในห้องน้ำมีเพียงราวน้อยนิด ไม่สามารถแขวนสิ่งของได้เพียงพอ สิ่งของอาจจะเปียกได้เวลาเราอาบน้ำ เพราะเป็นฝักบัวเป็นแบบฝังติดกับผนัง ควบคุมทิศทางไม่ได้ นอกจากนี้  ตะขอตัว S ยังใช้แขวนไฟฉายในเต็นท์เพื่อให้แสงจากไฟฉายส่องสว่างทั่วถึง
  16. ยารักษาโรคประจำตัวของแต่ละท่านและยาอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ยาลม ยาดม ยาหม่อง ยาคลายเส้น  ยานวด  ยากันทาก ยากันยุง พลาสเตอร์ยา ยาคลายกล้ามเนื้อ Norgesic (นอร์จีสิค) หรือยาบรรเทาอาการปวด Celebrex (เซเลเบร็กซ์) จากประสบการณ์ดิฉันรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ/ยาบรรเทาอาการปวดเช้า-เย็น ตลอดทริปช่วยลดอาการเจ็บปวดได้เป็นอย่างมาก
  17. ผงซักฟอกซองเล็ก ๆ หากต้องการจะซักล้างสิ่งใด ควรจะพกติดตัวไปด้วย
  18. ผ้าขนหนู/ผ้าเช็ดตัว จำเป็นต้องเตรียมไปเพราะไม่มีให้บริการ
  19. กระดาษทิชชูแห้งหรือเปียก ตามความสะดวก
  20. อาหาร เช่น หมูแผ่น หมูฝอย หมูหยอง น้ำพริกเผา ผลไม้ประเภทส้มเขียวหวาน และหมากฝรั่ง ลูกอม ขนมขบเคี้ยวทานเล่น ช่วยเพิ่มวิตามินและทำให้สดชื่นขณะเราเหน็ดเหนื่อย