ChatGPT จะมาทำหน้าที่แทนเรามั้ยน๊า

ก่อนหน้านี้เรื่อง ChatGPT เป็นหัวข้อสนทนากับหัวหน้าหอสมุดเกือบทุกวัน เพราะหลังจากที่มีการเปิดตัวว่า ChatGPT เป็นแชตบอทที่ไม่เหมือนแชตบอททั่ว ๆ ไป สามารถพูดคุยกับเราได้เหมือนเรากำลังพูดคุยกัน ว่าแล้วก็ไม่พลาด เข้าไปลองเล่นซะเลยว่า ChatGPT จะทำอะไรให้เราได้บ้าง หลังจากลองเล่นกันแล้ว ก็ทำให้มีการพูดคุยระหว่างเราเกิดขึ้นว่า “เจ๋งว่ะ” “ไม่น่าเชื่อว่ามันทำได้ขนาดนี้” เลยชักร้อน ๆ หนาว ๆ ว่า เจ้า ChatGPT จะมาทำหน้าที่แทนชาวบรรณารักษ์หรือเปล่าน๊า

แต่ก่อนนี้ ในแวดวงวิชาชีพก็มี Google เข้ามาทำให้เราร้อนหนาวไปบ้าง กว่าจะตั้งตัวได้ หรือแม้แต่ในปัจจุบัน ก็มักจะมีคำถามเหมือนกันว่า เราทำได้ดีหรือต่างจาก Google ตรงไหน ตอนนี้ยังจะมี ChatGPT เข้ามาอีก

ChatGPT เป็นแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เป็นการสื่อสารในรูปแบบการสนทนา ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI ว่ากันว่าช่วยเราได้แม้กระทั่งเรื่องยาก ๆ เช่น การเขียนโปรแกรม เขียนบทความ หรือแม้กระทั่งเขียนผลงานทางวิขาการ ฯลฯ ฟังดูแล้วน่าจะกระทบกับงาน/ภารกิจในแวดวงการการศึกษาอย่างเรา ๆ ซะด้วยซ้ำไป แถมยังมีคนบอกด้วยว่าระบบนี้จะมีการเรียนรู้การแก้ปัญหาในรูปแบบของการลองผิดลองถูก เพื่อค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาซะอีกด้วย

ChatGPT อาจจะยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นซึ่งกำลังเรียนรู้หรือรวบรวมข้อมูลต่างๆ ก็อาจจะมีข้อมูลที่ผิดพลาดไม่สมบูรณ์ให้เรา ๆ ท่าน ๆ ต้องพิจารณาหรือตัดสินใจในการใช้งานอยู่บ้าง ในการใช้งาน ChatGPT ก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน เพราะหน้า User Interface (UI) ของ chat GPT จะมีกล่องข้อความ (Text box) ที่ให้เราเริ่มเขียนคำถามหรือบทสนทนากับ AI ได้เลย ส่วนทางด้านซ้ายมือเราสามารถเพิ่ม หรือจัดการกับบทสนทนาที่เราเคยถามค้างเอาไว้ได้ หรือดำเนินบทสนทนาต่อจากที่เราเคยถามทิ้งไว้

ทีนี้เรามาลองดูกันว่า ChatGPT พูดคุยหรือตอบคำถามเราเป็นอย่างไรบ้าง โดยได้ลองตั้งคำถามเเกี่ยวกับเรื่องทางบรรณารักษศาสตร์คือ จรรยาบรรณของบรรณารักษ์ แล้วก็เรื่องการดูค่า Impact factor (กำลังอยากจะรู้เรื่อง 2 เรื่องนี้พอดี)…อะไรจะพอดีขนาดนี้

เริ่มจากไปที่ https://openai.com/blog/chatgpt/ แล้วคลิกที่ Try  (ขอบอกไว้ก่อนว่า ควรอ่านเรื่องราวของ ChatGPT ที่หน้าเว็บของเค้าก่อน จะเห็นเรื่องราวอะไรต่าง ๆ มากมาย ก่อนที่จะเข้าไปลองใช้งานกัน หรือไปที่ https://chat.openai.com/

gpt-01

หลังจากคลิกที่ Try หรือ https://chat.openai.com/ แล้ว จะมีหน้าให้ Login เพื่อเข้าไปใช้งาน

gpt-02 gpt-04

เมื่อ Login แล้ว จะเข้าสู่หน้า User Interface (UI) ของ ChatGPT ซึ่งจะมีมีกล่องข้อความ (Text box) ที่ให้เราพิมพ์คำถามหรือบทสนทนา แล้ว AI ก็จะพูดคุยกับเราโดยค่อย ๆ พิมพ์ข้อความเหมือนคุยกับเรา

gpt-06

gpt-05

หลังจากลองใช้งานทั้งในเรื่องของแวดวงวิชาชีพ และในเรื่องอื่น ๆ ก็ขอบอกว่า มันว้าวจริง ๆ ตามคำร่ำลือ ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดในบางประเด็นอยู่บ้าง (ดูจากที่ลองแบบยังไม่ได้จริงจังอะไรมาก เฉพาะที่เห็น) แต่เหนือสิ่งอื่นใด ส่วนตัวมองว่า ChatGPT เป็นเครื่องมืออีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาใช้งาน ไม่คิดว่าจะเข้ามาแทนที่เรา แต่เราต่างหากที่จะต้องรู้จักวิธีใช้งานให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา และหน่วยงานให้มากที่สุด 💡

—————————————————

OpenAI.(2022). ChatGPT: optimizing language models for dialogue. https://openai.com/blog/chatgpt/