จากฝึกหัดครู…สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม


การศึกษาของไทยเริ่มต้นจากวัดและวัง โอกาสในการศึกษาจำกัดเพียงเด็กชาย ต่อมาเมื่อมีการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ประชาชนทั่วไปโดยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งเด็กหญิงและชาย ความต้องการกำลังครูจำนวนมากทำให้เกิดสถาบันการฝึกหัดครูอย่างเป็นระบบนับแต่ พ.ศ. 2435 โดยการฝึกหัดครูเริ่มขึ้นจากส่วนกลางในพระนคร แล้วจึงขยายไปตามหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ สำหรับมณฑลนครชัยศรี เริ่มต้นจากโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูนครปฐม เมื่อ พ.ศ. 2479 ใช้ตึกหอทะเบียนมณฑลนครชัยศรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนเทศาทำการเรียนการสอน รับเฉพาะนักเรียนหญิง ต่อมาเปิดรับนักเรียนชายเข้ามาเรียนร่วมใน พ.ศ. 2503 และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐม ใน พ.ศ. 2511 กระทั่ง พ.ศ. 2512 ได้ย้ายสถานที่จากถนนเทศา ไปตั้งตรงข้ามวัดใหม่ปิ่นเกลียว ถนนมาลัยแมน จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยครูนครปฐมเมื่อ พ.ศ. 2513 และเมื่อวิทยาลัยครูทั่วประเทศได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 9 ว่า “สถาบันราชภัฏ” ในพ.ศ. 2535 จึงเรียกขานนามตามนั้น ขณะที่การเรียนการสอนก็มีการขยายทั้งขึ้นบนและลงล่าง และขยายสาขาวิชาอื่น ๆ เพิ่มเติม จากการผลิตครูชั้นฝึกหัดครูประชาบาล เป็นการศึกษาระดับปริญญาตรี ทั้งยังเปิดให้มีการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ระดับปริญญาตรี และอนุปริญญา รวมถึงเปิดโรงเรียนสาธิต ชั้นมัธยมปีที่ 1 และโรงเรียนสาธิตอนุบาล อันเป็นการพัฒนาจากยุควิทยาลัยครูสู่ยุคสถาบันราชภัฏ และปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ความเป็นมาของสถาบันแม่พิมพ์ของชาติที่นครปฐมในยุคเริ่มแรกได้รับการวางรากฐานอย่างมั่นคงด้วย “ครู” ผู้เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ นำการพัฒนาอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย ปลูกฝังสามัคคี ร่วมแรง อุทิศตนเป็นอย่างยิ่ง เชิญรับฟังเรื่องราวอันเป็นจิตวิญญาณของชาวเฟื่องฟ้าเพิ่มเติม ได้ในรายการ SNC Library Podcast ตอน  จากโรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐม สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ อันดับ 2 ของประเทศ: SNC Library Podcast S3 Eps.118