ตักบาตร และตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในวันออกพรรษา

วันออกพรรษา ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ ที่ 10 ตุลาคม 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  มีการทำบุญตักบาตร  เข้าวัดฟังธรรม รักษาศีลอุโบสถ หลังวันออกพรรษา เป็นวันอังคารที่11 ตุลาคม 2565 แรม 1 ค่ำ เดือน 11  เราชาวพุทธไปตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นประเพณีของชาวพุทธไทยเราแต่โบราณ ต้องมีการบำเพ็ญบุญกุศลใส่บาตรในวันออกพรรษาที่เรียกัน “ตักบาตรพระร้อยบ้าง” ตักบาตรดาวดึงส์บ้าง” , “ตักบาตรเทโว” บ้าง

ประวัติ สาเหตุของการทำบุญ มีดังนี้ สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุสรณ์คำนึกงถึงพระมารดาซึ่งถึงกาลกิริยาไปแล้วไปจุติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงเสด็จขึ้นไปเทศน์โปรดพระมารดาชั่วกาลพรรษาหนึ่ง ก็ออกพรรษาก็เสด็จลงมาทางประตูเมืองสังกัสสนคร

อาศัยเหตุนี้เองชาวบ้านจึงพากันทำบุญใส่บาตรในวันออกพรรษาที่เรียกัน “ตักบาตรพระร้อย” ตักบาตรดาวดึงส์ หรือ ตักบาตรเทโว

เป็นกาลพิเศษซึ่งถือเสมือนว่าได้ใส่บาตรพระพุทธเจ้า

พระอาจารย์ (บัณฑิตอุดร) แสดงธรรมเรื่องพระพุทธองค์ ทรงเปิดโลก ดังนี้

พระเจ้าเปิดโลก

1.เป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ ในพรรษาที่ 7 หลังจากเสด็จขึ้นไปแสดงพระธรรมเทศนา ซึ่งในโอกาสนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงฉัพพรรณรังสี เป็นเหตุให้โลก (ภูมิ) ทั้งหลายตั้งแต่พรหมภุมิ ไปจนถึงนรกภุมิเปิดสว่างจนแลเห็นซึ่งกันและกันได้

ในการนี้หมายถึง…วันเทโวโรหณะ เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์พระเจ้าเปิดโลกในพุทธกาล ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ของทุกปีตามปฏิทิน จันทรคติ และการตักบาตรเทโว เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก

2.ความสำคัญของพระเจ้าเปิดโลก พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปาฏิหารย์จนเกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก”   มีความสำคัญ ดังนี้

2.1) เป็นปัจจัยให้สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ประมาทในชีวิต

2.2) เป็นไปเพื่อให้สัตว์ บุคคลปรารภตนเองเพื่อออกจากทุกข์

2.3) เป็นเหตุปัจจัยให้สัตว์ บุคคลปฏิบัติเพื่อมุ่งตรงต่อพระนิพพาน

3.ทางปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเปิดโลก ทรงเปิดโลกคือขณะที่พระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่ที่บันไดแก้ว ทรงทอดพระเนตรไปทางทิศเบื้องบน เทวโลกและพรหมโลก ก็เปิดมองเห็นโล่ง

เมื่อทรงทอดพระเนตรไปในทางทิศเบื้องต่ำนิรยโลกทั้งหลายก็เปิดโล่ง ในครั้งนั้น สวรรค์ มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างก็เห็นซึ่งกันและกันทั่วจักรวาล พระพุทธเจ้าทรงเปิดโลกในเหตุการณ์นี้มี 3 โลก คือ เทวโลก (ตั้งแต่พรหมโลกลงมาจนถึงสวรรค์ทุกชั้น)

มนุษยโลกและยมโลก (ตามแนวพระสูตร) แต่

ยังมี 3 โลก (ตามแนวพระอภิธรรม)

3.1) กามโลก (หรือกามภูมิ) แบ่งเป็น 11 ส่วนย่อย ได้แก่

1.) ทุคติภูมิ : นรกภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ เดรัจฉานภูมิ

2.) สุคติภูมิ  : มนุสสภูมิ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ดุสิต ยามา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

3.2) รูปโลก  (หรือรูปภูมิ) แบ่งเป็น 16 ชั้น  เป็นที่สถิตของพรหม ซึ่งพรหมที่สถิตอยู่ต้องบำเพ็ญฌาน แบ่งออกเป็น ปฐมฌานภูมิ 3

ทุติยฌานภูมิ 3 ตติยฌานภูมิ 3 และจตุตฌานภูมิ 7

3.3) อรูปโลก (หรืออรูปภูมิ) แบ่งเป็น 4 ชั้น เป็นที่สถิตของพรหมระดับสูง ซึ่งไม่มีรูปกาย คือ

ชั้นที่ 1  อากาสานัญจายตนภูมิ

ชั้นที่ 2 วิญญาณัญจายตนภูมิ

ชั้นที่ 3 อากิญจัญยายตนภูมิ

ชั้นที่ 4 เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

“ในกาลครั้งนี้…ไม่มีใครไม่ปราถนา…พุทธภูมิ คือความเป็นพระพุทธเจ้า”

4. ผลแห่งการปฏิบัติในพระพุทธเจ้าาเปิดโลก เป็นอานิสงส์ที่บุคคลทั้งหลายที่ได้ศึกษาและปฏิบัติตนในการพระพุทธเจ้าเปิดโลก มีดังนี้

4.1) เป็นผู้มีความสำรวมระวังในตนเป็นนิจ

4.2) เป็นผู้ปรารภความเพียรและประพฤติในศีล สมาธิ ปัญญา

4.3) เป็นผู้รู้เท่าทันโลก และความจริงของชีวิต

4.4) ย่อมเป็นผู้ขวนขวายด้วยการปฏิบัติตน เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน

สาธุ สาธุ สาธุ