เมื่อศิลปากรรับปริญญาครั้งแรก


ปริญญาบัตรใบแรก ออกแบบโดยศาสตราจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ
นักศึกษา ป.ตรี คณะจิตรกรรมปฏิมากรรมคนแรกที่จบการศึกษา
และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2507

งานพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจจะกล่าวได้ว่ามีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเข้มขลัง
นับจากปีแรกของการสถาปนามหาวิทยาลัย เมื่อ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486
ซึ่งมีนักศึกษาคนแรกและคนเดียวที่จบการศึกษาในปีการศึกษา 2496
ระดับปริญญาตรี จากคณะจิตรกรรมประติมากรรม คือ นายชลูด นิ่มเสมอ
จากนั้นจึงมีผู้จบการศึกษาในระดับเดียวกันรวมทั้งระดับอนุปริญญา
ทั้งที่ร่วมและต่างคณะอีก 3 คณะ ทยอยจบการศึกษาในปีต่อ ๆ มา
คือ คณะสถาปัตยกรรมไทย (สถาปัตยกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) ปี 2498
คณะโบราณคดี ปี 2498 และคณะมัณฑนศิลป์ ปี 2499
ขณะที่บางปีก็ไม่มีผู้จบการศึกษา
จนกระทั่งเมื่อผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีจำนวนมากพอ
โดยการรวมบัณฑิตนับแต่ปีการศึกษา 2488 – 2506
มหาวิทยาลัยจึงกำหนดเอาวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย
12 ตุลาคม พ.ศ. 2507 เป็นวันพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก

ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกนั้น
มหาวิทยาลัยศิลปากรได้กราบบังคมทูลเชิญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธี
และจะทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิต
ทางจิตรกรรมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และทางมัณฑนศิลป์แด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
แต่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ระงับไว้ก่อน
ด้วย “ยังมิได้ทรงจิตรกรรมชิ้นใดได้ถึงขนาด”
ดังปรากฏความในหนังสือสำนักราชเลขาธิการ
ที่ รล. 0002/2999 ลงวันที่ 16 กันยายน 2507
เรื่อง การอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธี
ประสาทปริญญาศิลปะบัณฑิตแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ดังภาพ

ต่อมาในการพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2508
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเชิญเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร
พร้อมรับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิต
ที่ทรงระงับไว้ในคราวพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 1
โดยหมายกำหนดการครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลง
จากวันอังคารที่ 12 ตุลาคม เป็นวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม
เนื่องจากเพิ่งจะทรงทุเลาจากพระอาการประชวร
ดังรายละเอียดความจากหนังสือโต้ตอบ 3 ฉบับ
ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสำนักราชเลขาธิการ คือ

  • มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ สร. 2301/842 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2508
    เรื่อง ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนิน
    ทรงไปเป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาศิลปะบัณฑิต
    แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
  • สำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0002/2717 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2508
    เรื่อง ทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน
    ในพิธีประสาทปริญญาศิลปบัณฑิตแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
  • สำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0002/3200 ลงวันที่ 29 กันยายน 2508
    เรื่อง พิธีพระราชทานปริญญาบัตร




การรอคอยอันยาวนานกว่าที่ศิษย์คนแรกจะได้รับปริญญาบัตร
ก็ให้หลังจากจบการศึกษามาแล้วถึง 10 ปีการศึกษา
และด้วยเหตุที่เป็นครั้งแรก บรรดาศิษย์ผู้จบการศึกษาจึงต่างมีหน้าที่อันสำคัญ
กล่าวคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ
ซึ่งขณะนั้นเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำในคณะที่ร่ำเรียนมา
ได้รับมอบหมายจาก ศ.ศิลป์ พีระศรี ให้ออกแบบใบปริญญาบัตร
ท่านได้ออกแบบโดยใช้สัญลักษณ์แทนทุกคณะวิชาเป็นภาพพื้นหลัง
โดยทั้งระดับปริญญาและอนุปริญญาใช้แบบเดียวกัน
และแบบใบปริญญานี้ได้ใช้เพียงครั้งแรกและครั้งเดียว
ด้วยในปีถัดมามีการเปลี่ยนแปลงแบบใบปริญญาใหม่
จากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนอีกรวม 4 ครั้ง จนเป็นรูปแบบในปัจจุบัน

ส่วนชุดครุยในการเข้ารับพระราชทานปริญญานั้น
อ.ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิษย์ผู้น้องรุ่นที่ 4 ของคณะ
ซึ่งเป็นบัณฑิตรุ่นปีการศึกษา 2502 หนึ่งในจำนวนนักศึกษา 10 รุ่น
ที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งแรกนั้น
ได้เป็นหัวแรงหลักในการออกแบบมีคุณเต๋อ (ไม่ทราบนามจริง)
เป็นผู้สเก็ตแบบและใช้มาจนปัจจุบัน

ส่วนสถานที่ในการประกอบพระราชพิธีเมื่อแรกนั้น
ใช้ที่ท้องพระโรงวังท่าพระ กระทั่ง พ.ศ. 2515
เมื่อมีนักศึกษารุ่นแรกของคณะอักษรศาสตร์เข้าร่วมพระราชพิธี
ด้วยจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นสถานที่ท้องพระโรงจึงไม่พอรองรับต่อไป
ในปีถัดมาจึงมีการเปลี่ยนสถานที่เป็นหอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ


อนึ่ง การใช้สถานที่ท้องพระโรงวังท่าพระ
เป็นความงดงามและเหมาะควรกับสถานที่อันมีศักดิ์
นั้นคือผู้เข้ารับพระราชทานจะเข้ารับในท่าคุกเข่า
โดยชันเข่าขึ้น 1 ข้าง หัวเข่าแตะพื้น 1 ข้าง
ต่อหน้าพระพักตร์ทั้ง  2 พระองค์ ซึ่งประทับบนพระเก้าอี้ในระนาบเดียวกัน
ไม่มีพระแท่นที่ประทับเป็นส่วนกั้นดังเช่นการยืนรับพระราชทานในปัจจุบัน

กิจกรรมสำคัญอีกประการในงานพระราชทานปริญญาบัตร
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. ทองใหญ่ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี
ท่านดำริให้มีการจัดเลี้ยงน้ำชาแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับ
พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัย
ดังปรากฏในรายงานการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
ครั้งที่ 23/2524 วันอังคารที่ 22 กันยายน 2524 วาระ 6.5
ให้เริ่มจัดนับแต่ปี 2524 เป็นต้นไป โดยจัด ณ อาคารคณะโบราณคดี
ในวันพระราชทานปริญญาบัตร วันที่ 15 ตุลาคม 2524
ต่อมาในการประชุม ครั้งที่ 24/2524 วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2524 วาระ 2.2
มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่เป็น อาคารหอศิลป คงกำหนดการอื่น ๆ ตามเดิม

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายการ
SNC Library Podcast S3 Eps.107
ตอน เมื่อศิลปากรรับปริญญาครั้งแรก โดยรับฟัง ได้ที่
https://anchor.fm/snclibrary/episodes/ep-e1jpaah

เอกสารอ้างอิง
มหาวิทยาลัยศิลปากร
.  (2508).  “ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงไปเป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาศิลปบัณฑิตแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร.”  10 สิงหาคม.
_____.  (2524).  “รายงานการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 23/2524 วันอังคารที่ 22 กันยายน 2524.”  22 กันยายน.
_____.  (2524).  “รายงานการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 24/2524 วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2524.”  6 ตุลาคม.
สาโรช จันมุกดา.  (2538).  “พิธีพระราชทานปริญญาบัตร.”  ใน มหาวิทยาลัยศิลปากรจากบันทึกและความทรงจำ, 37-48.  นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สาโรช จันมุกดา.  (2538).  “ปฐมพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรศิลปบัณฑิตของมหาวิทยาลัยศิลปากร วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2507.”  ใน มหาวิทยาลัยศิลปากรจากบันทึกและความทรงจำ, 49-48.  นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สำนักราชเลขาธิการ.  (2507).  “การอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาศิลปบัณฑิตแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร.”  16 กันยายน.
_____.  (2508).  “ทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาศิลปบัณฑิตแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร.”  25 สิงหาคม.
_____.  (2508).  “พิธีพระราชทานปริญญาบัตร.”  29 กันยายน.