ฟางข้าว

ฟางข้าวเป็นผลพลอยได้จากการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งฟางข้าวนี้มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น

  1. นำไปเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ
  2. ทำปุ๋ยหมัก
  3. เพาะเห็ดฟาง
  4. นำไปทำเชื้อเพลิง ซึ่งจุดไฟได้เร็ว เช่นไก่อบฟาง
  5. การนำไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่นรองเท้า เป็นต้น

สำหรับบ้านของดิฉัน ส่วนใหญ่จะนำฟางมาปกคลุมดินหลังหว่านเมล็ดผักและกระชายเป็นหลัก ปีหนึ่งๆ ใช้ฟางเป็นจำนวนมาก สมัยก่อนจะเก็บฟางจากนาโดยนำเหล็กเส้นเล็ก ๆ มาดัดโค้งเป็นรูปตัวยูเชื่อมใส่กับไม้ไผ่ ความยาวประมาณ 200-250 เซนติเมตร วีธีการเก็บฟางคือ นำไม้ตัวยูมาพันม้วนฟางให้แน่น (ลักษณะคล้ายกับที่เราม้วนเสื่อ) กะขนาดก้อนประมาณแรงเรายกไหว โดยการเสียบไม้ตัวยูลงไปที่ก้อนฟางแล้วงัดยกขึ้นมา (ซึ่งหากเราม้วนฟางไม่แน่น เวลาที่เรายกขึ้นมาฟางจะร่วงหล่นใส่ตัวเรา เหลือติดไม้เพียงนิดเดียว) จากนั้นจึงนำไปใส่รถบรรทุกจนเต็มคันรถ ขับไปวางยังสถานที่ที่เตรียมไว้ซึ่งจะอยู่ใกล้ ๆ กับแปลงผักเพื่อให้สะดวกและไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปไกล ปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีเทคโนโลยีรถอัดฟาง ซึ่งจะอัดเป็นก้อนๆ ทำให้ขนย้ายก้อนฟางได้สะดวก การจัดเก็บก็ง่าย ฟางที่ได้จะมีทั้งแบบตัดและแบบไม่ตัดเป็นก้อน ไม่ตัดฟางคือการพับไปมาซึ่งฟางแบบนี้จะดีกว่าเพราะฟางจะไม่ป่นมากนัก เมื่ออัดเสร็จก้อนฟางก็จะหล่นจากรถอัดฟางวางอยู่ตามทุ่งนา เราก็จะไปขนย้ายฟางก้อน หากเราไม่ขนย้ายเอง สามารถบอกเจ้าของรถอัดฟางได้ ซึ่งจะมีจับจ้างขนย้ายให้ด้วย

 

การติดต่อเพื่ออัดฟาง จะมีการติดต่อระหว่างเจ้าของนากับเจ้าของรถอัดฟาง ดังนี้

  1. เจ้าของรถอัดฟางมาติดต่อซื้อฟางจากเจ้าของนา อัดเสร็จก็ขนย้ายไป
  2. เจ้าของนาจ้างรถมาอัดฟาง ซึ่งบ้านของดิฉันจะใช้วิธีนี้ เพราะเรามีฟางอยู่แล้วจึงจ้างรถมาอัดให้ บางครั้งมีเวลาก็จะขนย้ายกันเองโดยลงแขกกับบรรดาญาติๆ หากไม่มีเวลาจริงๆ หรือทำไม่ทันก็จะจ้างคนมาขนย้ายให้

การคิดราคาจะคิดนับจำนวนเป็นก้อน ได้จำนวนกี่ก้อนก็จ่ายราคาตามที่ตกลงกัน

 

ซึ่งการอัดฟางนี้บางปีก็จะได้ฟางจำนวนมาก บางปีก็ได้น้อย ขึ้นอยู่กับ

  1. ต้นข้าวในนา หากตอนปลูกสัตว์ต่าง ๆ มากินข้าวตั้งแต่ตอนหว่านเป็นจำนวนมาก เราก็จะได้ข้าวและฟางน้อย
  2. หากช่วงที่เก็บเกี่ยวอยู่ในช่วงหน้าฝน หรือไม่ได้อยู่ในช่วงหน้าฝน แต่ในนามีน้ำท่วมขัง ก็จะไม่ได้ฟางเช่นกัน เพราะรถเข้าไปอัดฟางไม่ได้ และฟางที่เปียก หากอัดไปแล้วฟางจะเน่าเสีย ไม่คุ้มค่าเหนื่อย