บ้านของพี่ทำนา ทำนา ปลูกข้าวทุกเมื่อ วันนี้ดิฉันจะมาเล่าอาชีพทำนาค่ะ บ้านของดิฉันทำนาเป็นหลัก ปีละ 3 ครั้ง เพราะมีน้ำต่อเนื่อง ทำให้สามารถทำนาปีละ 3 ครั้งได้ พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกก็คือ กข 31 (ปทุมธานี 80) เนื่องจากกอตั้ง ต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย ปลูกประมาณ 110 วันก็เก็บเกี่ยวได้ เราจะมาเริ่มตั้งแต่การเก็บพันธุ์ข้าวปลูกกันเลยนะคะ
- การเก็บพันธุ์ข้าวปลูก
หลังจากที่เกี่ยวข้าวแล้ว ส่วนหนึ่งนำไปขายที่โรงสี และอีกส่วนหนึ่งจะนำเมล็ดข้าวเปลือกมาทำพันธุ์ โดยเลือกจากแปลงที่ได้ข้าวรวงดีเต็มสวยและไม่มีหญ้าหรือมีหญ้าน้อย เก็บไว้สำหรับเพาะปลูกครั้งต่อไป ซึ่งข้าวเปลือกที่เกี่ยวมาใหม่ ๆ จะมีความสด และความชื้นสูงจึงต้องนำไปตากแดด เพื่อลดความชื้นของเมล็ดข้าว ตากในพื้นที่โล่งกลางแจ้งแสงแดดแรงๆ 1-2 วัน ก็เพียงพอ ขั้นตอนคือ กวาดลานเพื่อนำเอาเศษผงต่าง ๆ ออกจากพื้นที่ จากนั้นนำเมล็ดข้าวเปลือกไปเทในลานโล่ง เกลี่ยเมล็ดข้าวกระจายให้เต็มลาน ในหนึ่งวันต้องหมั่นพลิกกลับไปกลับมาบ่อยๆ เพื่อให้เมล็ดข้าวโดนแสงแดดอย่างทั่วถึงซึ่งหากเราเกลี่ยให้บางและสม่ำเสมอ จะทำให้เมล็ดข้าวแห้งเร็วกอปรกับแสงแดดที่แรงกล้า เพียงวันเดียวก็สามารถเก็บได้ (หรือหากวันใดแสงแดดไม่เพียงพอสามารถตากอีกวัน) ส่วนใหญ่ที่บ้านจะเริ่มเก็บตอน 16.00 น. โดยกวาดเมล็ดข้าวนำมากองรวมกันเป็นกองๆ ตักเมล็ดข้าวใส่ถุง (บ้านของดิฉันนำถุงใส่ปุ๋ยมาใช้เก็บพันธุ์ข้าว) ชั่งน้ำหนักถุงละ 25 กิโลกรัม จากนั้นมัดปากถุงแล้วนำไปเก็บไว้ยังสถานที่เก็บ เราจะได้พันธุ์ข้าวเรียบร้อย
- การเตรียมดิน
หลังจากที่ไถดินตากแดดแล้ว เมื่อน้ำชลประทานปล่อยมา เราก็ปล่อยน้ำเข้านาพอให้ท่วมดิน จากนั้นก็ใช้ควายเหล็ก (รถไถนา) พร้อมติดหางปั่น เพื่อปั่นดินที่ก้อนใหญ่ให้เป็นก้อนเล็ก ๆ เมื่อปั่นได้ที่แล้วก็จะเปลี่ยนจากหางปั่นมาเป็นไม้กระดาน ลูบเพื่อให้ดินเสมอกัน วันรุ่งขึ้นก็จะเปลี่ยนหางมาเป็นหางชักร่องน้ำเพื่อระบายน้ำในนาออก
- การเตรียมข้าวปลูก
ในระหว่างที่ปั่นดินในนา เราจะแช่พันธุ์ข้าวปลูกไปพร้อมกัน ที่บ้านของดิฉัน จะก่ออ่างน้ำเอาไว้สำหรับแช่ข้าวโดยเฉพาะ ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น เพียงแค่เปิดน้ำใส่อ่างประมาณ 3 ใน 4 ของอ่าง จากนั้นนำถุงที่ใส่พันธุ์ข้าวเปลือกมาเทใส่ในอ่างเพื่อแยกเอาข้าวลีบ เมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีข้าวข้างใน มีน้ำหนักเบา ออกจากข้าวดี เมื่อแช่สักพัก ข้าวลีบจะลอยอยู่บนน้ำ ส่วนเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์จะจมน้ำ ใช้ตะกล้าตาถี่ๆ ช้อนเอาข้าวลีบออกให้หมด จากนั้นปล่อยน้ำออกจากอ่าง ขั้นตอนต่อมา ตักข้าวในอ่างใส่ถุงปุ๋ย ควรเลือกถุงที่มีลักษณะบางจะทำให้ข้าวงอกเร็ว มัดปากถุง จากนั้นใส่น้ำในอ่างอีกครั้งเพื่อแช่ข้าว (เมื่อข้าวมีความชื้นจะงอกดี) วันรุ่งขึ้นจึงปล่อยน้ำออกจากอ่าง ให้ถุงข้าวสะเด็ดน้ำ แล้วนำไปเรียงซ้อนกันข้างนอกอ่าง นำกระสอบมาคลุมไว้ พอตกตอนเย็น นำถุงข้าวไปแช่ในอ่างที่ เปิดน้ำใส่อ่าง พอให้น้ำท่วมถุงข้าว แช่ไว้สักพักให้ถุงข้าวเย็น จากนั้นปล่อยน้ำออกจากอ่างให้หมด รอจนถุงข้วสะเด็ดน้ำ แล้วนำไปเรียงซ้อนกันที่นอกอ่างเช่นเดิม หากระสอบมาคลุม (ข้าวที่แช่วันศุกร์ จะนำไปหว่านวันอาทิตย์)
เช้าวันอาทิตย์จะขับรถไถนาไปชักร่องน้ำ ส่วนดิฉันจะทำหน้าที่ดูว่ามีตรงไหนที่เป็นแอ่งน้ำก็จะทำทางระบายน้ำ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเฉาะร่องน้ำในนาเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังมีเส้นหลัก เหมือนคลองเส้นใหญ่ต้องเฉาะให้ลึกมากหน่อยเพื่อระบายน้ำออกให้หมดและ ในนาซึ่งจะทำคล้ายกับคลองเส้นเล็กแต่อันนี้จะเป็นการเฉาะร่องเล็ก ๆ เพื่อให้น้ำไหลไปหาเส้นใหญ่ หากเราไม่เฉาะร่องน้ำเล็ก ๆ นี้ ปล่อยให้น้ำท่วมขังละก็เป็นอันเสร็จนกเป็ดน้ำซึ่งจะมากินในเวลากลางคืน เมื่อน้ำไหลระบายได้ดีก็จะหว่านข้าวซึ่งที่บ้านจ้างคนมาหว่าน เพราะลำพังการเฉาะร่องน้ำก็ทำไม่ทัน เมื่อหว่านเสร็จ ก็ต้องเฝ้านกในระหว่างวันจะมีฝูงนกพิราบฝูงใหญ่มากินเมล็ดข้าวที่หว่านในนา บ้างก็เคาะกระป๋อง บ้างก็จุดปะทัด ฯลฯ ตามแต่สะดวก หากนาของใครไม่มีคนเฝ้าละก็ เรียบ นกกินหมด เพราะมากันฝูงใหญ่ และหากเจ้านกพวกนี้ลองได้กินนาไหน มันก็จะจำและพอถึงหน้าทำนามันก็จะมากินแปลงนั้นอีก