ฟัง…..สวดในงานบำเพ็ญกุศลศพ

มีเพื่อนที่หอพักสอบถามว่า ทำไมต้องฟังสวดพระอภิธรรม  เผอิญได้ฟังธรรม พอดี เลยบอกว่า ก็ได้สมาทานศีล และฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา  ถ้าตั้งใจฟังสวดพระอภิธรรม ถึงแม้จะฟังไม่รู้เรื่อง ก็ฟังเอากุศล ได้บุญมาก เคยได้ยินได้ฟังพระอาจารย์

ผู้แสดงธรรม พระครูธีรธรรมาภรณ์

หอสมุดวัดเครือวัลย์วรวิหาร

แสดงธรรมแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ดังนี้

ฟังพระสวด …ฟังสวดให้เป็น…

๑. สวดพระอภิธรรม…ทำไม? ทำไม…ต้องสวด?

เหตุที่ต้องสวดบทพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ในงานบำเพ็ญกุศลศพ ท่านผู้รู้ได้วินิจฉัยไว้ ดังนี้

๑. ๑ พระอภิธรรมเป็นธรรมล้วน ๆ ไม่กล่าวถึงบุคคล มีเนื้อหาสาระที่ลึกซึ้ง แม้จะฟังคำแปลแล้ว ก็ยังเข้าใจได้ยาก แต่การที่นำเอาพระอภิธรรมมาสวดในงานศพ ก็เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจความจริงของสังขารที่เกิดมาแล้วก็จะต้องพบกับความแก่ ความเจ็บ และความตาย โดยมีศพเป็นตัวอย่างมองเห็นเฉพาะหน้า แต่ถ้าผู้ฟังพอจะรู้คำแปลอยู่บ้าง ก็จะเข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งดีขึ้น

๑.๒  สวดตามคตินิยม มีคตินิยมว่า การสวดพระอภิธรรมเป็นการสนองพระคุณของมารดา บิดามารดา ตามแบบอย่างที่พระจริยาวัตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้เสด็จขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์โปรดพุทธมารดา ที่ได้สิ้นพระชนม์แล้ว ต่อมา แมัผู้วายขนม์นั้น ๆ จะมิใช่มารดาบิดา ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นประเพณีที่ผู้บำเพ็ญกุศลจะได้อุทิศไปให้ผู้วายขนม์นั้น

๑.๓  ป้องกันพระอภิธรรมอันตรธาน การที่นำเอาพระอภิธรรมเข้ามาเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับกุศลพิธีเนื่องในงานศพดังกล่าว จะเป็นวิธีหนึ่งของการป้องกันมิให้พระสัทธรรม คือพระอภิธรรมอันตรธานหายไป ประเพณีการสวดพระอภิธรรมหน้าศพนั้น เกิดขึ้นมายาวนานนับแต่พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยแแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า เริ่มเมื่อใด รู้เพียงว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่ดั้งเดิม นับแต่ประเทศไทยรับเอาพระพุทธศาสนา มาเป็นศาสนาประจำชาติ ประจำจิตใจชาวไทย มาแต่โบราณกาล ตั้งแต่ยุคล้านนา ยุคกรุงสุโขทัย ยุคกรุงศรีอยุธยา ยุคกรุงธนบุรี และมาถึงยครัตนโกสินทร์ จวบจนปัจจุบัน

กล่าวถึงพระอภิธรรม ซึ่งมีทั้งหมด ๗ คัมภีร์ เป็น ๑ ในจำนวนพระไตรปิฏก แต่ถือเป็นปิฏกทีมีจำนวนมากถึง ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ ตั้งแต่ ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา บุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน รวมเรียกกันว่า พระอภิธรรมปิฏก ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง  แม่บทมาติกาล้วน ๆ

สาเหตุที่มีประเพณีการสวดพระอภิธรรมหน้าศพนั้น ตามวัตถุประสงค์จริง ๆ แล้วเป็นการสวดให้คนที่มาร่วมงานฟัง เพื่อให้มีสติระลึกถึงอยู่เสมอว่า ความตายสามารถมาเยือนได้ทุกวินาทีทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ควรประมาทในการใช้ชิวิตแต่ควรเร่งประกอบคุณงามความดี ทำบุญทำกุศลให้มาก เพื่อที่จะได้เป็นเสบียงเดินทางไปสู่ภพภูมิที่ดียิ่งขึ้น และมีบารมีที่จะบรรลุธรรมในอนาคตกาลด้วย  แต่ความเข้าใจของเจ้าภาพคิดว่า  สวดให้ศพฟัง  เพื่อจะได้สู่สุคติสัมปรายภพและถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้  แต่ที่ถูกต้องแท้จริงนั้น  พระท่านสวดเพื่อให้คนเป็นโดยเฉพาะ ผู้ที่ตั้งใจฟังและผู้ที่ยังไม่หลับด้วย

๒.ปัญหาการสวดพระอภิธรรม ปัญหาสำคัญของการฟังสวดพระอภิธรรมหน้าศพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นี้ ได้แก่

๒.๑ การไม่รู้วิธีฟังสวดพระอภิธรรม คือฟังไม่เป็น และไม่รู้วิธีวางใจในการรับฟัง หมายถึงการไม่รู้วิธีวางใจให้แยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ในการฟังคำสวดพระอภิธรรม กล่าวคือเมือมานั่งฟังสวด ก็พนมมือ สายตาก็มองไปตามความอยาก จิตใจก็คิดฟุ้งเรื่องนั้นเรื่องนี้  โดยไม่มีการวางใจให้แยบคายในขณะฟังสวด แม้ตนจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้ารู้จักวางใจอย่างแยบคาย ก็จะเกิดมหากุศลจิตแทนที่จะปล่อยให้เกิดอกุศลจิตไปตามกิเลศของตน

๒.๒ เกิดอกุศลประท้วงเงียบ คือเกิดความรู้สึกอึดอัดขัดเคือง รำคาญ หงุดหงิดและเบื่อหน่าย ไม่สนใจ ง่วง หลับ สัปหงกเป็นที่สุด เพราะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการมาฟังสวดนี่เอง

๒.๓ เกิดอกุศลประท้วงดัง คือ ส่งเสียงคุยกันแข่งกับการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ บางรายพูดคุยเสียงดังจนเกินเลย บางรายนำสุรามาดื่มในงานศพ ทั้งรบกวนแขกผู้อื่นที่มาร่วมงานสวดศพอย่างบริสุทธิ์ใจด้วย

๓. ฟังสวดให้เป็น…ได้บุญ (ฟังสวดไม่เป็น…ได้บาป)

วิธีการฟังสวดให้ถูกต้องนั้น วางใจให้ถูก ตั้งเจตนาให้ถูกว่า… เมื่อฟังสวด… ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ตามที่เข้่าใจในภาษาที่พูดกัน หรือสวดพระอภิธรรมที่พระสวด ๔ รูป ไม่ว่าจะเป็น “อภิธรรม ๗ คัมภีร์” หรือบทสวดใด ๆ ก็ตามเจตนาในการฟังสวด ท่านมุ่งให้จิตเป็นสมาธิ สงบ ไม่กวัดแกว่ง  เบาใจเบากาย ผ่อนคลายความตึงเครียด

วิธีปฏิบัต

๑.) ณ ขณะฟังสวดอยู่นั้น ให้วางใจโดยกำหนดสติไปตามเสียงสวดของพระท่าน…จะเสียงหนัก เบา ยาว สั้น เสียงสูง เสียงต่ำ ฯลฯ ไม่ให้คิดอื่นใด ประคองใจคุมสตืตามเสียงสวดของพระท่านไปเรื่อยๆ รู้ตามๆ ติดตรึงอยู่ตลอดเวลา ไม่เพ่งมาก นับเอาเท่าที่รู้ทัน ทุก ๆ คำที่ได้ยินว่า…เป็นเสียงหนัก เบา ยาว สั้น เสียงสูง เสียงต่ำ เป็นต้น

๒.)  ถ้าสามารถกำหนดนับรับรู้เป็นคำหรือพยางค์ภาษาได้ว่า…เสียงนี้ว่า… โย…ว่า โร…ว่า มา ฯลฯ ก็นับได้เลยว่า…กี่โย…กี่โร…กี่มา ฯลฯ ตลอดเวลาที่พระท่านสวด ไม่ว่าจะสวดทำนองหลวง หรือทำนองราษฏ์ แต่ผู้ฟังเป็นจะมีทำนองเดียวกันคือ ทำนองใจ มีสติในการกำหนดตามรับอารมณ์ทางโสตวิญญาณจิตให้มากที่สุด โดยเอาเสียงพระท่านสวด เป็นอุปกรณ์ในการเจริญจิตตภาวนา สมาธิจิตย่อมเกิดได้ง่ายเป็นการเจริญธรรมานุสสติกัมมัฏฐานด้วย จิดประกอบไปด้วยมหากุศล ณ ขณะนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้ด้วย…

วางเจตนาให้ถุกต้อง คือ ฟังสวดพระอภิธรรม ท่านว่าให้ฟัง…เพื่อเจริญสมาธิ  จึงฟังกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ส่วนผู้ปราถนาจะฟังให้รู้เรื่องนั้น ท่านว่าให้ฟัง…ฟังเทศน์… เพื่อเจริญปัญญา