บันทึก/ตัดต่อเสียงด้วยโปรแกรม Audacity

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2563 และในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทางหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง เริ่มมีการปฏิบัติงานแบบทำงานที่บ้าน (Work From Home) ทำให้การจัดกิจกรรมเพื่อการบริการต่าง ๆ ต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามสถานการณ์ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การจัดทำรายการวิทยุ คล้าย ๆ กับเป็นการทำ Library talk เพื่อพูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ (Podcast)

ในการทำรายการวิทยุหรือรายการ Talk ออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Podcast สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ หัวข้อ และเรื่องราวในการนำเสนอที่เป็นไฟล์เสียง (Audio file) ซึ่งสามารถทำได้โดยตรงผ่านสมาร์ทโฟนด้วยแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในส่วนของหอสมุดฯ เอง ผู้จัดทำรายการออนไลน์ได้เลือก Anchor เป็นตัวจัดการและเผยแพร่

อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องทำไฟล์เสียงผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนโดยตรงก็ได้ อาจทำไฟล์เสียงด้วยโปรแกรมจัดการอื่น ๆ ได้ เช่นโปรแกรม Audacity ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการแบบฟรี เป็นโปรแกรม open source รองรับทุกระบบปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็น Mac OS หรือ Windows สนับสนุนไฟล์เสียงในกลุ่มที่เป็นไฟล์ MP3, WAV, Ogg, FLAC, MP2 เป็นต้น สามารถอัดเสียงพูด เสียงเพลง หรืออัดเสียงจากเทปคาสเซ็ท มาไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสามารถแก้ไข ตัดต่อเสียงจากไฟล์เสียง การมิกซ์เสียง ฯลฯ (สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่ https://www.audacityteam.org/)

aud-01

เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรม Audacity แล้ว ทำการตั้งค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้งานสำหรับการบันทึกเสียง ที่ขาดไม่ได้คือ หัวข้อ เรื่องราว ผู้ร่วมการสนทนา (ถ้ามี) เมื่ออุปกรณ์พร้อม เนื้อหาพร้อม และคนพร้อมก็เริ่มการบันทึกเสียงได้ทันที แค่กดปุ่ม record สีแดงเท่านั้น หากต้องการหยุดสามารถกดปุ่ม pause และเมื่อต้องการทำต่อให้กดปุ่ม pause ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อทำการบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้กดปุ่ม stop

aud-02

จากนั้นลองฟังเสียงที่บันทึก ถ้าช่วงไหนต้องการลบออก เพียงแค่กดเมาส์ค้างไว้แล้วลากครอบส่วนที่ต้องลบ แล้วกดปุ่ม delete นอกจากนี้สามารถเพิ่มความดังของเสียง โดยไปทีเมนู Effect แล้วเลือก Amplify (ให้กดเมาส์ค้างไว้แล้วลากครอบส่วนที่ต้องการเพิ่มเสียง หรือเลือกทั้งหมดก็ได้ก่อนเพิ่มเสียง) รวมถึงสามารถใส่เสียง effect ในส่วนที่ต้องการได้ (ไปที่เมนู File – Import audio – เลือกไฟล์ที่จะเป็น effect)

aud-03

เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ Save ไว้ (File – Save project – Save project) จากนั้นทำการ Export ไฟล์เสียงเพื่อนำไปใช้งาน ในกรณีนี้จะนำไฟล์ไปทำ Podcast จึง Export ไฟล์เป็น MP3 (ไฟล์จะขนาดเล็ก หากเป็นไฟล์ WAV ไฟล์จะมีขนาดใหญ่) (File – Export – Export as MP3)

หลังจากได้ไฟล์เสียงแล้ว ก็นำขึ้นเผยแพร่ออนไลน์บน Podcast ต่าง ๆ ตามต้องการ ซึ่งในส่วนของหอสมุดฯ สามารถติดตามรายการวิทยุออนไลน์ได้ที่ https://anchor.fm/snclibrary

aud-04