พระพุทธรูป

พระพุทธรูป

พระพุทธรูป คือ สัญลักษณ์ แทนองค์พระพุทธเจ้า  องค์ศาสดาผู้ก่อตั้งพระศาสนา  เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพกราบไหว้บูชา สร้างขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น แกะสลัก จากหินหรือไม้ หล่อด้วยโลหะ ปั้นด้วยดินเผา วาดภาพลงบนพื้นผ้า หรือผนังอาคาร มีขนาดต่าง ๆ กัน  ตั้งแต่องค์ขนาดใหญ่ มากประดิษฐานไว้ตามวัดวาอาราม องค์ขนาดไม่ใหญ่นัก ตั้งบูชาไว้ตามบ้านเรือน  จนถึงองค์ขนาดเล็กมาก ที่นำติดตัวไปที่ต่าง ๆ ถือเป็นเครื่องคุ้มครอง ป้องกันอันตราย  ที่เรียกว่า พระเครื่อง  ย่อมาจากคำว่า พระเครื่องราง

คติการสร้างพระพุทธรูป

การจัดสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรกที่แคว้นคันธารราฐ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในสมัยของพระเจ้ากนิษณะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ  พ.ศ.  ๖๖๓ – ๗๐๕  โดยได้รับอิทธิพลจากชาวกรีกโบราณ สืบเนื่องมาจาก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรมาซีโตเนีย ทางตอนเหนือของประเทศกรีซ  แผ่ขยายอำนาจ คลอบคลุมดินแตนต่าง ๆ ตั้งแต่ในคาบสมุทรบอลข่าน อียิปต์ ตุรกี เปอร์เชีย มาจนถึงแคว้น คันธารราฐของอินเดีย  เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓ หลังจากนั้น ชาวกรีกและชาวโรมันก็ได้เดินทางมาค้าขาย และนำวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้  รวมถึงการสร้างรูปเคารพทางพระพุทธศาสนา จนเกิดการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เป็นรุ่นแรกที่เรียกว่า พระพุทธรูปศิลปะสมัยคันธารราฐ

เนื่องจากคติการสร้างพระพุทธรูปในอินเดียได้รับอิทธิพลครั้งแรกมาจาก กรีก ดังนั้นพระพุทธรูป สมัยคันธารราฐ

จึงมีลักษณะรูปร่าง หน้าตา และการห่มจีวรแบบชาวกรีกโบราณ  ต่อมาการสร้างพระพุทธรูป มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะรูปร่างหน้าตา และการนุ่งห่มจีวร ไปจากเดิม จนเกิดเป็นสกุลช่างของอินเดียสมัยต่าง ๆ เช่น

  • สมัยอมราวดี ช่วงพุทธศตวรรษ ที่ ๗ – ๙
  • สมัยคุปตะ ช่วงพุทธศตวรรษ ที่ ๙ – ๑๑
  • สมัยปาละ ช่วงพุทธศตวรรษ ที่ ๑๓ – ๑๖

พระพุทธรูป

ไม่ใช่รูปเหมือนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นสัญลักษณ์ แทนพระพุทธองค์ ดังนั้นพระพุทธรูปแต่ละสกุลช่าง ที่สร้างขึ้นในแต่ละสมัย จึงมีรูปร่างแตกต่างกันไป ตามความนิยม แต่พระพุทธูป มีลักษณะที่สำคัญ ที่เรียกว่า มหาปุริสลักษณะ อันหมายถึงลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการ เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่ ไปในดินแดนต่าง ๆ นอกอินเดีย คติการสร้างพระพุทธรูปก็เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ   การสร้างพระพุทธรูปในระยะแรกนิยมสร้างตามแบบสกุลช่างของอินเดีย ต่อมาได้มีการดัดแปลงรูปแบบให้เป็นไปตามความนิยมของคนในท้องถิ่น  ดังนั้น ในปัจจุบันจึงเห็นความแตกต่างในด้านรูปร่างลักษณะของพระพุทธรูปในประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย ศรีลังกา พม่า กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น

ประเภท วัสดุ และวิธีการสร้างพระพุทธรูป

ประเภท รูปเคารพของพระพุทธรูปปรากฏเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทงานประติมากรรม และประเภทงานจิตรกรรม

  • ประเภทงานประติมากรรม มีทั้งงานแกะสลักนูนต่ำ งานแกะสลักนูนสูง และรูปปั้นลอยตัว
  • ประเภทงานจิตรกรรม เป็นการเขียนภาพพระพุทธรูปลงบนฝาผนัง พระอุโบสถ พระวิหาร และอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นการเขียนลงบนผนังปูน แต่อาจเขียนลงบนผนังไม้ หรือเขียนลงบนผืนผ้า ที่เรียกว่า “ พระบฏ’ .งานจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นภาพเล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ได้แก่พุทธประวัติและชาดก เพราะสามารถแสดงเรื่องราวได้มากกว่างานประติมากรรม

วัสดุ และวิธีการสร้างพระพุทธรูป

  • ในระยะแรกเริ่ม คือ ก่อนสมัยทวารวดี และสมัยทวารวดี นิยมสร้างพระพุทธรูปจากดินเผา ปูนปั้น ศิลา (หิน) และทองสำริด ต่อมาในสมัยสุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ มีการใช้วัสดุชนิดอื่น เช่น ทองคำ เงิน นาก ไม้ หินสี ต่าง ๆ การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่บางทีก็ใช้ศิลาแลง หรือก่ออิฐถือปูนปั้น เป็นเค้าโครงอย่างคร่าว ๆ เรียกว่า ‘โกลน” จากนั้นจึงปั้นปูนทับ ตกแต่งให้เป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ พระพุทธรูปที่สร้างด้วยปูนปั้นและหล่อยด้วยทองสำริด มักมีการปิดทองทับทั่วทั้งองค์ ทั้งนี้เพื่อความสวยงามและถูกต้องตามมหาปุริสลักษณะ
  • ดินเผา
  • ศิลา
  • ทองสำริด
  • ปูนปั้น
  • งานก่ออิฐถือปูน
  • ไม้ นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แล้วจึงลงรักปิดทอง ข้อดี คือ สามารถแกะสลักเป็นรูปได้ง่าย และแสดงรายละเอียดของานช่างได้ดี  ข้อเสีย ไม่คงทนถาวร ผุพังและแตกหักได้ง่าย มักพบในงานศิลปะกรรมรุ่นใหม่ ๆ เท่านั้น

 

ปาง

ความหมายตามรากศัพท์ ของปาง หมายถึง “ครั้ง’ หรือ “เมื่อ”  ปรียบสเมือนการบอกเวลา เมื่อนำมาใช้กับพระพุทธรูป ปางจึงเป็นความหมายถึง ลักษณะสมมุติในอิริยาบถต่าง ๆ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ซึ่งเป็นการแสดงพระพุทธประวัติตอนหนึ่งของพระพุทธองค์ ในขณะที่ทรงมีสภาวะเป็นมนุษย์ ตามความเชื่อในพุทธประวัติของช่างสมัยโบราณ แห่งราชวงศ์คุปตะ  ปางที่ได้รับการสร้างขึ้นครั้งแรก  ได้แก่ปางสมธิ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา  และปางปรินิพพาน

เมื่อล่วงสู่สมัยหลัง ได้มีการสร้างพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ปางรำพึง  ปางป่าเลไลยก์ ปางห้ามสมุทร  ปางห้ามญาติ ปางไสยาสน์  และปางขอฝน  เป็นต้น

พระพุทธรูปที่สร้างในประเทศไทยนั้น เริ่มตั้งแต่ สมัย รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงรวบรวมและทรงนิพนธ์ หนังสือทางพระพุทธศาสนาขึ้น  คือพระนิพนธ์พระพุทธประวัติเรื่อง ปฐมสมโพธิกถา แล้วทรงประดิษฐ์แบบอย่างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้นตามพุทธประวัติดังกล่าว  เพื่อให้ช่างสร้างเป็นพระพุทธรูปรวมทั้งหมด ๔๐ ปาง  นับเป็นการกำหนดปางของพระพุทธรูปมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ต่อมาได้มีผู้กำหนดปางพระพุทธรูปเพิ่มเติมอีกหลายตำรา เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ แต่งโดยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จำนวน ๔๕ ปาง ตำนานพระพุทธรูปาง ต่่าง ๆ แต่งโดย พระพิมลธรรม จำนวน ๖๖ ปาง และประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ แต่งโดย พิทูร มลิวัลย์ มีจำนวน ๗๒ ปาง

ปางพระพุทธรูปประจำวันเกิด

วันอาทิตย์                          ปางถวายเนตร

วันจันทร์                             ปางห้ามญาติ

วันอังคาร                            ปางปรินิพพาน หรือปางไสยาสน์

วันพุธ (กลางวัน)                ปางอุุ้มบาตร

วันพุธ (กลางคืน)                ปางป่าเลไลยก์

วันพฤหัสบดี                       ปางสมาธิ

วันศุกร์                                ปางรำพึง

วันเสาร์                               ปางนาคปรกพ

สรุป การสร้างพระพุทธรูปทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น เกิดจากการเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้มีการสักการะบูชาพระพุทธรูป ซึ่งเป็นรูปเคารพ แทนพระพุทธองค์  คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ จะกราบไหว้ สักการะบูชา  และน้อมระลึกถึงพระธรรมคำสอน เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์

พระพุทธรูป พุทธศิลป์สูงค่าสัญญลักษณ์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราชาวพุทธทุกคนกราบไหว้บูชา เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงามเฉกเช่นพระพุทธองค์ สาธุ สาธุ สาธุ

 

บรรณานุกรม

นิธิ  เอียวศรี.  (2546).  “อานิสงส์ของการสร้างพระพุทธรูป.”  ศิลปวัฒนธรรม.  24,  9 (กรกฏาคม): 64-69.

ศักดิชัย  สายสิงห์. (2554).   พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย.  กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

ศักดิ์ชัย  สายสิงห์. (2556).  พระพุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ: เมือง

โบราณ.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และ ไพฑูรย์ พงศะบุตร.   (2550).  “พระพุทธรูป.”  สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับเสริมการเรียนรู้ 8: 7-87.