เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้ทราบข่าวการประชาสัมพันธ์เชิญชวนการส่งยาตรวจหาสารเสตียรอยด์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยทราบข่าวสารนี้จากการบอกต่อของน้องกรุณา พร้อมนี้น้องกรุณายังได้เก็บเอกสารรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ให้ด้วย ดิฉันจึงได้มีโอกาสส่งยาตัวหนึ่งที่ไม่มั่นใจว่าจะเป็น “ยา” หรือว่า “อาหารเสริม” กันแน่ แต่มีความสงสัยในประสิทธิภาพอันครอบจักรวาลของตัวยานี้ หลังจากที่ตัวเองได้ทดลองรับประทานก่อนประมาณ 1 กล่อง ๆ ละ 30 เม็ด รับประทานวันละ 1 เม็ด หลังจากผ่านไป 1 เดือน ไม่มีผลกระทบใด ๆ กับร่างกาย อาการปวดขาดูดีขึ้นจริง จึงได้ส่งต่อให้พ่อดิฉันรับประทาน ซึ่งผลลัพธ์ออกมาดีไม่มีผลกระทบใด ๆ เช่นกัน จึงได้สั่งซื้อเพิ่มมาอีกจำนวน 10 กล่อง ซึ่งพ่อดิฉันได้รับประทานมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนผ่านมา พบว่า อาการป่วยของพ่อดิฉันดีขึ้นเรื่อย ๆ อาการปวดของร่างกายที่เกิดจากโรคเก๊าต์ไม่มีปรากฎเหมือนแต่ก่อน อาการบวมของขาและข้อเข่าก็ลดลงแทบจะปกติ
ถึงแม้ว่าประสิทธิผลของยาจะออกมาในทางที่ดี แต่ในใจก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความบริสุทธิ์ของตัวยา จะมีสารอะไรปนเปื้อนหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากใช้ยานี้เป็นประจำต่อเนื่อง การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากได้ยินข่าวเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารเสตียรอยด์ในยาบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
กระบวนการตรวจสอบเริ่มต้นด้วยการลงทะเบียนฯ จากนั้นนำส่งตัวอย่างยาจำนวนพอเหมาะตามข้อกำหนด พร้อมเขียนชื่อ-สกุล รายละเอียดติดต่อกลับแล้วนำไปส่งยังกล่องรับตรวจ การรอคอยผลการตรวจสอบระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความกังวลว่าผลจะออกมาเช่นไร แต่เมื่อผลการตรวจสอบออกมา ปรากฏว่า “ไม่พบสารเสตียรอยด์” ในตัวยานี้ ความรู้สึกโล่งใจและความมั่นใจในยาที่ใช้อยู่ก็กลับมาอีกครั้ง
จากประสบการณ์นี้ทำให้ดิฉันตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบคุณภาพของยาและการเลือกใช้ยาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ การดูแลสุขภาพของตนเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และการตรวจสอบยาที่ใช้อยู่เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่ายาที่ใช้นั้นปลอดภัยและมีคุณภาพ ในการส่งยาตรวจสารเสตียรอยด์ครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ฉันมั่นใจในยาที่ใช้อยู่ แต่ยังเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพด้วยความรอบคอบ ดิฉันหวังว่าประสบการณ์นี้ จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับเพื่อน ๆ ที่มีความสงสัยยา/อาหารเสริมที่กำลังรับประทานอยู่ หากท่านใดต้องการส่งตรวจฯ แบบดิฉันที่สำคัญ (ฟรี) ค่าใช้จ่ายฯ อย่าพลาดติดตามข่าวสารการประชาสัมพันธ์การรับตรวจสอบหาสารเสตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรกันนะคะ https://www.facebook.com/photo/?fbid=1000482092115695&set=a.453760623454514&locale=th_TH