โดรนหว่านข้าว

ช่วงนี้กรมชลประทานเริ่มปล่อยน้ำมาตามคลองชลประทานเพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูก ชาวนาเริ่มทำนากันแล้ว มองไปทางไหนก็จะเห็นเตรียมไถนา บ้างก็ใช้รถไถเดินตาม บ้างก็ใช้แทรกเตอร์ ขึ้นอยู่ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าจ้าง การจองคิว เป็นต้น สำหรับบ้านของดิฉันตอนนี้เริ่มหว่านข้าวแล้ว ในปีนี้ได้นำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการหว่านข้าวแทนการจ้างคนหว่านข้าว นั่นคือ โดรนหว่านข้าว

โดรนหว่านข้าวได้เข้ามาในวงการทำนาหลายปีแล้ว ที่บ้านของดิฉันเริ่มจ้างหว่านข้าวด้วยโดรนเป็นปีแรก (ก่อนหน้านั้นเคยจ้างโดรนมาใช้พ่นยาฆ่าแมลงในแปลงปลูกเผือก) ซึ่งในแปลงนาปีนี้ต่างจากการใช้แรงงานคนหว่านข้าวคือ จะกักน้ำไว้ในนาก่อนเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวจมลงดิน เมื่อถึงเวลาที่นัดไว้ รถกระบะเข็นโดรนก็มาถึง เซตระบบโดรน โดยมีผู้คุมรีโมทบินรอบแปลงนาเพื่อวัดขนาดของแปลงนา จากนั้นจะคำนวณพื้นที่กับพันธุ์ข้าวปลูก ว่าจะหว่านหนา-บาง ขนาดไหน เมื่อบินวนเรียบร้อยแล้วก็ลงมา เทพันธุ์ข้าวใส่ถังจนเต็ม จุได้ประมาณ 25 กิโลกรัม จากนั้นผู้คุมจะควบคุมการบินของโดรน ซึ่งที่หน้าจอจะมีแถบสีแสดงให้รู้ว่าพื้นที่ตรงไหนหว่านแล้ว ตรงไหนยังไม่ได้หว่าน ไม่มีการหลงแน่นอน (ผู้ควบคุมเล่าให้ฟัง) จากที่สังเกตดูบินสูงพอสมควร ต้องมาลุ้นตอนข้าวเจริญเติบโตกันค่ะ

จากการสังเกตการใช้โดรนหว่านข้าวมีข้อดีหลายประการ

  1. ลดเวลาในการหว่านข้าวปลูก การใช้โดรนหว่านข้าว 1 ไร่ ใช้เวลา 5 นาที โดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับความจุของถังด้วย หากถังมีขนาดใหญ่ ก็จะหว่านได้นานขึ้นจำนวนเที่ยวในการบินไปเติมข้าวก็จะลดน้อยลง) เมื่อเทียบกับคนหว่าน ใช้เวลาไป – กลับนานพอสมควร ยิ่งนาหล่มด้วยแล้ว ใช้เวลานานมาก กว่าจะก้าวขาได้แต่ละก้าวกอปรกับหลังที่แบกเครื่องพ่นข้าวที่มีข้าวเต็มถังหนักใช่เล่น
  2. แก้ปัญหาแรงงานคนหว่านข้าวที่ขาดแคลน คนรับจ้างหว่านข้าวมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของชาวนา โดยเฉพาะในช่วงที่หลาย ๆ บ้านหว่านข้าวพร้อมกันกว่าจะถึงคิวของเราต้องรออีกหลายวัน ต้องมีการนัดคิวจองตัวล่วงหน้าเพราะต้องสัมพันธ์กับการเตรียมชักร่องระบายน้ำและการเพาะพันธุ์ข้าว หากข้าวงอกยาวเกินจะหว่านยากขึ้น
  3. ราคาค่าจ้างใกล้เคียงกันระหว่างโดรนกับแรงงานคน เมื่อเทียบกับข้อดีข้างต้นแล้ว การใช้โดรนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

Leave a Reply