“ท่านประธาน” Green Office หมวดที่ 4 การจัดการของเสีย
ในการดำเนินงานจัดทำห้องสมุดสีเขียว (Green Library) และสำนักงานสีเขียว (Green Office) ของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ในส่วนของฝ่ายหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ นั้น ดิฉันได้รับมอบหมายในตำแหน่งประธาน Green Office หมวดที่ 4 การจัดการของเสีย ในช่วงแรก ๆ ยอมรับว่า ยังงง ๆ ว่ามีหน้าที่และภารกิจอย่างไรบ้าง เพราะยังขาดทักษะและความรู้ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าโดยปกติจะเป็นคนที่มีอุปนิสัยรักษ์โลกและค่อนข้างมีการแยกขยะก่อนทิ้งอยู่แล้วก็ตาม หลังจากที่ได้รับตำแหน่งก็ได้ศึกษาจากคู่มือฯ ฟังบรรยาย ศึกษาดูงานตลอดจนการสอบถามข้อมูลในประเด็นที่สงสัยจากผู้มีประสบการณ์ จึงทำให้ทราบว่า หมวดนี้ หลัก ๆ เน้นในเรื่อง การจัดการของเสียเป็นหลัก คือ ขยะและน้ำเสียนั่นเอง
ในช่วงแรก ๆ การดำเนินงานตามภารกิจหมวด 4 ของพวกเราก็ยังดูไม่มีทิศทาง/ไม่เป็นรูปธรรม/ไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร โดยดิฉันได้เริ่มจากการแยกขยะรอบตัวเรา ด้วยการนำกล่องลังที่ไม่ใช้แล้วมาวางที่โต๊ะด้านหลังแล้วมีการแยกขยะก่อนทิ้งเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนร่วมงานโดยแยกประเภทเบื้องต้น คือ ขวดพลาสติก ฝาขวด ขวดแก้ว แก้วพลาสติก หลอด กระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม รวมถึงพลาสติกห่อหุ้มประเภทขยะกำพร้า หลอดไฟ ถ่านไฟฉายที่หมดแล้ว เป็นต้น เริ่มมีการสำรวจการทิ้งขยะในถังทั่ว ๆ ไปของเพื่อน ๆ หากพบขยะที่ทิ้งไม่ถูกต้องถูกหลักการ ก็จะหยิบออกมาดำเนินการใหม่ พร้อมด้วยเสียงบ่น ๆๆๆ ให้เพื่อนคนข้าง ๆ ได้ฟัง (เพื่อนร่วมงานท่านที่พอจะรับฟังและเข้าใจเรา)
ต่อมาหลังจากที่ได้มีการฟังบรรยาย ศึกษาดูงาน ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากส่วนงานอื่น ๆ เป็นตัวอย่าง ตลอดจนทางสำนักหอสมุดกลางฯ ได้มีการจัดซื้อถังขยะแบบแยกประเภทมาให้พร้อมด้วยป้ายประชาสัมพันธ์แบบชัดเจน ทีมงานของเราจึงได้มีการขยับขยายกิจการโดยการร่วมกันหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการจัดวางถังแยกขยะ ทีมงานทุกคนร่วมกันปัด กวาด ขัด ล้าง สถานที่จัดวางถังอย่างขะมักขะเม้น หลักจากที่ได้จัดวางถังแยกขยะแล้ว ดิฉันก็ได้คิดต่อว่า ปัจจุบันเรามักจะเห็นการทิ้งขยะที่เป็นแก้วน้ำพลาสติกที่มีทั้งน้ำและน้ำแข็งในแก้ว หากทุกคนถือมาทิ้งลงในถังขยะทั่วไปโดยไม่เทน้ำ/น้ำแข็งออกก่อน ก็จะเพิ่มภาระให้คนจัดเก็บขยะเป็นอย่างมากโดยนอกจากถังขยะจะเต็มเร็วและน้ำหนักที่มากเกินกำลังของพนักงานฯ รวมถึงการไหลเยิ้มของน้ำ/น้ำแข็งที่ละลายน่าจะเพิ่มภาระให้พนักงานจัดเก็บขยะไม่น้อย
จากความรู้ที่ได้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะบุคลากรหอสมุดฯ ผู้ไปศึกษาดูงาน ณ ชุมชนบ้านรางพลับ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก Youtube เกี่ยวกับชุมชนตัวอย่าง “บ้านรางพลับ” แห่งนี้ ดิฉันเกิดความสนใจนวัตกรรม “ถังดักไขมัน” ของชุมชนฯ จึงได้หาข้อมูลเพื่อติดต่อสอบถามรายละเอียด คุณสมบัติ การใช้งาน การสั่งซื้อจนได้หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ เมื่อได้รับทราบข้อมูลในเบื้องต้นจากท่าน ผอ. จื้อ แห่งชุมชนบ้างรางพลับแล้ว จากนั้นแอดไลน์สั่งซื้อทันทีด้วยงบประมาณส่วนตัว เพราะไม่มีงบประมาณใดจะดำเนินการได้ไวเท่ากับความคิดเราแล้ว สั่งเช้าส่งบ่าย ในช่วงบ่ายสินค้าจัดส่งถึงหอสมุดฯ ทันที รวดเร็วทันใจเป็นอย่างมาก ถังนี้นอนนิ่ง ๆ อยู่หลายวัน จนกระทั่งถึงฤกษ์งามยามดี จากนั้นทีมงานของเราก็ได้ร่วมกันหาสถานที่จัดตั้งฯ ร่วมกันคิดค้นหาวิธีการกรองน้ำแบบสมัยโบราณคล้าย ๆ กับชุมชนบ้างรางพลับ อาจจะแตกต่างจากบ้านรางพลับเล็กน้อย เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยฯ ปริมาณขยะแก้วน้ำของเรามีค่อนข้างมากจึงได้จัดหาถังกรองที่มีขนาดใหญ่กว่าชุมชนฯ พร้อมเพิ่มชั้นการกรองให้มากกว่า โดยชั้นการกรองจะมีทรายละเอียด กรวด หินเล็ก หินก้อนใหญ่ สำลี เส้นใยอเนกประสงค์ที่ทิ้งจากการจัดนิทรรศการฯ เป็นต้น หลังจากทีมงานติดตั้งแล้วเสร็จ จึงทำการทดลองเทน้ำทิ้ง ตรวจสอบการกรองของถังฯ ปรับระดับตามความเหมาะสมจนสามารถใช้งานได้จริง โดยน้ำที่ไหลผ่านถังดักไขมันและถังกรองลงสู่พื้นดินเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้บริเวณดังกล่าวต่อไป
เมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่ง ก็เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ขึ้นในบริเวณดังกล่าว ดิฉันจึงได้ใช้หลักการจุลินทรีย์ (EM) ช่วยย่อยที่ทำเป็นประจำที่บ้านตนเอง มาช่วยดับกลิ่นร่วมด้วย โดยการจัดซื้อหัวเชื้อจุลินทรีย์และกากน้ำตาลจากร้านค้าที่ปฐมอโศก ติดต่อขอขวดนมที่บริโภคหมดแล้วจากร้านกาแฟน้องอุ๋มในหอสมุดฯ นำขวดมาล้างให้สะอาดคว่ำให้แห้ง จากนั้นหัวเชื้อและกากน้ำตาลมาผสม EM เองเพื่อขยายจุลินทรีย์ให้ได้จำนวนมาก ๆ เป็นการช่วยประหยัดงบประมาณส่วนตนได้มาก เพราะถ้าหากเราไม่ขยายไว้จำนวนมาก ๆ ราคาขาย EM ในท้องตลาดอยู่่ที่ประมาณขวดขนาด 1.5 ลิตร ราคา 20-30 บาท ใช้ได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น การขยายจุลินทรีย์เองในช่วง 1-7 วันจำเป็นต้องเปิดฝาทุกวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์ เมื่อครบ 7 วัน สามารถนำมาใช้งานได้ โดยนำ EM มาเทใส่ในถังดักไขมันประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ น้ำจุลินทรีย์จะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยซากเศษไขมันในถัง ช่วยปรับเปลี่ยนสภาพน้ำให้ดีขึ้นเกิดเป็นน้ำที่มีสารอาหารสามารถเป็นปุ๋ยชั้นดีในดินเพื่อการเจริญเติบโตของต้นไม้บริเวณนั้นต่อไป
สำหรับภารกิจของดิฉันในฐานะท่านประธาน และทีมคณะกรรมการดำเนินงาน สำนักงานสีเขียว (Green Office) ของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ในส่วนของฝ่ายหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ หมวดที่ 4 การจัดการของเสีย ยังมีอีกหลายกิจกรรม สำหรับ blog นี้ แค่นี้ก่อนนะคะ เดี๋ยวจะยาวเกินไป blog หน้าค่อยมาเล่าต่อค่ะ