การนั่งสมาธิของดิฉัน เริ่มจริง ๆ จัง ๆ อีกครั้งเมื่ออาการกล้ามเนื้อหลังอักเสบดีขึ้น ดิฉันจึงได้บอกกับลูกสาวว่า “แม่จะไปนั่งสมาธิด้วยนะ” เนื่องจากลูกสาวนั่งสมาธิมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ณ บ้านบุญ-บารมี ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม ห่างจากบ้านประมาณ 13 กิโลเมตร โดยจะมีตัวแทนนำสวดมนต์ มีหนังสือบทสวดต่าง ๆ ให้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (เวลา 20:00 – 21:00 น.) มีนั่งสมาธิสวดมนต์ทุกวัน ในวันพระจะมีผู้ร่วมนั่งสมาธิ สวดมนต์มากว่าวันอื่น ๆ โดยการแต่งกาย คือ ชุดขาว หรือชุดปฏิบัติธรรม
การนั่งสมาธิมีต้นกำเนิดในดินแดนตะวันออก ด้วยเหตุผลทางศาสนา ดังนั้นในแต่ละประเทศต่าง ๆ จึงมีเทคนิคการทำสมาธิที่แตกต่างกันออกไป การนั่งสมาธิผู้นั่งจะต้องเริ่มต้นที่การหัดเพ่งความสนใจไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หยุดความคิดที่ฟุ้งซ่านเพื่อทำจิตใจให้ว่างเปล่า และมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้ 1) สถานที่เงียบสงบ 2) ท่าที่สบาย 3) การรวบรวมความสนใจ และ 4) อย่าเครียดจนเกินไป
สำหรับการนั่งมาธินั้น มีการกำหนดจิตได้มากมายหลายวิธี วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และสม่ำเสมอหรือจะเป็นวิธีอื่นก็ได้ เช่น การกำหนดคำว่า พุท-โธ หรือการนับเลข ก็ได้เช่นกัน
การนั่งสมาธิเพื่อสุขภาพเปรียบได้กับการให้ยากับจิตใจ เพราะการนั่งสมาธิจะทำให้สมองปลอดโปร่ง การทำงานของร่างกายสัมพันธ์กันดียิ่งขึ้น และสามารถทำให้เราควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสงผลดีต่อสุขภาพโดยรวม การทำใจให้สงบมีสมาธิและอารมณ์แจ่มใสทำให้เกิดความสุขและเกิดผลดีแก่ตนเอง ส่วนผู้ที่ทำใจไม่สงบ ไม่มีสมาธิอารมณ์ขุ่นมัวย่อมเกิดผลเสียแก่ตนเอง ความไม่สงบของจิตใจยังก่อให้เกิดความพลุ่งพล่านของอารมณ์ สภาวะจิตที่ฟุ้ง จิตที่ว้าวุ่น ไม่สงบ หรือสมาธิไม่แข็ง จะส่งผลให้ วิตกจริต หลง ๆ ลืม ๆ โรคภัยถามหา และงานไม่บรรลุผล สำหรับคนที่ไม่มีสมาธิในการทำงานย่อมจะส่งผลเสียต่อชีวิต ความก้าวหน้าและความสำเร็จในหน้าที่การงาน หากเราได้ฝึกการทำสมาธิเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย จนนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำงานในหน้าที่หรือการใช้ชีวิติปกติ เช่น ขับรถ พูดคุยเจรจา ก็จะทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ประโยชน์ที่ได้รับจากจากฝึกนั่งสมาธิ คือ 1) ฝึกจิตให้นิ่งได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น 2) เพิ่มทักษะการจัดการความเครียด 3) เพิ่มความอดทนอดกลั้น 4) รู้สึกผ่อนคลาย และ 5) ช่วยให้สมองปลอดโปร่งยิ่งขึ้น
ลองมาฝึกนั่งสมาธิกันนะคะ
อ้างอิง
กองบรรณาธิการ. (2560). สมาธิ สติ และปัญญา. วิทยาจารย์, 116(3), 65-67.
สมาธิเพื่อพัฒนาการทำงานให้ประสบความสำเร็จ. (2549). วารสารกรมบัญชีกลาง, 47(6), 85-86
สมาธิเพื่อสุขภาพจิตที่ดี. (2529). วารสารการศึกษา กทม., 11(3), 28-30
โอวัลติน. (2551). สมาธิกับสุขภาพ. วารสารสายใจไฟฟ้า, 44-45