การแพทย์ทางเลือก (แพทย์แผนจีน)

หลังจากที่พ่อแม่ของดิฉันได้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด เก๊าท์  มาเป็นระยะเวลานาน และได้เข้ารับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละวันต้องรับประทานยาปฏิชีวนะจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายี่สิบกว่าปี  ดิฉันก็ไม่แน่ใจถึงผลกระทบที่แท้จริงของการรับประทานยาต่อเนื่องนาน ๆ ได้แต่หาข้อมูลฯ และคิดเองว่าไม่น่าจะดีและสุดท้ายก็ต้องมีปัญหาในเรื่องตับ ไต เป็นแน่  เนื่องจากเห็นผู้ป่วยหลายรายมักพบจุดจบด้วยโรคไตและการฟอกไต  จากประสบการณ์ตรงของตนเองในการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก คือ แพทย์แผนจีนที่คลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม

  เป็นการรักษาด้วยสมุนไพรไทยร่วมกับสมุนไพรจีน  ดิฉันจึงได้ทดลองพาพ่อกับแม่ไปรักษาด้วยแพทย์แผนจีน ในครั้งแรกที่พบแพทย์ แพทย์ก็จะทำการแมะข้อมือและข้อเท้าเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งน่ามหัศจรรย์เป็นอย่างมากที่ไม่มีเครื่องมือใด ๆ แต่แพทย์สามารถแจ้งอาการป่วยของเราได้ถูกต้องทุกอย่างแบบละเอียด ซึ่งบางครั้งเครื่องมือทางการแพทย์ยังต้องใช้หลายชิ้นจึงจะทราบผลได้ละเอียดเท่านี้   นอกจากนี้  แพทย์ยังทราบถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างดี จากนั้นก็จะแจ้งแนวทางการรักษา การจ่ายยา การปฏิบัติตน ซึ่งแต่ละรายแตกต่างกันไป บางรายที่มีอาการหนักอาจต้องเป็นคนไข้ใน บางรายที่อาการไม่หนักสามารถนำยากลับไปรับประทานเองที่บ้านได้ บางรายต้องมีศาสตร์อื่น ๆ ร่วมด้วยในการรักษา เช่น  การฝังเข็ม การนวดประคบ อบสมุนไพร กัวซา ครอบแก้ว เป็นต้น

การรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน มีทั้งการเข้าคอร์สอยู่กิน-นอนที่คลินิก และแบบนำยากลับไปรับประทานที่บ้าน  ดิฉันได้เลือกทั้ง 2 วิธี โดยแม่ให้เป็นแบบเข้าคอร์ส ส่วนพ่อเป็นแบบนำยากลับไปรับประทานที่บ้านเอง  ในระยะแรก ได้สอบถามอาการพบว่า ยามีการขับในร่างกายเป็นอย่างมาก กระทบการใช้ชีวิตประจำวันในระยะแรก ๆ โดยเฉพาะในสัปดาห์แรก ส่งผลให้ดิฉันและพี่สาวต้องไปนอนเฝ้าไข้แม่อยู่ 2 สัปดาห์  เนื่องจากถ่ายบ่อย เท้าบวม เดินด้วยตนเองไม่ได้ แต่เมื่อผ่านพ้นไปประมาณ 3 สัปดาห์อาการต่าง ๆ ก็ทุเลาลง  จากการสอบถามพ่อกับแม่พบว่า  อาการโดยรวมทั้งระบบร่างกายมีสภาวะที่ดีขึ้น ระบบการขับถ่ายในร่างกายดีขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบราคาก็ถือว่าราคาค่อนข้างสูง และไม่สามารถเบิก-จ่ายสิทธิ์ใด ๆ ได้  อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการใช้ยาแพทย์แผนจีน มีข้อจำกัดและแนวปฏิบัติมากมาย ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อด้อย  หากเราปฏิบัติได้ก็เป็นสิ่งที่ดีและส่งเสริมการรักษาให้ดียิ่งขึ้นไป  เช่น ยามีรสชาติขม/ฝาด/เปรี้ยว มีกลิ่นแรง ส่งผลให้รับประทานยาก  การตรงต่อเวลาในการรับประทานยา การผสมยา (สมุนไพร) แต่ละอย่าง การงดอาหารแสลง อาหารย่อยยาก  เช่น นม เนื้อหมู หน่อไม้ ฟัก การรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานในช่วงค่ำ  การอาบน้ำในช่วงค่ำ เป็นต้น  ทุกสิ่งอย่างในการปฏิบัติตนล้วนส่งผลต่อร่างกาย  ตลอดจนการควบคุมการรับประทานน้ำตามน้ำหนักตัว หากรับประทานมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกาย

ท้ายที่สุด พ่อกับแม่ของดิฉันก็ไม่สามารถปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของแพทย์ศาสตร์จีนได้อย่างเคร่งครัด  จึงส่งผลกระทบต่อโรคที่ป่วย ค่าระดับน้ำตาลสูงมากถึง 495  ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง  เหนื่อยง่าย  มีอาการวูบ เป็นต้น  ดังนั้น  เพื่อสุขภาพที่ดีของพ่อกับแม่ ดิฉันจึงได้เลือกอีกครั้งให้เหมาะกับการดำเนินชีวิตของพ่อกับแม่ โดยนำพ่อกับแม่กลับไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดิม