“ชมพู่หวาน” ไม่ต้องพึ่ง “ปุ๋ยหวาน”

ในสวนที่บ้านดิฉันปกติจะปลูกพืชผักผลไม้แบบสวนผสม มีหลากหลายประเภทและสายพันธุ์ บางประเภทออกผลผลิตทั้งปี บางประเภทออกผลตามฤดูกาล และเมื่อผลผลิตผลิดอกออกผล ดิฉันก็จะมีหน้าที่ช่วยเหลือครอบครัวในการจัดจำหน่าย ตั้งแต่การบริหารจัดการในเรื่องการประชาสัมพันธ์หาลูกค้า การจัดเก็บ การจำหน่าย การจัดส่ง การวางจำหน่าย เป็นต้น  โดยปกติพืชผักผลไม้ที่มีจำหน่ายเป็นประจำก็จะมีประเภท มะม่วงหลากชนิด ฝรั่งไส้แดง (ไต้หวัน) กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว (คาเวนดิช) กล้วยหักมุก กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยตานี กล้วยไข่ กล้วยนมสาว กล้วยนานาชนิด ละมุด มะละกอ มะพร้าว สาเก พริกขี้หนูสวน มะเขือพวง ส้มจี๊ด มะเขือเปราะ มะเขือเหลือง ตำลึง ใบกระเพรา ใบมะกรูด ผลมะกรูด ใบโหระพา ใบตอง หัวปลี เป็นต้น

เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา พี่ชายดิฉันได้ทำการเซ้งหรือเช่าต่อสวนชมพู่จากเกษตรกรท่านอื่น เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ด้วยงบประมาณ 100,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี พื้นที่สวนเป็นร่อง ประมาณ 5 หรือ 6 ร่อง ไม่แน่ใจ ในร่องสวนปลูกชมพู่ไว้ทุกร่องซึ่งกำลังจะได้ผลผลิต แต่เจ้าของสวนเลิกทำกลางคัน พี่ชายดิฉันไม่มีความรู้ในเรื่องสวนชมพู่แต่อย่างใด จึงได้หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอนและให้คำแนะนำ นอกจากนี้ ยังรับการแนะนำคนงาน 2 คน ซึ่งเป็นสามีภรรยากันซึ่งเป็นผู้ที่เคยรับจ้างทำสวนชมพู่ค่อนข้ามีประสบการณ์ พี่ชายดิฉันจึงจ้างคนงาน 2 สามีภรรยานี้ จนกระทั่งผลผลิตเริ่มเก็บได้ ในระยะแรก ๆ ที่จำหน่ายไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเหมือนปัจจุบันนัก ดิฉันเองก็ไม่ค่อยชอบผลไม้ชนิดนี้ จึงไม่ได้รับประทาน จนกระทั่งระยะเวลาหนึ่งเริ่มมีลูกค้าหลายรายมาถามหาชมพู่ ในช่วงที่ชมพูขาดช่วง หรือหลายรายก็มากล่าวชมว่า “ชมพู่อร่อยมาก / เนื้อแน่นมาก / ไม่ฟูน้ำ / หวานกรอบมาก นานาคำติชม ดิฉันจึงเริ่มแปลกใจว่า “อร่อยตรงไหน”  จึงได้ทดลองชิมดูบ้าง จึงถึงบางอ้อว่าทำไมลูกค้าต่างแวะเวียนมาถามหา จึงได้ไปสอบถามพี่ชายว่า เพราะอะไร ทำไมชมพู่สวนเราถึงไม่ค่อยเหมือนใคร ได้รับคำตอบว่า ที่สวนไม่ได้หวานด้วยปุ๋ยหวาน ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี แต่ใช้ “ปุ๋ยชีวภาพ” ดิฉันจึงอ้ออีกครั้งว่า ทำไมชมพู่เราถึงมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครจริง ๆ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะ “ปุ๋ยหวาน” ที่เรียกกันติดปาก