Peer ไม่ให้ เพลีย

Peer ที่จะเล่าให้ฟังหมายถึง Peer Review ซึ่งหมายถึง “กระบวนการของวารสารวิชาการ (Scholarly Journals) ที่ให้มีคณะผู้เชี่ยวชาญ สำหรับแต่ละสาขา เป็นผู้พิจารณาตรวจสอบ อ่านบทความ และตัดสินว่า บทความดังกล่าว เป็นที่ยอมรับ (accepted) หรือปฎิเสธ (rejected) หรือให้กลับไปปรับปรุงแก้ไข (revised) ก่อนรับรองให้ลงพิมพ์ในวารสารนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของบทความ และรับประกันว่า ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่นั้น เป็นผลงานที่ดีและมีคุณภาพ ผ่านการตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญ (Referees) เพื่อทำให้วารสารวิชาการ มีลักษณะที่เรียกว่า Peer-reviewed Journals หรือ Refereed Journals และได้รับความเชื่อถือในสาขาวิชานั้น ๆ ” พี่คัดลอกคำอธิบายที่ ดร. รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ได้เขียนให้ความรู้ไว้ที่นี่  อ่านต่อกันนะคะ https://stang.sc.mahidol.ac.th/research/peer.php

 

ชีวิตพี่มีสองบทบาทคือ เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจ และเป็นผู้ได้รับการตรวจ ซึ่งสนุกไม่แพ้กัน

บทบาทแรกคือ รับบทนางสายตรวจ พี่จะเริ่มตั้งแต่ดูชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ กระบวนการ และผล ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ส่วนข้อเสนอแนะ  มีความเป็นไปได้ไหมในยุคปัจจุบันและกับงานชิ้นที่กำลังทำ  อ่านไปค่ะ สมัยนี้วารสารวิชาการจะอยู่ใน ThaiJo จึงเป็นไฟล์ มีขั้นมีตอน ไว้ถ้ามีโอกาสจะมาเล่าให้ฟัง แต่พี่เป็นคนโบราณต้องพิมพ์ออกมาอ่าน อ่านทบทวนหลายครั้ง จนกลับเอาไปฝัน หากมีประเด็นสงสัยพี่จะนำไป “ถก” กับคนอื่น ๆ เพื่อฟังความคิดเห็นว่าจะเบ้มาทางเรา หรือ ไปทางเจ้าของผลงาน ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจและรอบด้าน จากนั้นตรวจสอบตาราง ชื่อตาราง การร้อยเรียงของการเขียน การอ้างอิง บรรณานุกรม การฉีกคำ และคำผิด โดยมักบอกว่าให้ผู้เขียนตรวจทานอีกรอบ สรุปคือดูไปค่ะตั้งแต่อักษรตัวแรก ถึงตัวสุดท้าย งานตรงนี้จะใช้ฟังค์ชั่นในเวิร์ดค่ะ คลิกไป คลิกมาเด๋วเป็นเอง จากนั้นส่งให้กองบรรณาธิการ

 

บทบาทที่สองคือรับบทผลกรรม  คือหากเราส่งบทความไปตีพิมพ์ที่ใด ๆ ก็มีผู้อื่นที่เป็นผู้ทำหน้าที่ในบทบาทแรกในการตรวจงานของเรา สิ่งที่แรกที่ดูคือเขาให้เราแก้อะไร ถ้าไม่ถูกใจก็จะรับบทต่อไปคือ “นางครวญ” แต่พี่ก็ชอบ โดยเฉพาะบอกว่าพี่ควรเพิ่มประเด็นอะไร ปรับความตรงไหน จะแก้สักกี่ครั้งก็ไม่เพลีย คนที่เพลียคือโน่นค่ะ คนที่ตรวจงานเรา 55

 

งานที่ได้รับการตรวจและชอบมากที่สุดมี 3 ครั้ง คือ สมัยยังละอ่อน ที่ทำงานเก่าให้เขียนรีวิวหนังสือเพื่อลงวารสาร น่าจะเป็น 2529 ไว้จะกลับไปดูงานตัวเอง แล้วมาเล่าให้ฟัง ดราฟท์แรกขึ้นต้นว่า … เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า… หัวหน้าครั้งโน้นอ่านแล้วบอกเบา ๆ ว่า เขียนใหม่ แค่เนียะ!!  ตาเหลือกค่ะ ส่วนครั้งที่สอง เป็นการเขียนบทความภาษาอังกฤษ ตอนไปอยู่ที่เกียวโต เนื่องจากเข้าใจผิดเรื่องจำนวนคำ ที่เขียนไปมากเกินไป เพราะตาแชแหม จึงหน้ามืด เรื่องนี้รัก บก. มาก เพราะให้ทั้งประเด็นและขัดเกลาให้อย่างงดงาม  ส่วนครั้งที่สาม เป็นการเขียนลงในวารสารที่ข้ามสายงาน เรื่องนี้เคยเขียนโม้แล้ว

 

ถามว่าแก้กี่ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเขียนลงกระดาษ ลบ แล้วเขียน ๆ อ่านทวนจนท่องได้  จนมั่นใจจึงไปส่งแบบขวัญหนีดีฝ่อ  เหตุการณ์นี้ทำให้พี่ติดนิสัยเรื่องการเขียนแล้วอ่าน ๆ ๆ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน เรื่องสองและสาม เขียนใหม่หลายครั้งมาก จนขี้เกียจนับ คาดว่า บก. ก็เพลีย ชายตามองเวลาการปิดต้นฉบับ ส่วนดิฉันไม่เพลียบอกว่าลงฉบับต่อไปก็ได้ ส่วนครั้งที่สามมีอารมณ์อยากเลิกเขียน เพราะว่าชีวิตการทำงานปรกติ ไม่ได้ต้องนำผลงานทางวิชาการไปอ้างอิงกับเรื่องใด แต่การเลิกเขียนนั้นทำง่าย แต่เป็นการเสียโอกาสดี ๆ ที่มีผู้หยิบยื่นให้

 

บางครั้งเราเลือกอะไรไม่ได้ก็ขอให้มองในแง่งามของเรื่องนั้น ส่วนการบ่น การเบื่อ ถือว่าเป็นกลไกในการเยียวยาจิตใจ … ไม่ “เพลีย” กันเนอะ

 

ตบบ่าตัวเบา เบา