การพัฒนาการเรียนรู้จากสมุนไพร ของชุมชนปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม : การสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน

ความเป็นอยู่ของชุมชน

ชุมชนปลักไม้ลาย ชาวบ้านในชุมชนปลักไม้ลายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยตั้งแต่เช้าถึงเย็นจะทำงานในไร่อ้อย หรือทำสวนหน่อไม้ฝรั่ง ชาวบ้านสนใจแต่เรื่องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวอย่างไม่มีเวลาว่างตลอดทั้งปี (สัมภาษณ์, นายทินวัฒน์ ถิรวัฒน์กุล ,18 ม.ค. 2543) ไม่มีเวลาจะทำอย่างอื่นนอกจากช่วยงานบุญ วันสำคัญก็จะไปทำบุญที่วัด ในอดีตจะมีประเพณีลงแขกช่วยเหลือกันออกไร่ ต่อมามีชาวอีสานมารับจ้างตัดอ้อย การลงแขกก็ค่อยๆ หายไป เปลี่ยนมาเป็นการจ้างงานแทน สังคมหมู่บ้านเปลี่ยนไปมากจากการที่เคยช่วยเหลือโดยไม่หวังค่าตอบแทน เป็นการจ้างงานกัน

ในชุมชนปลักไม้ลาย นอกจากกำนันแล้ว ยังมีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นผู้นำของหมู่บ้าน ในระบบการปกครองแบบราชการมากขึ้น แต่ผู้อาวุโสของหมู่บ้านเช่นนางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน หรืออีกหลายคนก็ยังเป็นผู้อาวุโสที่คนในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ รวมทั้งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ด้วย ทำให้คนในหมู่บ้านเกรงใจยิ่งขึ้น

ปัจจุบันชุมชนปลักไม้ลายมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากขึ้น การพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีถนนลาดยาง มีรถเมล์วิ่งผ่านทางเข้าหมู่บ้านที่ทางเข้าวัดหนองงูเหลือม และบ้านกระถินแดง ตลอดเวลา ถ้าเป็นรถเมล์สายนครปฐม – กำแพงแสน จะมี รถเมล์ทุก 30 นาที แต่ถ้าเป็นรถเมล์ระหว่างจังหวัดคือ กรุงเทพ นครปฐม สุพรรณบุรี อู่ทอง จะผ่านตลอดเวลา มีคลองชลประทาน สถานที่ก่อสร้างสำคัญๆ เช่น อบต. สถานีอนามัย หน่วยงานราชการ ตั้งในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานีอนามัยได้รับเงินบริจาคจากเจ้าอาวาส ในการสมทบเงินสร้างสถานีอนามัยและสร้างโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โรงอบสมุนไพร ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านศรัทธาเจ้าอาวาสมากขึ้น คือชาวบ้านมองว่าเจ้าอาวาสไม่นำเงินไปสร้างถาวรวัตถุในวัด ยังคงให้วัดเงียบสงบเป็นป่าสมุนไพร แต่เงินที่ได้จากการทำบุญ การบริจาคต่างๆ จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนโดยรวม

พื้นที่

หมู่บ้านปลักไม้ลายในปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 1,004 ไร่ (ข้อมูล กชช.2ค, ปี พ.ศ. 2541) พื้นที่นี้เป็นข้อมูลเฉพาะพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านปลักไม้ลาย แต่ถ้าพิจารณาการแบ่งเขตตามมิติของสังคม วัฒนธรรมตามที่ชาวบ้านตระหนักว่าตนเองเป็นชาวบ้านปลักไม้ลาย จะทำให้พื้นที่ชุมชนปลักไม้ลายมีอาณาเขตกว้างขึ้น พื้นที่ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงจากเดิม เนื่องจากการแบ่งเขตของกระทรวงมหาดไทย มีการแบ่งพื้นที่เดิมของหมู่ที่ 6 เป็นหมู่อื่นๆ โดยในปลายปี พ.ศ. 2538 – ต้นปี พ.ศ. 2539 มีการแบ่งพื้นที่จัดตั้งเป็นหมู่บ้านคือ หมู่ที่ 9 บ้านสี่แยกดอนขุนวิเศษ ปลายปี พ.ศ.2539 มีการตั้งหมู่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านหนองไข่กาขึ้น

อาณาเขตของหมู่ที่ 6 บ้านปลักไม้ลายในปัจจุบันติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับหมู่ที่ 7 บ้านบ่อน้ำพุ และหมู่ที่ 1 บ้านหลักเมตร ตำบลทุ่งขวาง

ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลหนองงูเหลือม

ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่ที่ 1 บ้านหลักเมตร ตำบลทุ่งขวาง

ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลห้วยหมอนทองและหมู่ที่ 9 บ้านสี่แยกดอนขุนวิเศษ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่เกษตร 870 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ดอนดินร่วนปนทราย ใช้ในการปลูกอ้อย ประมาณ 600 ไร่ และส่วนหนึ่งประมาณ 100 ไร่ ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง นอกจากนั้นเป็นพื้นที่ใช้สำหรับการอยู่อาศัย ปลูกผลไม้ และปลูกผักสวนครัว และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ พื้นที่ของวัดปลักไม้ลายประมาณ 92 ไร่ เป็นป่าสมุนไพรดั้งเดิม และมีบางส่วนเป็นป่าสมุนไพรที่ปลูกเพิ่มขึ้นมาใหม่ ดังแผนภาพที่ 1 แผนที่แสดงอาณาเขต ตำบลทุ่งขวาง อำเภอ -กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

สำหรับสัตว์เลี้ยง ชาวบ้านส่วนหนึ่งเลี้ยงหมู มีการเลี้ยงหมู 320 ตัว เลี้ยงไก่ 32 ตัว เลี้ยงวัว 1 ตัว (ข้อมูลจาก อบต. ทุ่งขวาง ปี 2542)

การพัฒนากระบวนการเรียนรู้

การจัดกิจกรรมโดยผ่านการศึกษาในระบบ

เนื่องจากชุมชนปลักไม้ลายมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีความพร้อม คือมีอาจารย์สอนวิชาเกษตร ที่ได้มอบหมายงานให้นักเรียนทำกิจกรรมเกี่ยวกับสมุนไพร คือการปลูก การหารายชื่อและสรรพคุณของสมุนไพร การจัดการเรียนการสอนเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องสมุนไพร โดยวิธีการบูรณาการในการเรียนการสอน เช่น การพัฒนาหลักสูตร การสร้างบทเรียนสำเร็จรูป การนำผู้รู้มาช่วยสอน การให้นักเรียนเรียนโดยวิธีการทำโครงการ จัดกิจกรรมแข่งขันความรู้เรื่องสมุนไพร เป็นต้น การพัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอน เช่น การส่งเสริมให้การทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียยนการสอนเพี่ยวกับสมุนไพร การอบรม การดูงาน

การจัดกิจกรรมโดยเรียนรู้กับกลุ่ม

การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยการจัดกิจกรรมในลักษณะที่เป็นการจัดการศึกษานอกระบบ โดยจัดกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น กลุ่มแม่บ้าน อสม. เยาวชน ผู้สูงอายุ พระ แม่ชี และกลุ่มแกนนำของชุมชน เป็นต้น โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ สามารถทำได้ ดังนี้

1. พัฒนากลุ่มแม่บ้านให้รู้จักสมุนไพร แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง โดยผลิตเพื่อใช้เองในครัวเรือนก่อนในเบื้องต้น

2. จัดอบรม จัดกิจกรรม เสริมความรู้ด้านสมุนไพรกับกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อช่วยให้ช่วยเผยแพร่ความรู้แก่ชุมชนรวมทั้งช่วยรณรงค์ให้คนในชุมชนให้ใช้สมุนไพร

3. จัดอบรมเยาวชนนอกระบบโรงเรียนให้มีความรู้เพื่อสมุนไพร ด้านสรรพคุณ การปลูก รวมถึงการฝึกให้เป็นมัคคุเทศฯท้องถิ่นในการนำชมป่าสมุนไพร

4. จัดกลุ่มพูดคุยกับผู้สูงอายุ เรื่องสมุนไพร จึงควรพัฒนากลุ่มนี้ให้มีความรอบรู้เพื่อเป็นผู้นำทางความคิดให้กับชุมชน โดยพระจะได้ใช้โอกาสสนทนาธรรมกับญาติโยม เผยแพร่เรื่องสมุนไพรและแม่ชีซึ่งเป็นกำลังสำคัญของวัดในการปลูกสมุนไพร แปรรูปและช่วยปรุงยา ให้ได้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวดีขึ้น

5. พระและแม่ชีมีบทบาทมากในเรื่องของสมุนไพร จึงควรพัฒนากลุ่มนี้ให้มีความรอบรู้เพื่อเป็นผู้นำทางความคิดให้กับชุมชน โดยพระจะได้ใช้โอกาสเวลาสนทนาธรรมกับญาติโยม เผยแพร่เรื่องสมุนไพร และแม่ชีซึ่งเป็นกำลังสำคัญของวัดในการปลูกสมุนไพร แปรรูปและช่วยปรุงยา ให้ได้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวดีขึ้น

6. แกนนำของชุมชน เป็นผู้นำ มีบทบาทเป็นผู้นำกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ควรได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสมุนไพร เพื่อจะได้ช่วยรณรงค์และสร้างเครือข่ายในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน

การจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม

1. จัดทำสื่อพื้นบ้าน เพื่อการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ เช่น สื่อแผ่นพับ สื่อเสียงตามสาย และให้คนในชุมชนเป็นผู้กำหนดและร่วมกันผลิตสื่อที่เหมาะสมกับชุมชน

2. จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าสมุนไพร โดยให้คนในชุมชนนำต้นกล้าพันธ์สมุนไพรมาถวายวัดร่วมกัน แล้ววัดแจกจ่ายแลกเปลี่ยนพันธ์สมุนไพรคืนให้ชาวบ้าน นอกจากนั้นในกรณีที่พระครูสุธรรมนาถ หรือพระรูปอื่นๆ ในวัด ไปเทศน์เผยแพร่ความรู้ในที่ต่างๆ จะจัดทำสื่อให้เผยแพร่ด้วย

3. จัดนิทรรศการเกี่ยวกับสมุนไพร ในบริเวณศูนย์จัดจำหน่ายสมุนไพรของวัด โดยมีกลุ่มคือนักเรียน ชาวบ้าน และผู้มาเยี่ยมชมป่าสมุนไพร โดยใช้สื่อต่างๆ เช่น ป้ายนิเทศ สื่อมัลติมีเดีย ของจริงและแผนผังแสดงขั้นตอนต่างๆ

4. จัดเสวนาแลกเปลี่ยนกับคนในชุมชน เรื่องข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรของชุมชนปลักไม้ลาย และแนวทางการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรเป็นระยะๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมกับคณะวิจัย ในการพิจารณา ร่วมคิด ร่วมทำและให้ข้อเสนอแนะทุกขั้นตอน

5. ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกชุมชน เพื่อขยายผลการใช้สมุนไพร และการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรของชุมชน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน และสร้างเครือข่ายให้กับชุมชน