อาจารย์ฝรั่ง…ทำไม? ชื่อ “ศิลป”
หลายคนอาจเคยสงสัย ทำไม อ.ศิลป์ พีระศรี
ซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่ หน้าตาก็ไม่ละม้ายสักนิดว่าเป็นคนไทย
เหตุใดจึงมีชื่อ-นามสกุล very Thai
เพราะอะไร??
อ.ศิลป์ เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci)
เป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
เกิดเมื่อ 15 กันยายน พ.ศ.2435 (ค.ศ. 1892) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย
เมื่อสยามประเทศจัดการแข่งขันคัดเลือกช่างปั้นแบบเหรียญขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์
ท่านเข้าร่วมแข่งขันและได้รับคัดเลือกเพียง 1 เดียว จากศิลปิน 300 คน
และเข้ามารับราชการตำแหน่ง “ปติมากร” (สะกดคำในยุคนั้น) สังกัดราชบัณฑิตยสภา กระทรวงวัง
อ.ศิลป์ เริ่มรับราชการ พ.ศ.2466 ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6
เมื่อล่วงเข้าสู่รัชกาลที่ 7 แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรในราชบัณฑิตยสภา
ท่านก็ยังคงทำหน้าที่ราชการในงานที่ท่านรัก ด้วยความสุขตลอดมา
จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ก็มิได้รับผลกระทบใดใด
กระทั่ง 10 ปีต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 8 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ.1942)
ด้วยคาดการณ์ว่ากองทัพญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายอักษะจะมีชัยชนะต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
แต่แล้วเมื่อสงครามดำเนินไปขณะที่ฝ่ายอักษะเคยเป็นฝ่ายมีชัย
กลับเกิดการพลิกผันยังความพ่ายแพ้เข้าแทนที่
อิตาลีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศฝ่ายอักษะยอมลงนามสงบศึก
กับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2486 (ค.ศ.1943)
ผลของการนี้ทำให้ชาวอิตาเลียนตกอยู่ในฐานะเชลยศึก
ไม่เว้นแม้ อ.ศิลป์ ซึ่งเป็นชาวอิตาเลียนที่พำนักอยู่ในประเทศไทย
แต่ไทยใช้ความสามารถในการเจรจาทางการทูต
จึงได้รับอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ควบคุมตัวนายเฟโรชีไว้เอง
จากนั้นทางการไทยได้มอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการ
โอนสัญชาติของนายเฟโรจีจากอิตาเลียนมาเป็นไทย
พร้อมเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นไทย โดยล้อนามเดิม
คือ C. Feroci ว่า สิลป พีระสรี (สะกดคำในยุคนั้น)
การเขียนชื่อไทยของ อ.ศิลป์ พบว่ามีการเขียนหลากแบบตามยุคสมัย
พ.ศ. 2487 ใช้ “สิลป พีระสรี” พ.ศ.2488 ใช้ “ศิลป พีระศรี”
ต่อมา พ.ศ.2534 มหาวิทยาลัยศิลปากรดำริจัด
“งานฉลองครบรอบ 100 ปี ศาสตราจาย์ ศิลป พีระศรี”
ได้มีการนำประเด็น “ชื่อที่ถูกต้องของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี”
เข้าหารือในการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
ดังปรากฎในบันทึกการประชุมรวม 3 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 6/2534 (วันที่ 5 มี.ค. 2534) ครั้งที่ 7/2534 (วันที่ 19 มี.ค. 2534)
และ ครั้งที่ 8/2534 (วันที่ 2 เม.ย. 2534)
ที่ประชุมมีมติใช้ว่า “ศิลป์ พีระศรี” มาจนปัจจุบัน
——————————–
อ้างอิง
ทัศนีย์ ยาวะประภาษ. ( พฤศจิกายน 2543). ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี. กินรี, 17(11), หน้า 96 – 100.
พิษณุ ศุภ,นามแฝง. ( มิถุนายน 2534). 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี. ศิลปวัฒนธรรม, 12(8), หน้า 44 – 47.
มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2534). ชื่อที่ถูกต้องของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. การประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 6/2534 เมื่อวันอังคารที่ 5 มี.ค. (วาระที่ 3.18). มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ.
_____. (2534). ชื่อที่ถูกต้องของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. การประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 7/2534 เมื่อวันอังคารที่ 19 มี.ค. (วาระที่ 3.1). มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.
_____. (2534). ชื่อที่ถูกต้องของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. การประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 8/2534 เมื่อวันอังคารที่ 2 เม.ย. (วาระที่ 3.1). มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (กันยายน 2535 – กุมภาพันธ์ 2536). ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับงานศิลปะวิชาการ. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, 136 – 156.
หนึ่งฤดี โลหผล. (เมษายน-มิถุนายน 2541). ประติมากรหนุ่ม คอร์ราโด เฟโรชิ ก่อนเดินทางสู่สยาม ในปี พ.ศ.2467. เมืองโบราณ, 24(2), หน้า 71-79.