เรียนรู้จาก Bad practice

ชีวิตดิฉันวุ่นวายกับเรื่องการจัดการความรู้ หรือ Knowledge management ที่เรียกสั้นๆกันว่า KM ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่สาวผมดำขลับ จนปัจจุบันขาวยันปลายผม เริ่มจากไม่ค่อยจะมีหนังสือให้อ่านจนปัจจุบันอ่านกันไม่ไหว ที่จุดประกายคือให้คิดทำในห้องสมุดคือไปฟังฝรั่งคนหนึ่ง เฮ้อ….ทำไมต้องต่างชาติ เค้าบอกว่าเรื่องนี้ต่อไปจะมีความสำคัญต่อองค์กร จึงค่อยๆจับหาวิทยากรมาพูดให้ฟัง ลงมือทำเท่าๆกับการอ่าน
 
สมัยแรกๆ ยังไม่ค่อยมีขั้นตอนอะไรๆ พอมีคนบอกว่าต้องทำจึงรู้สึกเบื่อเพราะไม่สนุก แถมมีทฤษฎีโน่นนี่จนปวดหัวตามประสาคนสมองน้อย แต่จำได้อย่างขึ้นใจที่ใครสักคนเขียนไว้ว่า KM เป็นเรื่องของการลงมือทำ ดิฉันจึงเชื่อมั่นเสมอว่าหากใครลุกขึ้นมาทำอะไรๆ เกี่ยวกับ KM ต้องมีอะไรๆ ที่เกี่ยวกับ KM ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของการอ่านเอกสารทางวิชาการอย่างเต็มเปี่ยม หากหมายถึงคนที่มีอุปนิสัยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าสู่กันฟัง พร้อมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้สิ่งที่ “ลอย ลอย” ปรากฎเป็นตัวหนังสือ
 
 
ต่อมามีคำว่า Best Practice ให้เราได้หาแนวปฏิบัติที่ดีในแต่ละปีๆ จนกลายเป็นเครื่องพันธนาการจิตใจ เพราะดีกรีของ  The best  ของแต่ละคนต่างกัน ต่อมามี Good Practice ประสาการตีความของเราคิดว่าดีกรีของความ “ดี” คงเป็นระดับขั้นแบบภาษาอังกฤษ  good-best-excellent ย่อหน้านี้คิดเอง อย่างไรก็ตามมีผู้อธิบายสองคำนี้ไว้ว่า
 
Best Practice คือการกระทำสิ่งใดก็ตามให้สำเร็จ อันเนื่องมาจากการนำความรู้ไปใช้ในกระบวนการ แล้วสรุปออกมาเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ในส่วนของ  Good Practice นั้นจะมีความหมายใกล้เคียงกับ Best Practice แต่จะมีความหมายที่กว้างกว่าโดยส่วนมากจะใช้ในการปฏิบัติงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ (https://goo.gl/aemoE9)
 
ตีความว่าในการทำงานแต่ละวันคือการ Practices พอปฏิบัติไปปฏิบัติมา หลายคนอาจเริ่มมีองค์ มีทางลัด หรือมีทางเละ เราต้องมานั่งคุยกัน ภาษาสวยๆของ KM คือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อ หา สิ่ง ดี ๆ จากเพื่อนร่วมงาน โดยปรกติแล้วมักไม่มีใครสมบูรณ์เต็มร้อย การนั่งคุยกันแบบสุนทรียสนทนา ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรทำ วิธีการของใครโดนที่สุด จากนั้นนำไปทดลอง ทดสอบ ปรับปรุง จนมั่นใจว่าดีที่สุด และเปลี่ยนจากวิธีการของ “เธอ” เป็นของ “เรา”
 
คำตอบของโจทย์ว่าอย่างไรคือ best มักเกี่ยวพันกับคำว่า ระบบ บูรณาการและความเชื่อมโยง ซึ่งดิฉันมีสองคำที่ใช้คือ มองให้ทะลุและเป็นองค์รวมของงานในมือทุกชิ้น ดิฉันมีคำที่รักและใช้บ่อยๆ คือ เปิดใจ ยอมรับ แบ่งปัน เปลี่ยนแปลง และ เรียนรู้
 
ส่วนเรื่อง Bad practice เพิ่งมาหลังสุด เป็นการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ว่ากันว่าให้ตัวเรามองตนเองว่าเรามีสิ่งไหนที่ bad เพราะใครมาว่าเรา bad เราจะเคือง มีคนเขียนอธิบายไว้น่าอ่านเลยทีเดียวที่ https://www.gotoknow.org/posts/396325  แต่บางทีเรานึกไม่ออกว่าเรา bad อย่างไร มีคนบอกว่าให้ฟังจากคนที่พูดถึงเราแล้วทบทวนว่าใช่หรือไม่ใช่ แล้วเริ่มใหม่ฝึกฝนให้เป็นนิจ จะเป็นคุณกับตัว ดิฉันอ่านเรื่องนี้นึกถึงเรื่อง “สังคมนินทา” เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2009 นานจนตกใจ ที่ http://202.28.73.5/snclibblog/?p=3160
 
Bad practice ที่เป็น Best practice ดิฉันชอบบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ที่บอกว่า  บริษัทปูนซีเมนต์ไทย มีการเรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาดคือ อนุญาตให้พนักงานทำผิด ผิดคือครู ผิดคือการเรียนรู้ แต่ผิดแล้วต้องไม่ทำผิดซ้ำอีก คนที่ทำผิดก็ไม่ได้ลงโทษอะไร เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นมา เพราะถ้าลงโทษ จะไม่ใครกล้าทำงานอีก อาจจะเพราะในสถานการณ์แบบนั้น อาจจะทำให้ต้องตัดสินใจแบบนั้น ในแต่ละกลุ่มธุรกิจแต่ละอันของปูนซีเมนต์ไทยจะเก็บ Lesson Learned เอาไว้ หรือเรียกว่า After Action Review คือ หลังจากที่ทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ จะมีการพูดคุยกันว่ามีอะไรที่ผิดพลาด และบันทึกเอาไว้สำหรับคนรุ่นหลัง หรือแม้กระทั่งคนเดิมที่ได้รับมอบหมายให้ทำอย่างเดิมอีก ถ้าไม่บันทึกไว้ ก็อาจจะลืมได้ว่าทำอะไรไว้บ้าง นอกจากนี้ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ยังเก็บ Bad practice ไว้เพื่อที่ต่อไปจะได้เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นๆ อีก 
(โชคดี เลียวพานิช. “การจัดการความรู้ กรณีศึกษาบริษัทปูนซีเมนต์ไทย”. MICROCOMPUTER (มีนาคม 2010) : 85-92)
 
โลกมีจุดให้เราเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ เรามีเช้าวันใหม่ทุกวันตราบที่มีลมหายใจ 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร