ไปอนุสาวรีย์ชัยฯกันไหม?

วันนี้จะพาท่านไปอนุสาวรีย์ชัยฯโดยไม่ต้องโดยสารพาหนะใดๆ ไม่ต้องเสียสตางค์ค่าโดยสารแล้วก็ไม่ต้องออกแรงเดินฝ่าลมหนาววววไปให้ทรมานกายนะคะ แต่เราจะพาท่านไปสถานที่แห่งนี้ด้วยสายตาค่ะ(คุ้มจัดประหยัดสุด) ปัจจุบันผู้คนทั่วไปรู้จัก“อนุสาวรีย์ชัยฯ”(ซึ่งเป็นคำเรียกแบบไม่เป็นทางการหรือภาษาปาก)กันดี สำหรับคนที่ต้องอาศัยการเดินทางเข้า กทม. เพื่อจะต่อรถไปยังจุดหมายปลายทางในที่ต่างๆ เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมของรถโดยสารนานาชนิดโดยเฉพาะรถตู้โดยสารยอดนิยมในยุคนี้ ที่นี่มีมากมายประหนึ่งว่าเป็นชุมทางของสถานีขนส่งย่อยๆที่สำคัญแห่งหนึ่งไม่แพ้สถานีขนส่งสายเหนือ,สายใต้และสายตะวันออกเลยเชียว เอาละเรามาถึงอนุสาวรีย์ชัยฯแล้ว แต่ไม่ต้องไปต่อรถสายใดทั้งนั้นนะคะเราจะมาทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้ในอีกมิติหนึ่งกันดีกว่า
อันว่า “อนุสาวรีย์” นั้นหมายถึงสิ่งก่อสร้างในลักษณะประติมากรรมเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ หรือบุคคลสำคัญที่สร้างคุณงามความดีต่อชาติบ้านเมืองเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึง อนุสาวรีย์ทุกแห่งล้วนมีความหมายและความทรงจำที่แฝงอยู่ในแง่สัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในประเทศไทยเรามีอนุสาวรีย์มากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศทุกภูมิภาค  วันนี้เรามาย้อนรำลึกถึงประวัติของการสร้าง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” กันนะคะ ทราบไหมคะว่าในวันนี้ “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” แห่งนี้ มีอายุถึง 73 ปีแล้ว อนุสาวรีย์แห่งนี้จัดอยู่ในประเภท “อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ” สร้างขึ้นมาเพื่อน้อมรำลึกถึงวีรกรรมของ พลเรือน ตำรวจ ทหารที่ได้ร่วมกันพลีชีพเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตในการปกป้องอธิปไตยของชาติด้วยความกล้าหาญ ต้นกำเนิดของการสร้างอนุสาวรีย์นี้เกิดจากกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ในยุคของการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งอยู่ในสมัยของรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม(จอมพลป. นั่นแหละค่ะ)เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เกิดเหตุการณ์สู้รบเพื่อปกป้องดินแดนในหลายสถานที่ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ หลังจากเหตุการณ์สงบแล้วทางนายกรัฐมนตรีจึงมีดำริการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูเกียรติและวีรกรรมแก่ผู้ที่พลีชีพเพื่อชาติขึ้น โดยกำหนดสถานที่การก่อสร้างบริเวณถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธินในปัจจุบัน)ซึ่งเป็นตอนต้นของถนนพญาไทบรรจบกับถนนราชวิถี และได้เวนคืนที่ดินในบริเวณนั้น จากนั้นจึงให้สถาปนิกออกแบบ ผู้ที่ออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล โดยท่านออกแบบให้ตรงกลางของอนุสาวรีย์เป็นรูปดาบปลายปืนซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของทหารจำนวน 5 เล่มประกอบรวมกันเป็นห้าแฉกปลายดาบชี้ขึ้นฟ้า ความสูงจากฐานถึงปลายดาบประมาณ 50 เมตร เฉพาะความสูงของดาบปลายปืนนั้น 30 เมตร องค์ประกอบโดยรอบของฐานจะเป็นรูปปั้นของนักรบทั้งห้าเหล่าคือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งจะมีขนาดสูงกว่าคนจริงสองเท่า แท่นฐานของอนุสาวรีย์เป็นรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 51 เมตร พื้นลานรอบอนุสาวรีย์กว้าง 131 เมตรยาว 260 เมตร มีบันใดขึ้นสู่อนุสาวรีย์ทุกด้าน มีแผ่นจารึกรายชื่อของผู้เสียชีวิตหล่อด้วยทองแดงอยู่ทุกด้านของฐาน ส่วนด้านในอนุสาวรีย์ทำเป็นห้องโถงใหญ่ใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่และบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส
สำหรับพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้นมีขึ้นในวันชาติ(สมัยนั้น)คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ ในแผ่นศิลาฤกษ์ได้จารึกคำปรารภไว้ว่า “ขอให้อนุสารีย์ชัยสมรภูมิเป็นถาวรวัตถุที่ระลึกถึงเกียรติของผู้เสียสละแล้วซึ่งชีวิตเพื่อประเทศชาติสืบไป” ในส่วนของการดำเนินการการก่อสร้างนั้นใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศิลปากร กองการโยธา เทศบาลนครกรุงเทพฯ บริษัทวิศวกรรมไทย จำกัด ในการก่อสร้างใช้คนไทยและวัตถุที่มีในประเทศไทยทั้งสิ้น รวมค่าใช้จ่ายในการสร้างอนุสาวรีย์เป็นเงินทั้งสิ้น 550,000 บาท  เฉพาะในส่วนของงานปั้นและหล่อของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้นกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ โดยผู้ออกแบบรูปปั้นและควบคุมการทำงานนี้คือ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พร้อมทั้งลูกศิษย์ของท่านมาช่วยดำเนินการด้วยเช่น พิมาน มูลประมุข, สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน แช่ม ขาวมีชื่อ เป็นต้น  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างเสร็จและมีพิธีเปิดในวันชาติเช่นกัน คือในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485  (1 ปีพอดีนับแต่วางศิลาฤกษ์) ผู้ทำพิธีเปิดคือ จอมพลป. พิบูลสงคราม  สำหรับรายชื่อของผู้เสียชีวิตที่จารึกลงบนแผ่นทองแดงนั้นแรกเป็นรายชื่อจากสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส จำนวน 171 นาย ต่อมาเพิ่มรายชื่อจากสงครามมหาเอเชียบูรพา 103 นาย สงครามเกาหลี 118 นาย และไม่ทราบสงครามอีก 415 นาย รวมทั้งสิ้น 807 นาย  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้รับการดูแลและซ่อมแซมมาหลายครั้งนับแต่สร้างมาแต่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ทุกประการไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งอยู่กลางสี่แยกถนนพญาไท ถนนราชวิถี และต้นทางหลวงถนนพหลโยธิน เป็นวงเวียนโดยรอบอนุสาวรีย์จึงเป็นจุดศูนย์รวมในการเดินทางทั้งรถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า (ยกเว้นรถไฟปู้นปู้น) ไม่มีใครไม่รู้จักอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแห่งนี้ เป็นทั้งศูนย์รวมของคนตจว. และคนกทม. เป็นจุดนัดพบทั้งจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง และเป็นจุดของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของชาวไทย ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลโดยสรุปย่อค่ะ หากต้องการรายละเอียดฉบับเต็มโปรดหาอ่านได้จากหนังสือ  “73 ปี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เลขหมู่หนังสือ NA9355B3อ22 ที่หอสมุดเรามีบริการค่ะ
 
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร