สาระและข้อคิด จากหนังสือ "ปลาย่าง"

หลายปีมาแล้ว อาจารย์ที่สอนได้ให้ผู้เขียนและเพื่อนที่เรียนด้วยกันไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง คือเรื่อง “ปลาย่าง” และให้นำมาวิจารณ์ในวิชาที่เรียน เนื้อหาของหนังสือมีไม่กี่หน้าแต่ถ้อยคำที่อยู่ในหนังสือแต่ละหน้านั้นกะทัดรัด กินใจ ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพตาม และแฝงไปด้วยถ้อยคำที่ทำให้สะเทือนใจ ทำให้ผู้เขียนจดจำได้จนถึงทุกวันนี้
หนังสือเรื่อง “ปลาย่าง” แต่งโดย โอกูม่า ฮิเดโอ แปลและเรียบเรียงโดย มนตรี อุมะวิชนี ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อผู้แต่งอายุเพียง 22 ปี โอกูม่า ฮิเดโอ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2444 มีชีวิตอยู่สมัยสงครามโลก เขาทำงานหลายอย่างแต่ก็ยังมีฐานะยากจน เขาเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พร้อมกับการเขียนงานด้านวรรณกรรม ชีวิตที่ยากลำบากทำให้มีสำนวนการเขียนที่เสียดสีเย้ยหยัน และได้จบชีวิตลงท่ามกลางความยากจนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2483 หลังจากนั้นผลงานด้านกวีนิพนธ์ งานวิจารณ์ นิยาย และภาพวาดของเขาได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักและยกย่องไปทั่วโลก
“ปลาย่าง” เป็นเรื่องราวการเดินทางกลับบ้านของปลาแมคเคอเรลที่ถูกจับมาจากทะเล แล้วนำมาขายที่ร้านขายปลาในเมือง จนกระทั่งมีสุภาพสตรีคนหนึ่งมาซื้อมันไปย่าง ระหว่างที่ “ปลาย่าง” ถูกวางอยู่บนจานเพื่อรอเป็นอาหารค่ำ มันคิดถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้อง คิดถึงเพื่อน คิดถึงทะเลถิ่นที่อยู่ จึงพยายามกระเสือกกระสนให้พ้นจานเพื่อกลับทะเล แต่ว่าร่างของมันถูกย่างจนเบา มีเหล็กเสียบอยู่กลางลำตัว มันจึงไม่อาจกระดิกได้แม้เพียงปลายหาง ทำให้ไม่สามารถทำตามความปรารถนาได้ด้วยตัวเอง จึงขอร้องให้บรรดาสัตว์ต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือ สัตว์เหล่านั้นมีข้อแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการพากลับทะเล โดย “ปลาย่าง” ต้อง
 ยกเนื้อตรงแก้มให้กับนางแมว แต่นางแมวก็พามันไปทิ้งไว้แค่ตรงสะพานที่ชานเมือง
 ยกเนื้อซีกส่วนบนให้กับหนูที่อยู่บริเวณสะพานชานเมือง แต่หนูก็พามันไปทิ้งไว้กลางทุ่งนา
 ยกเนื้อสีข้างซีกที่เหลือให้กับหมาจรจัดที่เดินผ่านมากลางทุ่งนา แต่หมาจรจัดก็พามันไปทิ้งไว้กลางป่าไม้สน
 ยกลูกตาทั้งสองข้างให้กับนางกาที่บินผ่านมา แต่นางกาก็พามันไปทิ้งไว้ใกล้กับทะเล
จนวันหนึ่งราชามดและทหารมดนับพันมาพบเข้าจึงเกิดความกรุณาและให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่ด้วยขนาดตัวที่เล็กบรรดาหมดทั้งหมดจึงใช้เวลาหลายวันกว่าจะพา “ปลาย่าง”  มาถึงทะเลได้
แม้ “ปลาย่าง” ได้กลับคืนสู่ทะเล แต่ด้วยสภาพที่เหลือเพียงก้างและตาบอด ทำให้มันไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากเคลื่อนไหวไปมาในทะเลอย่างไร้จุดหมาย ต่อมาร่างของมันถูกคลื่นซัดมาอยู่ที่ชายหาดแล้วทรายก็กลบร่างมันไว้มิดชิดจนไม่สามารถได้ยินอะไรได้อีก
เรื่องราวของ “ปลาย่าง” สะท้อนให้เห็นถึงคนหรือกลุ่มคนในสมัยสงครามโลก ที่เป็นผู้ที่อ่อนแอ ผู้ด้อยโอกาสจึงมักถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ข่มเหงทั้งทางร่างกายและจิตใจจากผู้ที่เหนือกว่าทั้งอำนาจและทรัพย์สินเงินทอง หากมองมาในสมัยปัจจุบัน แม้ว่ากาลเวลาจากอดีตสมัยสงครามโลกจะผ่านมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม แต่การถูกรังแก กดขี่ ข่มเหงก็ยังมีให้เห็น ถึงแม้ผู้นำของหลายประเทศจะพยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้คนในชาติได้รับความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม ความยุติธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับในฐานะพลเมืองของชาติ ทั้งสิทธิในการดำรงชีพ (subsistence rights) และสิทธิในความปลอดภัย (security rights) แต่ก็ยังคงเห็นความเหลื่อมล้ำอยู่ในสังคมตลอดมา  นอกจากนี้ในแต่ละประเทศยังมีคนบางกลุ่มที่เป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ คนพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติ ที่มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบมาก ถึงแม้รัฐบาลของนานาประเทศพยายามที่จะใช้เรื่องสิทธิมนุษยชน (Human rights) หรืออีกนัยหนึ่งคือสิทธิของความเป็นมนุษย์มาเป็นบรรทัดฐานแล้วก็ตาม
หนังสือเรื่อง “ปลาย่าง” แม้จะถูกแต่งขึ้นมาเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว แต่เนื้อหาก็ยังเป็นอมตะ ตราบใดที่มนุษย์ยังคงเอารัดเอาเปรียบกันอยู่ แต่อย่าลืมว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของตัวเอง หรือเรียกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ คุณค่าความเป็นมนุษย์ คุณค่าของคน ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเท่ากันไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ชนชาติ เพศ ผิว ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม วงศ์ตระกูล สถานะสูงส่ง ต่ำต้อย ยากดี มีจน ดี ชั่ว ฉลาด โง่เขลา ฯลฯ ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนเราทุกด้าน ตั้งแต่ชีวิตทางสังคม ชุมชน ครอบครัว การคบค้าสมาคม การประกอบอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ ไปจนถึงชีวิตทางการเมือง รัฐและสังคมจะต้องเคารพ โดยไม่เหยียดหยาม กีดกัน ข่มเหงรังแก หรือปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันเหมือนไม่ใช่มนุษย์…มนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่า ทุกคนที่เกิดมาล้วนมีคุณค่าในฐานะที่มีชีวิต มีร่างกาย เลือดเนื้อ ความรู้สึก และจิตวิญญาณ (จรัล ดิษฐาอภิชัย 2549 : 27)
คนเราเลือกที่จะเกิดไม่ได้ จังหวะและโอกาสของคนจึงมีไม่เท่ากัน บางคนเกิดมามีพร้อมทั้งทรัพย์สินเงินทอง บริวารและบารมีที่วงศ์ตระกูลสะสมไว้ให้ จึงมีโอกาสในการสร้าง พัฒนา ต่อยอดในสิ่งที่มีอยู่จนมั่งคั่ง งอกเงยขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่บางคนเกิดมาพร้อมกับการขัดสนทุกสิ่ง ทั้งฐานะและวงศ์ตระกูล วันเดือนปีที่ผ่านไปก็หมดไปกับการหาเช้ากินค่ำเพื่อให้พอเลี้ยงชีพ โอกาสที่จะมั่งมีทรัพย์สินเงินทองจึงมีน้อยกว่าคนอื่น หรือหากมีก็ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น
♥ ♥ดังนั้นหากเราเป็นผู้ที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น ก็ควรช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นให้ได้รับโอกาสโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีความเอื้ออาทรต่อกัน และไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่า ♥ ♥  
บรรณานุกรม
จรัล  ดิษฐาอภิชัย.  (2549).  บนหนทางสิทธิมนุษยชน.  กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายการศึกษา.
ธเนศ  อาภรณ์สุวรรณ.  (2549).  กำเนิดและความเป็นมาของสิทธิมนุษยชน.  กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
ฮิเดโก, โอกูม่า.  (2551).  ปลาย่าง = (ภาษาญี่ปุ่น).  แปลโดย มนตรี  อุมะวิชนี.  กรุงเทพฯ : เรือนปัญญา.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร