ขนมเดือนสิบ

5 October 2015
Posted by Kasorn Sansuwan

12074671_970091926389882_4413852110864143439_nช่วงนี้ที่ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งจะตรงกับวันแรม 15  ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี สำหรับปีนี้ พ.ศ.2558 จะตรงกับวันจันทร์ ที่ 12 ตุลาคม หัวใจของการทำบุญเดือนสิบคือการจัด “หฺมฺรับ” [mrap] (หฺมฺรับ หรือ สำรับ) หมายถึง สำรับที่จัดขึ้นเพื่อใช้บรรจุขนมเดือนสิบ และสิ่งของอื่นๆ ในวันทำบุญเดือนสิบ เป็นการเตรียมอาหารคาวหวานบรรจุภาชนะไปถวายพระ ไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีการทั้งเปรตอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้ สำหรับการจัด หฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่ใช้ในครัวเรือน อาหารแห้ง หมากพลู ยาเส้น และของใช้ประจำวัน
หัวใจของ “หฺมฺรับ” ที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มีขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ และขนมกง (หรือขนมไข่ปลา)  ขนมพอง – เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ เพื่อให้ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับใช้สำหรับข้ามน้ำ ข้ามทะเล ไปสู่แดนสุคติ คือภูมิที่ถือว่าไปเกิดแล้วมีความสุขความสบาย ขนมลา – เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องนุ่งห่ม เป็นผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้  เพื่อให้ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องนุงห่ม ขนมบ้า – เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า เพื่อให้ปู่ ย่าตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ใช้เป็นอุปกรณ์การเล่นแทนสะบ้า เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นการละเล่นของภาคใต้  สำหรับไว้ใช้เล่นต้อนรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขนมดีซำ – เป็นสัญลักษณ์แทนเงินตรา เพื่อให้ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับใช้แทนเงินจับจ่ายใช้สอย และขนมกง (หรือขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เพราะมีรูปทรงคล้ายกำไล แหวน เพื่อให้ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับ ใช้ตกแต่งแทนเครื่องประดับได้
ปัจจุบันการทำขนมเดือนสิบของชาวนครศรีธรรมราช ไม่ได้ทำกันทุกครัวเรือนเหมือนเช่นสมัยก่อน แต่จะมีการสืบทอดด้วยการรวมกลุ่มกัน ทำขนมเดือนสิบเป็นการค้าเป็นการเพิ่มโอกาสในการมีงานทำของคนในชุมชน เช่นคนในชุมชนบ้านศรีสมบูรณ์ หมู่บ้านขนมลาชื่อดัง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จากเดิมจะทำขายเฉพาะช่วงเทสกาลเดือนสิบ แต่ปัจจุบันจะขายดีตลอดปี ทำกันเป็นล่ำเป็นสันทั้งหมู่บ้าน จนได้ชื่อว่า “หมู่บ้านขนมลา” ประเพณีเดือนสิบได้จัดสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของการจัดงาน ทำให้งานนี้เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปในภาคใต้ รวมทั้งภาคอื่น ๆ ของประเทศ
การจัดงานเดือนสิบ เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.2466 ปัจจุบันทางจังหวัดได้ย้ายสถานที่จัดงานเดือนสิบจากสนามหน้าเมือง ไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ตั้งแต่ปี 2535   ซึ่งเป็นสถานที่มีบริเวณกว้างขวาง ส่วนช่วงเวลา ที่จัดงานได้กำหนดเป็น 10 วัน 10 คืน โดยกำหนดให้ตรงกับช่วงเทศกาลทำบุญสารทเดือนสิบของทุกๆ ปี สำหรับในปีนนี้ กำหนดจัดขึ้นในวันที่  6  ตุลาคม – 15 ตุลาคม 2558  ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 ทุ่งท่าลาด อ. เมือง จ.นครศรีธรรมราช เชิญชวนผู้ที่สนใจไปเที่ยวงานกันนะคะ
ภาพประกอบขนมเดือนสิบ

 ขนมมลา
ขนมมลา

 ขนมพอง
ขนมพอง

ขนมกง หรือขนมไข่ปลา
ขนมกง หรือขนมไข่ปลา

ขนมดีซำ
ขนมดีซำ

ขนมบ้า
ขนมบ้า

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ขอบคุณข้อมูล
ขวัญชนก บุปผากิจ. (2551). “ขนมเดือนสิบ เอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมสู่อาชีพของชุมชน.” เทคโนโลยีชาวบ้าน 20,438 (กันยายน): 106-107.
ชัยวัฒน์ สีแก้ว. (2557). “กตัญญูกตเวทีอัตลักษณ์เมืองคนดีแสดงออกผ่านประเพณีชิงเปรตเดือนสิบ.” สารนครศรีธรรมราช ฉ.พิเศษ (เดือนสิบ): 74-80.
พระครูสิริธรรมาภิรัต. (2555). “ประเพณีทำบุญเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช.” สารนครศรีธรรมราช ฉ.พิเศษ  (เดือนสิบ): 27-36.
 
 
 
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร