อ่านหนังสือวันละเล่ม "จิตตกรรมเล่าเรื่อง จิตตนคร : แรงบันดาลใจจากบทพระนิพนธ์"

image
การอ่านหนังสือทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น อ่านกี่ครั้ง ก็สุขใจ   หนังสือบางเรื่องทำให้เราเปลี่ยนความคิดไปเลยก็มี  ในงาน กิจกรรมหนังสือในสวน  ประธาน (พี่พัชรี) แจ้งว่า ให้เลือกหนังสือที่สนใจ และมีสาระ มาเล่าสู่กันฟัง  จึงนึกได้ทันทีว่า จะเล่าเรื่อง จิตตนคร ที่ได้อ่านและรู้สึกสุขใจทุกครั้งที่นึกถึง
เรื่อง “จิตตนคร  นครหลวงของโลก”  เป็นพระนิพนธ์ของ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก   ซึ่งได้อ่านจากฉบับพระนิพนธ์ แต่พอเล่าให้พี่พัชฟัง พี่พัชบอกว่า ฟังเข้าใจยาก ทำไมถึงสรุปออกมาแล้ว ไม่กระจ่างแจ้งถึงสิ่งที่ผู้นิพนธ์ต้องการอธิบาย  จึงคิดได้ว่า เรื่องแบบนี้ น่าจะมีภาพประกอบน่าจะทำให้เนื้อหาดูง่ายขึ้น เล่าได้เพลิดเพลินมากขึ้น  จึงตัดสินใจนำเอา จิตตนคร ฉบับจิตรกรรม มาเล่าในกิจกรรมหนังสือในสวน และเมื่อเล่าเรื่องนี้จบ มีน้องนักศึกษาชายคนหนึ่งที่มานั่งฟังได้พักใหญ่แล้ว พูดขึ้นมาว่า จบแล้วเหรอพี่ เสียดายจังมาฟังเอาตอนท้ายแล้ว และได้แสดงความรู้สึกกับเรื่องจิตตนครที่ได้ฟังว่า “มันจี๊ดเข้าไปในหัวใจผมเลยนะพี่” แล้วน้องก็เล่าถึงความขัดแย้งในใจที่ตัวเองมีอยู่กับหน้าที่ที่ต้องทำในฐานะลูกและนักศึกษา และเล่าว่า ได้เคยอ่านหนังสือเรื่อง สิทธารถะ แล้วทำให้ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้ ผมเลยรู้สึกชอบเรียนรู้และอ่านในเรื่องของจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดมาก…น้องคนนี้คุยด้วยอยู่นานจนต้องไปเรียน และได้ทำให้ดิฉันได้ตระหนักจริง ๆ ว่า การอ่านสามารถเปลี่ยนแปลงความคิด และชีวิตของคนได้  จึงขอเล่าหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อน ๆ อ่านบ้าง
จิตรกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร  เขียนและวาดภาพโดย   พระธีรโพฺธิ ภิกขุ นามเดิม อาจารย์ธีระพันธุ์  ลอไพบูลย์  ผลงานชุดนี้ผู้เขียน ได้สร้างสรรค์ ด้วยความศรัทธาในพระรัตนตรัย    พระนิพนธ์ใน เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหา สังฆปริณายก นี้ทำให้รู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้แจ้ง ทรงดำรัสธรรมคำสอนมีทั้งพุทธภาษิต พระธรรมบท แม้ยกมาเพียงหนึ่งข้อความ สาวกแห่งพระพุทธศาสนาก็สามารถรับรู้แล้วเข้าใจในธรรม เมื่อนำไปใช้หรือเผยแผ่ต่อไปก็ยังประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ดังที่ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงนำพระพุทธภาษิตในพระธรรมบทเพียงข้อความสั้นๆ ว่า “พึงกั้นจิตนี้ ที่อุปมาด้วยนคร”  พุทธพจน์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการขยายความเรื่องของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม ให้เห็น หรือให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ด้วยคำอธิบาย หรือการขยายความเชิงบุคลาธิษฐาน คือ พูดถึงจิตให้เห็นเป็นรูปร่างเหมือนเป็นนคร หรือเมือง เมืองหนึ่ง  สอนในเรื่องการบริหารจิต
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงพิจารณาเห็นว่า เรื่องจิต เป็นเรื่องสำคัญในทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของคำสอนเรื่องอื่นๆ ทุกเรื่อง จึงได้ทรงนำเอาพุทธพจน์ที่ว่า “จิตอุปมาด้วยนคร” ดังกล่าวนี้มาขยายความในเชิงบุคลาธิษฐานให้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น ในรูปธรรมนิยาย “จิตตนคร” ดังนั้น จึงเป็นการขยายความเรื่องจิตในคำสอนของพระพุทธศาสนา รวมทั้งคำสอนเรื่องอื่นๆ อันเนื่องด้วยเรื่องจิต เช่น เรื่องกิเลส เรื่องคุณธรรม ในเชิงบุคลาธิษฐาน  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องจิต ตลอดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิต คือ กิเลส และคุณธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นว่า จิตก็ดี กิเลสก็ดี คุณธรรมก็ดี คือ อะไร อย่างไร และทำไม   ซึ่งการอธิบายเรื่องจิตและสิ่งที่เกิดกับจิตในทำนองนี้ ยังไม่มีผู้ใดทำมาก่อน
เมื่ออาจารย์ธีระพันธ์ ลอไพบูลย์ ได้อ่านพระนิพนธ์เรื่องจิตตนครของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเกิดความประทับใจมาก พร้อมทั้งเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์งาน อันจะเป็นเครื่องมือหรือเป็นสื่อให้พระดำริธรรมสร้างสรรค์ดังกล่าวนี้ ไหลเข้าไปสู่จิตใจและความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไปที่ได้อ่าน
จากความประทับใจและแรงบันดาลใจ จึงเป็นที่มาของ “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” ที่เป็นการแปรคำขยายความเรื่องจิตตนครของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร  ในรูปของภาพเขียน หรือภาพการ์ตูน
ไม่ว่าอ่านฉบับใด ก็ประทับใจทุกครั้ง
เรื่องย่อ จิตตนคร คือ นครอันเป็นแหล่งเกิดแห่งสุขและทุกข์ ความเจริญและความเสื่อม สมบัติและวิบัติของโลกทั้งหมดทั้งสิ้น
จิตตนคร มิได้ตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นใด หรืออยู่ในดินแดนลี้ลับมหัศจรรย์ไหนๆ
จิตตนคร มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่อาจใช้ตาใจเข้าไปดูได้
จิตตนครอยู่ไม่ไกล แต่อยู่ใกล้ที่สุด แค่เพียงทำความสงบใจดูจิตของตน ก็จะพอมองเห็นจิตตนครได้รางๆ
มีเจ้าเมืองนาม “พระเจ้าจิตตราช”     เจ้าเมืองมีผู้ช่วยราชการเป็นที่ปรึกษา ๒ คน  คือ ท่านสมุทัยและคณะ กับ ท่านบารมีและคณะ ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและชี้นำในสิ่งต่างๆ   ซึ่งเป็นฝ่ายดี และไม่ดี  มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จนกระทั่ง จิตตนครได้ถึงกาลอวสาน แต่นครสามี (จิตตราชา) กับคณะผู้ติดตามได้อพยพออกไปสู่แดนเกษมสวัสดีได้ โดยได้เคลื่อนขึ้นเหนือภูเขาแห่งชราและมรณะออกไปสู่สุขคติ (คติที่ดี)  จึงไม่ถูกภูเขาบดโลกนั้น บดขยี้่อยู่ภายใต้ให้จมลงไปสู่ทุคติ ด้วยอานุภาพแห่งบุญกริยาไตรสรณคมน์ และโดยเฉพาะโสดาปัตติยังค่ะทั้ง ๔ อันเป็นอาภรณ์พิเศษแห่งนครสามี ที่ได้มาพร้อมธรรมจักษุ  ความคิดผูกเรื่องนี้ขึ้น ได้เกิดจากพระพุทธภาษิตในธรรมบทข้อหนึ่งว่า “พึงกั้นจิต อันมีอุปมาด้วยนคร”  อันที่จริง ความหมายแห่งพระธรรมข้อนี้น่าจะมีเพียงว่า พึงกั้น คือทำเครื่องป้องกันนครจากข้าศึกฉันใด ก็พึงกั้นจิตจากข้าศึก คือกิเลสมารฉันนั้น แต่ก็ยังชวนให้คิดวางโครงเรื่องจิตตนครโดยอุปมา  คือคิดขยายอุปมานั้นออกไปเป็นเรื่องจิตตนครขึ้น  ทั้งได้อาศัยพุทธภาษิตในสฬายตนะวรรค สังยุตตนิกายอีกแห่งหนึ่งที่ผูกอุปมาถึงนครชายแดนแห่งหนึ่ง มีปราการและเสาระเนียดอันมั่นคง มีทวาร ๖ มีนายทวารบาลเป็นผู้ฉลาด ห้ามคนที่ไม่รู้จักมิให้เข้าไป ได้มีทูตด่วนคู่หนึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ ถามนายทวารบาลนั้นว่า นครสามี (เจ้าแห่งนคร) นี้นั่งอยู่ที่ไหน นายทวารบาลตอบว่า นครสามีอยู่อยู่ที่ทางสี่แพร่งกลางเมือง ทูตด่วนคู่นั้นจึงมอบยถาภูตพจน์ (คำตอบตามที่เป็นจริง) แก่นครสามี ปฏิบัติตรมมรรค (ทาง) ที่มาแล้ว และได้มีพุทธภาษิตไขความไว้ดังต่อไปว่า ” นคร” เป็นของกาย คำว่า “ทวาร ๖” เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ คำว่านายทวารบาล เป็นชื่อของสติ   คำว่า “คู่แห่งฑูตด่วน” เป็นชื่อแห่งสมรถะและวิปัสสนา คำว่า “นครสามี” เป็นชื่อแห่งวิญญาณ    คำว่า “ทางสี่แพร่งกลางเมือง”  เป็นชื่อแห่ง มหาภูตะ คือ ธาตุทั้ง  ๔
คำว่า ยถาภูตพจน์”   (คำตามที่เป็นจริง) เป็นชื่อแห่งนิพพาน คำว่า มรรคตาที่มาแล้ว เป็นชื่อแห่งมรรคมีองค์  ๘
เรื่องจิตตนคร ไดู้กผูกขึ้นตามโครงการอุปมาดังกล่าว บรรจุธรรมทั้งปวงลงโดยบุคลาธิษฐานและแสดงออกมาตามจังหวะของเรื่องตั้งแต่ต้น จนอวสาร มีความประสงค์เพื่อจะชักจูงใจผู้ประสงค์ธรรมในรูปและรสที่แปลก มาฟัง มาอ่าน  และไขความธรรม  น้อมเข้ามาสู่ตน เพราะเรื่องจิตตนครทั้งหมดก็เป็นเรื่องกายและจิตนี้เอง และทุกคนจะต้องพบภูเขาแห่งชราและมรณะที่กลิ้งมาบดชีวิต ฉะนั้น ไฉนจะไม่แสวงหาที่พึ่งดังเช่นนครสามีในเรื่อง  และไฉนจึงจะยอมอยู่ได้ ให้ภูเขาแห่งชราและมรณะนั้นมาบดขยี้เอาข้างเดียว ไฉนจึงจะไม่ปืนขึ้นอยู่เหนือภูเขาแห่งชราและมรณะนั้นบ้าง
พระพุทธสาสน์ ได้บอกวิธีปฏิบัตเพื่อขึ้นอยู่เหนือไว้แล้ว เมื่อเพ่งพินิจเรื่องจิตตนครจนถึงอวสานจะพบวิธีปฏิบัติเหนือสมุทัยกับพรรคพวก ตลอดถึงภูเขาแห่งชราและมัจจุดังกล่าวทุกอย่างเรื่องจิตตนคร  จึงอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้จำนงและค้นหาประโยชน์ได้ตามสมควร และบางประการ
นอกจากนี้ ยังมีคำที่น่าสนใจ ท้ายเล่ม อธิบาย ความหมายของคำนั้นๆ ให้เราได้เข้าใจ รู้แจ้ง แทงตลอด  และลึกซึ้ง
สรุป การบริหารจิต สำหรับผู้เป็นเจ้าของจิตตนคร
บรรดาผู้มาบริหารจิต คือผู้กำลังพยายามปฏิบัติต่อจิตของตนเหมือนช่างทาสีปฏิบัติต่อแปรงสำหรับทาสี คือพยายามล้างสีที่จับให้ออกไปเสมอๆ ความสกปรกแม้มีบ้างก็จะไม่มากมาย จิตก็เช่นกัน เมื่อเป็นจิตสามัญชน ก็ต้องมีอารมณ์ มีกิเลสเศร้าหมองเป็นธรรมดา แต่ถ้าพยายามใช้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ทาน ศีล ภาวนา เข้าขัดเกลาไว้เสมอ  กิเลสเครื่องเศร้าหมอง  ก็จะไม่ท่วมท้นจนเกินไป แต่จะค่อยลดน้อยลงได้ทุกที  โดยที่เจ้าตัวหรือเจ้าเมืองแห่งจิตตนครนั่นเองจะรู้ด้วยตัวเอง  จิตที่มีอารมณ์หรือมีกิลสเครื่องเศร้าหมองน้อย ย่อมเป็นจิตที่ผ่องใส  มีความสุขมาก ส่วนจิตที่มีอารมณ์หรือมีกิเลสเครื่องเศร้าหมองมาก  ย่อมเป็นจิตที่หม่นหมอง มีความสุขน้อย เจ้าเมืองแห่งจิตตนครทุกคนย่อมรู้จักตัวของตัวเองได้
นอกจากนี้ ยังมีบทภาพยนตร์ ให้ศึกษาเพื่อความเข้าใจ ได้ง่าย เชิญชมได้ตามวาระของท่าน

ธีรโพธิ  ภิกขุ.  (2556).  จิตตกรรมเล่าเรื่อง จิตตนคร : แรงบันดาลใจจากบทพระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย.
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร