เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวันเวลาของโลกใบนี้

ชีวิตของคนเราต้องเกี่ยวข้องกับวันเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลานับแต่ลืมตามาดูโลก วันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นเป็นการกำหนดอายุขัยของสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกใบนี้ โดยปกติวันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง เดือนหนึ่งมี 30-31 วัน ยกเว้นเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้นที่บางปีมี 28 วัน บางปีมี 29 วัน ในหนึ่งปีมี 365-366 วัน  ส่วนสาเหตุของการที่วันเดือนปีของทุกปีมีความต่างกัน 1 วันในบางปีและต่างกันถึง 1 เดือนในบางปีนั้น มันมีที่มาแห่งการนับค่ะ ด้วยประเทศไทยของเรานั้นมีระบบนับวันเดือนปีทั้งทาง จันทรคติ และทางสุริยคติ อย่างในปีนี้ถ้าดูในปฏิทินจะพบว่าเรามีเดือนแปดสองหน คือมีเดือนแปดหน้าแปดหลัง ซึ่งเป็นเดือนทางจันทรคติ ความต่างกันของการนับวันเวลาทั้งสองระบบเป็นดังนี้
ทางจันทรคติ นับตามการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกของเราปีละ 12 ครั้งๆละ 29 วันกับอีก 12 ชั่วโมง รวมสองเดือนจะได้ 59 วัน หากแบ่งเป็นสองเดือนก็จะเป็น  30วันเดือนหนึ่ง กับอีกเดือนหนึ่งจะมีแค่ 29 วันสลับกันไป ซึ่งการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเราเรียกว่า วันข้างขึ้น และวันข้างแรม โดยกำหนดให้เดือนคู่มี 30 วันคือทั้งข้างขึ้นและข้างแรม มีวัน 15 ค่ำเหมือนกัน(เดือนคู่ คือเดือน 2,4,6,8,10,12)  ส่วนเดือนคี่มี 29 วันคือข้างขึ้นมีถึงวันขึ้น 15 ค่ำ แต่ข้างแรมจะมีแค่แรม 14 ค่ำเท่านั้น (เดือนคี่ คือเดือน 1,3,5,7,9,11)  หากปีใดมี “อธิกวาร” ก็จะเพิ่มวันแรม 15 ค่ำเฉพาะในเดือน 7 เท่านั้น ทำให้เดือน 7 มีวันเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวันเฉพาะบางปีเท่านั้นเช่นกัน  แต่เกณฑ์กำหนดวันอธิกวารนั้นไม่แน่นอน จะคำนวณเป็นปีๆไปโดยอาศัยปฏิทินทางโหราศาสตร์
ทางสุริยตคิ  นับตามการโคจรของดวงอาทิตย์รอบโลกของเรา ปีหนึ่งมี 365 วันกับอีก 6 ชั่วโมงเศษ ซึ่งมากกว่าทางจันทรคติถึง 11 ชั่วโมงเศษ หากรวมเวลา 3 ปีก็จะมากกว่ากันถึงเดือนเศษทีเดียว  ดังนั้นเพื่อเป็นการปรับวันเดือนปีให้ตรงกันตามวิถีของโลก(ทางสุริยคติ) เพื่อให้เดือนทางจันทรคติสมดุลกับทางสุริยคติ ด้วยวิธีเพิ่มเดือนแปดเข้าไปอีกหนึ่งเดือน จึงเป็นเดือนแปดสองหน หรือแปดหน้าแปดหลัง เดือนที่เพิ่มนี้เรียกว่า “อธิกมาส” โดยเกณฑ์ของการมีเดือนแปดสองหนหรืออธิกมาสนี้มีหลักว่า ในรอบ 19 ปี จะมีอธิกมาส 7 ครั้ง นับแต่ปีต้นระยะไปถึงปี ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 ที่ 17 และที่ 19  เป็นต้น
     ส่วนการเพิ่มวันของทางสุริยคตินั้นใน 1 ปีมี 365 วันกับอีก 6 ชั่วโมงเมื่อครบ 4 ปีจึงได้เวลาเพิ่มอีก 24 ชั่วโมงหรือ 1 วันพอดี ดังนั้นจึงได้เพิ่มวันในเดือนกุมภาพันธ์  จากปกติมี 28 วัน ให้เป็น 29 วัน เรียกว่า “ปีอธิกสุรทิน”  คือสี่ปีมีหนึ่งครั้ง โดยมีเกณฑ์สังเกตว่าหากปีใดจะเป็นปีอธิกสุรทิน ให้คำนวณจากปีค.ศ. แล้วหารด้วย 4 หากลงตัวพอดี เดือนกุมภาพันธ์ในปีนั้นจะมี 29 วัน เช่น ค.ศ. 2004(พ.ศ. 2547), 2008(พ.ศ. 2551), 2012(พ.ศ. 2555) หรือ 4 หารปีพ.ศ. แล้วเหลือเศษ 3 ปีนั้นเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมี 29 วันเช่นกัน
นั่นเป็นการปรับวันเวลาของไทยเราที่มีมาแต่โบราณกาลแล้วด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีความแม่นยำในการคิดคำนวณในทางจันทรคติที่เราใช้กันมาแต่เก่าก่อนให้เท่าเทียมกับสากลโลก  แต่เรื่องของเวลาในโลกใบนี้แม้ในปัจจุบันก็ยังมีการปรับอยู่เป็นระยะๆ เนื่องจากโลกของเราหมุนช้าลงในทุกวัน (โดยที่เราไม่รู้ตัว) อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยต่างๆเช่น วิถีการโคจรของดวงจันทร์ การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด การละลายของน้ำแข็งทั่วโลก อย่างล่าสุดที่เพิ่งจะปรับเวลาของโลกให้ช้าลง 1 วินาทีเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 30 มิถุนายน 2558ที่เพิ่งผ่านมา แต่สำหรับประเทศไทยของเราได้ปรับเวลาให้ช้าลง 1 วินาทีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เมื่อเวลา 7.00 น. จากเวลา 07นาฬิกา.00นาที.01วินาที เป็นเวลา 07นาฬิกา.00นาที.00วินาที โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ผู้รักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับเวลามาตรฐานสากลโลก การปรับเวลาในครั้งนี้มิใช่เพิ่งจะเกิดเป็นครั้งแรก แต่การปรับเพิ่มเวลาของโลกมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) เมื่อ 43 ปีมาแล้ว ซึ่งในเวลานั้นเรายังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้อย่างแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ การเพิ่มเวลาช่วงเที่ยงคืนเมื่อวันที่ 30มิถุนายน นั้นนับเป็นการเพิ่มเวลาครั้งที่ 26 ในประวัติศาสตร์โลกเพื่อให้ตรงกับเวลาสุริยะ(Solar Time) ฉะนั้นทุกคนบนโลกใบนี้ต่างมีเวลาเพิ่มขึ้นคนละ 1 วินาทีอย่างเท่าเทียมกันแล้วนะ
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสืออ้างอิง “ภูมินามานุกรม” โดย สมบัติ จำปาเงิน เลขหมู่ G106ท9ส43 2545
 
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร