มหาวิทยาลัยกำลังจะออกนอกระบบ จะ "Undo" ดีไหม?

เดือนนี้ (มิถุนายน 2558) เป็นเดือนสุดท้ายแล้วที่สมาชิก กบข. จะต้องเลือกว่าจะ Undo หรือไม่ ส่วนข้าราชการที่สังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็คิดหนักขึ้นไปอีก เพราะปลายปีนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรจะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือออกนอกระบบจึงมีหลายตัวเลือก ได้แก่ Undo เพื่อกลับไปใช้บำนาญปกติ หรือไม่ Undo อยู่ต่อไปจนกว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบแล้วยื่นขอรับเงินบำนาญ และเงินก้อนของ กบข. อีก 4 ก้อน (เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย) หรือไม่ Undo ถึงมหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบก็จะเป็นสมาชิก กบข. ต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ หรือลาออก จึงจะขอรับเงินบำนาญ และเงิน 4 ก้อนจาก กบข.
พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิ์ในบําเหน็จบํานาญตามพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557 หรือเรียกว่า กฎหมาย Undo มีผลใช้บังคับวันที่ 13 ธันวาคม 2557 เริ่มใช้สิทธิ์สมัครได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2557 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดยให้สิทธิ์กับข้าราชการ ผู้รับบํานาญ ผู้รับเบี้ยหวัดที่เป็นสมาชิก กบข. โดยสมัครใจคือข้าราชการที่เข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540
ผู้ที่ตัดสินใจ Undo จะได้รับเงินสะสม (เงินที่สมาชิกจ่ายสมทบเข้า กบข.) และดอกผลคืนจาก กบข. ตั้งแต่วันที่หมดสมาชิกภาพ กบข. (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป) แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินประเดิม (เงินที่รัฐบาลนำส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายเพิ่มให้แก่สมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 ซึ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  และเลือกรับบำนาญตอนเกษียณหรือลาออกจากราชการ) เงินชดเชย (เงินที่รัฐบาลนำส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายเพิ่มให้แก่สมาชิกซึ่งรับบำนาญ) เงินสมทบ (เงินที่รัฐบาลจ่ายสมทบเงินสะสม) และดอกผลของเงินดังกล่าว โดยรัฐบาลจะให้ กบข. นําเงินนี้ไปใส่ในบัญชีเงินสำรองเพื่อใช้ในการบริหารจัดการภาระบํานาญต่อไป
พระราชบัญญัติกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 กำหนดให้รับพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเป็นสมาชิกได้ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ โดยให้สิทธิ์กับสมาชิก กบข. ซึ่งเปลี่ยนสภาพไปเป็นพนักงานและประสงค์จะเป็นสมาชิก สามารถเป็นสมาชิกต่อไปได้ และให้นับเวลาราชการต่อเนื่องกับการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยใช้ “บัญชีอัตราเงินเดือนอ้างอิง” ในการคำนวณเงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชยและบำเหน็จบำนาญของพนักงาน
เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรออกนอกระบบ ข้าราชการของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีอายุราชการ 10 ปีขึ้นไป และตัดสินใจไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สามารถเลือกรับบำนาญได้ด้วยเหตุทดแทน  สิทธิประโยชน์ของการรับบำนาญ ได้แก่
–  ได้รับเงินเป็นรายเดือน ทุกเดือนตลอดชีพ
–  เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตลอดชีพจนกว่าผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม ได้แก่ คู่สมรส บิดา มารดา บุตรที่มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ยกเว้น บุตรที่ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถเบิกได้ตลอดชีพจนกว่าผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม
–  เงินช่วยพิเศษ ให้กับบุคคลซึ่งผู้รับบำนาญแสดงเจตนาหรือทายาทตามกฎหมายได้รับเงิน 3 เดือนของบำนาญเมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่กรรมภายใน 1 ปี
–  ค่าเล่าเรียนบุตรได้ถึงระดับปริญญาตรี กับบุตรที่มีอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์
–  บำเหน็จดำรงชีพ (เงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพโดยจ่ายให้ครั้งเดียว) 15 เท่าของบำนาญรายเดือน คือ หากมีช่วงอายุต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ได้รับไม่เกิน 2 แสนบาท หากมีอายุ 65 ปีบริบูรณ์ ได้รับไม่เกิน 4 แสนบาท (หากช่วงแรกใช้สิทธิ์รับมาแล้วไม่ 2 แสนบาท ช่วงนี้จะเหลืออีกไม่เกิน 2 แสนบาท)
–  บำเหน็จตกทอด (เงินที่จ่ายให้ทายาทโดยจ่ายให้ครั้งเดียวในกรณีที่ผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย) ทายาทตามกฎหมายหรือบุคคลซึ่งผู้รับบำนาญแสดงเจตนาได้รับเงิน 30 เท่าของบำนาญเมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม
–  ได้รับพระราชทานเพลิงศพ
การคำนวณบำนาญ
–  บำนาญปกติ สูตรการคำนวณ (เวลาราชการ x เงินเดือนเดือนสุดท้าย)/50 โดยจำนวนปีเวลาราชการ หมายถึง จำนวนปีรวมเศษของปี ถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี ในการคำนวณเงินบำนาญให้นำเวลาราชการปกติ บวก เวลาราชการทวีคูณด้วย เช่น เวลาราชการปกติ บวก เวลาราชการทวีคูณ 35 ปี 6 เดือน 15 วัน ให้คิดเป็น 36 ปี
–  บำนาญ กบข. สูตรการคำนวณ (เวลาราชการ x เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย)/50 แต่เงินบำนาญที่ได้รับต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยเวลาที่ใช้ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ให้คิดตามปี เดือน วัน ที่ทำงาน ในการคำนวณเงินบำนาญให้นำเวลาราชการปกติ บวก เวลาราชการทวีคูณด้วย เช่น เวลาราชการปกติ บวก เวลาราชการทวีคูณ 35 ปี 6 เดือน 15 วัน ให้คิดเป็น 35.54 ปี (35 + 6/12 + 15/360 = 35 + 0.5 + 0.04 = 35.54)
การเปรียบเทียบเงินบำนาญและเงินอื่นที่ได้รับเพื่อตัดสินใจ Undo หรือ ไม่ Undo
สมมติว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ(ออกนอกระบบ) ในวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ณ วันดังกล่าวคุณขวัญใจ มีอายุ 50 ปี รับราชการมา 25 ปีเต็ม อัตราเงินเดือน 30,000 บาท เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คือ 25,000 บาท ดังนั้น 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คือ 17,500 บาท
การคำนวณบำนาญแบบปกติ = 30,000 x 25/50 = 15,000 บาท
การคำนวณบำนาญแบบ กบข. = 25,000 x 25/50 = 12,500 บาท ซึ่งไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คือ 17,500 บาท จึงได้รับบำนาญ 12,500 บาท แต่หากคำนวณบำนาญได้ 18,000 บาท จะต้องได้รับบำนาญเพียง 17,500 บาท
ผลต่างเงินบำนาญทั้ง 2 ประเภท คือ 2,500 บาท (15,000 – 12,500)
ณ วันที่ยื่นขอออกนอกระบบ คือ วันที่ 1 ธันวาคม 2558 คุณสมใจได้รับเงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วย เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และดอกผลของเงินดังกล่าว (ยกเว้น เงินสะสม ซึ่งเป็นเงินที่สมาชิก กบข. นำส่งเอง ได้รับด้วยแต่ไม่ต้องนำมาคำนวณ) เป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อนำมาเฉลี่ยกับผลต่างเงินบำนาญจะได้ระยะเวลารอคอยในการทยอยเก็บบำนาญส่วนต่าง 120 เดือน หรือ 10 ปี (300,000/2,500)
การที่จะตัดสินใจ Undo หรือไม่นั้น เป็นเหตุผลเฉพาะตัว ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขและความจำเป็นไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะ Undo เพราะคำนวณแล้วคุ้มกว่า เนื่องจาก อายุราชการมาก วันทวีคูณมาก เงินเดือน 5 ปีสุดท้ายไม่ตัน ประเมินแล้วบํานาญส่วนเพิ่มมีมาก หรือระยะเวลารอคอยในการทยอยเก็บบํานาญส่วนต่างไม่นาน บางคนเลือกที่จะไม่ Undo รอจนกว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรจะออกนอกระบบแล้วสมัครเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและลาออกจาก กบข. เพื่อรับเงินก้อนทั้ง 4 ก้อน และบำนาญรายเดือน เนื่องจากคํานวณแล้วบํานาญสองสูตรไม่ต่างกันมาก ระยะเวลารอคอยในการทยอยเก็บบํานาญส่วนต่างนานเกินไป มีภาระหนี้สิน หรือมีความจำเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันซึ่งมีมาก จึงอยากได้เงิน 4 ก้อนมาแบ่งเบาภาระดังกล่าว หรือบางคนต้องการเลี้ยงบำนาญให้อ้วน คือ ยังคงเป็นสมาชิก กบข.ต่อไปไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบหรือไม่ เพื่อให้มีเงินบำนาญมากขึ้นจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ
สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาอีกประเด็นหนึ่งคือ จากข้อมูลล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2012 อายุขัยเฉลี่ยของพลเมืองโลกคือ 70 ปี คนไทยมีอายุขัยสูงกว่าค่าเฉลี่ยคืออายุ 77 ปี นับเป็นชาติที่มีอายุยืนเป็นอันดับ 83 ของโลก ดังนั้นหากเงินบำนาญแต่ละเดือนมีน้อย แล้วเงินบำนาญที่ได้รับอาจจะไม่พอเลี้ยงชีพกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ในวันข้างหน้า เพราะค่าของเงินจะลดลงทุกปี เงิน 100 บาทในวันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้าอาจจะเหลือค่าเพียง 10 บาทก็อาจเป็นไปได้ บางคนอาจจะบอกว่า มีทรัพย์สินเงินทองเก็บไว้แล้ว เดี๋ยวลูกหลานก็เลี้ยง และอีกหลายเหตุผล แต่คงเคยไม่ยินหรือได้ข่าวว่า ที่คนเกษียณอายุราชการแล้วหมดตัวด้วยการไปลงทุนแล้วขาดทุน มีหนี้สิน หรือลูกหลานไม่เลี้ยงดู ก็มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ
ดังนั้น จึงควรคิดให้รอบด้าน ชีวิตในวันข้างหน้าเป็นของเรา เราลิขิตและเลือกทางเดินชีวิตเราเอง อย่าหวังพึ่งคนอื่น ดังคำพระท่านว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และอย่า “หวังน้ำบ่อหน้า” นะจ๊ะ

บรรณานุกรม

กระทรวงการคลัง.  “กฎกระทรวง กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนเพื่อใช้ในการคำนวณเงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชย และบำเหน็จบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2554.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 128, ตอนที่ 30 ก (29 เมษายน 2554).
“พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131, ตอนที่ 77 ก (13 พฤศจิกายน 2557).
“พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539.”  ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113, ตอนที่ 42 ก (27 กันยายน 2539).
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.  คนเราอยากมีอายุยืนกี่ปี.  เข้าถึงเมื่อ 8 มิถุนายน 2558.  เข้าถึงได้จาก http://www.thaihealth.or.th/Content/24473.
 

One thought on “มหาวิทยาลัยกำลังจะออกนอกระบบ จะ "Undo" ดีไหม?

  • ได้ข้อมูลกระจ่าง เหมาะสำหรับประกอบการตัดสินใจ ดีมากมาก ขอบคุณจ๊ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร