ทัศนคติบอด

ปกติคำว่า “บอด” หากกล่าวขึ้นเชื่อว่า
สิ่งที่คนปกติทั่วไปจะนึกถึงเป็นประการแรกคือ “ตาบอด”
ซึ่งหมายถึงอาการของการมองไม่เห็นด้วยสายตา
แต่มิได้หมายรวมว่าการรับรู้ด้วยสัมผัสอื่นๆ ของบุคคลนั้นจะบกพร่องไปด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ คนตาบอด มิได้มีสัมผัสอื่นๆ มืดบอดเช่นเดียวกับสายตา
คำว่า “ทัศนคติ” จากความหมายที่พอจะค้นหาได้บนโลกเสมือน
ซึ่งมิใช่โลกใน “มโนฯ” ที่เป็นศัพท์ฮิตติดปากผู้คนในวันนี้
ซึ่งบางที บางผู้ บางคน อาจมากมายจนถึงขั้น
เสพติด “มโนฯ” ในชีวิตจนคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ตนคิด ตนเชื่อ คือ “จริง”
“ทัศนคติ” คืออะไร
บทความเรื่อง “ทัศนคติ Attitude”
จาก www.novabizz.com/NovaAce/Attitude.htm
กล่าวนำไว้ว่า
“ทัศนคติ เป็นแนวความคิดที่มีความสำคัญมากแนวหนึ่งทางจิตวิทยาสังคม และการสื่อสาร”
นักวิชาการได้ให้นิยามความหมายของคำนี้ไว้หลากหลาย อาทิ
“โรเจอร์ (Roger , 1978 : 208 – 209 อ้างถึงใน สุรพงษ์ โสธนะเสถียร , 2533 : 122)
ได้กล่าวถึงทัศนคติว่า เป็นดัชนีชี้ว่าบุคคลนั้น คิดและรู้สึกอย่างไร กับคนรอบข้าง
วัตถุ หรือ สิ่งแวดล้อมตลอดจนสถานการณ์ต่างๆ
โดยทัศนคตินั้นมีรากฐานมาจากความเชื่อที่อาจส่งผลถึงพฤติกรรมในอนาคตได้
ทัศนคติจึงเป็นเพียงความพร้อมที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า และเป็นมิติของการประเมิน
เพื่อแสดงว่าชอบหรือไม่ชอบต่อประเด็นหนึ่งๆ ซึ่งถือเป็น
การสื่อสารภายในบุคคล (Interpersonal Communication)
ที่เป็นผลกระทบมาจากการรับสาร อันจะมีผลต่อพฤติกรรมต่อไป”
“เคลเลอร์ (Howard H. Kendler , 1963 : 572) กล่าวว่า
ทัศนคติ หมายถึง สภาวะความพร้อมของบุคคล ที่จะแสดงพฤติกรรมออกมา
ในทางสนับสนุน หรือ ต่อต้านบุคคล สถาบัน สถานการณ์ หรือ แนวความคิด”
“นิวคอมบ์ (Newcomb , 1854 : 128) ให้คำจำกัดความไว้ว่า
ทัศนคติซึ่งมีอยู่ในเฉพาะคนนั้น ขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
อาจแสดงออกในพฤติกรรม ซึ่งเป็นไปได้ใน 2 ลักษณะ คือ
ลักษณะชอบ หรือ พึงพอใจ ซึ่งทำให้ผู้อื่นเกิดความรักใคร่อยากใกล้ชิดสิ่งนั้นๆ
หรืออีกลักษณะหนึ่ง แสดงออกในรูปความไม่พอใจ เกลียดชัง ไม่อยากใกล้สิ่งนั้น”
ในส่วนของนักวิชาการไทย
ได้มีการให้คำจำกัดความไว้ อาทิ
“เดโช สวนานนท์ (2512 : 28) กล่าวถึงทัศนคติว่า
เป็นบุคลิกภาพที่สร้างขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงได้ และเป็นแรงจูงใจ
ที่กำหนดพฤติกรรมของบุคคลที่มีต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ”
“ศักดิ์ สุนทรเสณี (2531 : 2) กล่าวถึงทัศนคติ
ที่เชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมของบุคคลว่า ทัศนคติ หมายถึง
1. ความสลับซับซ้อนของความรู้สึก หรือการมีอคติของบุคคล
ในการที่จะสร้างความพร้อม ที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ตามประสบการณ์ของบุคคลนั้นที่ได้รับมา
2. ความโน้มเอียงที่จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางที่ดี
หรือ ต่อต้านสิ่งแวดล้อมที่จะมาถึงทางใดทางหนึ่ง
3. ในด้านพฤติกรรม หมายถึง การเตรียมตัว หรือ ความพร้อมที่จะตอบสนอง”
กล่าวโดยสรุปย่นย่อ คือ
ทัศนคติประกอบด้วยความคิดที่มีผลต่ออารมณ์
ความรู้สึก และแสดงออกมาทางพฤติกรรม
บทความดังกล่าว
นอกจะให้คำอธิบายความหมายคำว่า “ทัศนคติ” แล้ว
ยังกล่าวถึงความเห็นของนักวิชาการต่างๆ
ที่มีต่อที่มา และไม่ยอมไป หรือไปยาก ของการเกิดทัศนคติ อาทิ
“กอร์ดอน อัลพอร์ท (Gordon Allport, 1975)
ให้ความเห็นเรื่องทัศนคติว่า อาจเกิดขึ้นจากสิ่งต่างๆ ดังนี้
1. เกิดจากการเรียนรู้ เด็กเกิดใหม่จะได้รับการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับ
วัฒนธรรมและประเพณีจากบิดามารดา ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
ตลอดจนได้เห็นแนวการปฏิบัติของพ่อแม่แล้วรับมาปฏิบัติตามต่อไป
2. เกิดจากความสามารถในการแยกแยะความแตกต่าง คือ
แยกสิ่งใดดี ไม่ดี เช่น ผู้ใหญ่กับเด็กจะมีการกระทำที่แตกต่างกัน
3. เกิดจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งแตกต่างกันออกไป เช่น
บางคนมีทัศนคติไม่ดีต่อครู เพราะเคยตำหนิตน
แต่บางคนมีทัศนคติที่ดีต่อครูคนเดียวกันนั้น เพราะเคยเชยชมตนเสมอ
4. เกิดจากการเลียนแบบ หรือ รับเอาทัศนคติของผู้อื่นมาเป็นของตน เช่น
เด็กอาจรับทัศนคติของบิดามารดา หรือ ครูที่ตนนิยมชมชอบ มาเป็นทัศนคติ ของตนได้”
“เครช และ ครัทช์ฟิลด์ (Krech and Crutchfield, 1948)
ได้ให้ความเห็นว่า ทัศนคติ อาจเกิดขึ้นจาก
1. การตอบสนองความต้องของบุคคล
นั่นคือสิ่งใดตอบสนองความต้องการของตนได้
บุคคลนั้นก็มีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งนั้น
หากสิ่งใดตอบสนองความต้องการของตนไม่ได้
บุคคลนั้นก็จะมีทัศนคติไม่ดีต่อสิ่งนั้น
2. การได้เรียนรู้ความจริงต่างๆ
อาจโดยการอ่าน หรือจากคำบอกเล่าของผู้อื่นก็ได้
ฉะนั้น บางคนจึงอาจเกิดทัศนคติไม่ดีต่อผู้อื่น
จากการฟังคำติฉินที่ใครๆ มาบอกไว้ก่อนก็ได้
3. การเข้าไปเป็นสมาชิก หรือสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
คนส่วนมากมักยอมรับเอาทัศนคติของกลุ่มมาเป็นของตน
หากทัศนคตินั้นไม่ขัดแย้งกับทัศนคติของตนเกินไป
4. ทัศนคติ มีส่วนสำคัญกับบุคลิกภาพของบุคคลนั้นด้วย คือ
ผู้ที่มีบุคลิกภาพสมบูรณ์ มักมองผู้อื่นในแง่ดี
ส่วนผู้ปรับตัวยาก จะมีทัศนคติในทางตรงข้าม คือ
มักมองว่า มีคนคอยอิจฉาริษยา หรือ คิดร้ายต่างๆ ต่อตน”
นอกจากความหมายของคำว่า “ทัศนคติ”
และมูลเหตุบ่มเพาะให้เกิดทัศนคติของบุคคลแล้ว
ในบทความดังกล่าวยังมีรายละเอียดอื่นๆ เช่น
องค์ประกอบของทัศนคติ ประเภทของทัศนคติ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ
ความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติกับพฤติกรรม และอื่นๆ
ซึ่งผู้สนใจสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้ตาม Link ที่แจ้งข้างต้น
แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ยังหาใช่ประเด็น
ที่จะแบ่งปันเรื่องราวตามจั่วหัว “ทัศนคติบอด”
ซึ่งเป็นเรื่องที่อิฉันแบ่งปันมาจากโลกเสมือน
เมื่อนมนานมา ตั้งแต่เมื่อประมาณ 18 ‎September, ‎2010
และเมื่อถึงกา-ละ บัดnow จะหาอ้างอิงแห่งหนเดิม ก็ดูจะเกินความสามารถไป
และเมื่อลองค้นหาตามคำจั่วหัวในกาลปัจจุบัน
ก็ยังพอมีแหล่งปรากฎให้อ้างอิงได้ อาทิ
คุณแม่สอนคุณลูก ๕ ทัศนคติบอด จาก
http://mblog.manager.co.th/suninath/th-109059/
หรือ Blog ที่แบ่งปัน Fw ของผู้ใช้นาม “อึ่งอ่าง” จาก
http://www.oknation.net/blog/kunyarat/2008/06/26/entry-1
อิฉันเลือกอ้างอิงและคัดลอกส่วนท้ายบทความเพิ่มเติม
จากแหล่งอ้างอิงแรกเพราะอ่านง่ายสบายตา
“ทัศนคติบอด” ที่อยากแบ่งปัน
เป็นเรื่องที่เหล้าก็เมา เพราะยาววววมั่กๆ ประมาณหนึ่ง
นับ 1…2….3………..ถ้าถึง 10 ได้ ก็กลั้นใจอ่านต่อนะคะ
เพราะเกรงว่าหากไปขึ้นตอนต่อเป็น 2 3 4 5 …7 … ถึง 10 ถึง 100
คณะกรรมการประเมินจิให้เหลือเพียง 1
ด้วยเป็นมหากาพย์ไตรภาค แต่มีสาระ(มั้ย…ไม่รู้) แค่เพียงกระจึ๋งเดียว
เป็นว่าอ่านกันต่อแบบย๊าววววว ยาว ละกันนิ เรื่องก็มีอยู่ว่า
“ชนะโทรไปบริษัทนี้เป็นหนที่สองในรอบสัปดาห์นี้
บริษัทนี้เป็นลูกค้ารายใหม่ที่เขากำลังติดตามเรื่องอยู่
เสียงของโอเปอร์เรเตอร์ซึ่งรับสายด้วยเสียงที่เป็นมิตรและอ่อนโยน กล่าวว่า
‘สวัสดีคะบริษัทเอบีซีอิงค์ ยินดีต้อนรับคะ’
คุณชนะกล่าวว่า…
‘ผมขอเรียนสายกับคุณสมจิต ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์หน่อยครับ’
โอเปอร์เรเตอร์กล่าวทักขึ้นมาว่า
‘นั่นคุณชนะใช่ไหมคะ’
ชนะรู้สึกแปลกใจความสามารถในการจดจำเสียงของพนักงานคนนี้ได้
เขากล่าวตอบด้วยเสียงที่เต็มไปด้วยความประทับใจ

‘ใช่แล้วครับ ขอบคุณที่จำได้ครับ’
เธอกล่าวว่า…’ยินดีคะ ดิฉันจะโอนสายให้นะคะ’
หลังจากที่ชนะสนทนาเรื่องงานกับสมจิตจบ
เขาจึงกล่าวขึ้นมาว่า

‘คุณสมจิตผมขอชมพนักงานรับโทรศัพท์ของคุณหน่อยครับ
เธอเก่งจริงๆ เลยที่จำเสียงผมได้
เป็นการให้บริการที่เกินความคาดหวังของผมจริงๆ เลยครับ
ผมเองไม่ได้เป็นลูกค้าประจำ และก็ไม่ได้โทรมาบ่อยๆ
ขนาดที่เธอจะจำเสียงผมได้ด้วย เธอมีเคล็ดลับอะไรครับ’
สมจิตพูดว่า
‘เธอชื่อเรณูค่ะ เธอได้รับคำชมอย่างนี้บ่อยๆ
หากคุณฟังเรื่องของเธอมากขึ้นกว่านี้คุณจะยิ่งประทับใจ
สนใจฟังไหมล่ะคะ’
ชนะรีบกล่าวตอบด้วยความกระตือรือร้นว่า
‘สนใจสิครับ ช่วยกรุณาเล่าให้ฟังหน่อยครับ’
สมจิตเริ่มต้นเล่าอย่างอารมณ์ดี
‘คุณเรณูเธอตาบอดค่ะ

เธอจึงต้องอาศัยการฟังเพียงอย่างเดียว
ทำให้เธอสามารถจดจำชื่อคนได้ดี

เธออาศัยอยู่ที่สมุทรปราการและมาทำงานที่ออฟฟิศนี่
ซึ่งอยู่แถวดอนเมือง ซึ่งถือว่าไกลมากโดยเฉพาะสำหรับเธอ
ซึ่งต้องเดินทางโดยรถเมล์เหมือนคนปกติ

ส่วนใหญ่ก็จะมีคนตาดีอย่างพวกเราที่คอยช่วยดูสายรถเมล์
และส่งเธอขึ้นรถทำให้เธอไม่เคยมาสายเลย
และก็ไม่เคยเรียกร้องขอรถรับส่งแต่อย่างใด

ไม่เหมือนพนักงานปกติของพวกเราหลายคน
ตอนที่เราย้ายสำนักงานจากในเมืองต้องขอรถรับส่งให้ด้วย
แถมหลายๆ คนที่มีรถส่วนตัวก็ยังมาทำงานสาย
พร้อมกับเหตุผลสารพัด คิดแล้วอายแทนคนตาดีเลยค่ะ’
เธอหยุดเว้นจังหวะสักครู่ก่อนจะเล่าต่อว่า

‘คุณเรณูมีทัศนคติที่ดีมากๆ กับงานของเธอ
เธอเคยเล่าให้ดิฉันฟังว่าสำหรับเธอแล้ว
การรับโทรศัพท์ไม่ใช่งานแต่มัน คือ ชีวิต

เงินเดือนที่บริษัทให้กับเธอ
ทำให้เธอสามารถเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้อย่างดี
นอกจากนี้เธอยังมีเงินเหลือกว่าครึ่งสะสมไว้อีก

ที่จริงแล้วเพื่อนคนตาดีหลายคนเคยหยิบยืมจากเธอในยามฉุกเฉิน
คุณเรณูกล่าวว่าบริษัทเรา เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และสังคมมอบโอกาสให้เธอ
ได้พิสูจน์ว่าเธอมีคุณค่าและสามารถมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมได้

เธอบอกว่าเธอจะพยายามทำงานของเธออย่างสุดความสามารถ
ซึ่งรวมทั้งพยายามจำชื่อของผู้ที่โทรเข้ามาด้วย
เธอบอกว่าทุกคืนก่อนเข้านอน เธออยากรีบนอนไวๆ
เพื่อจะได้รีบตื่นขึ้นมาทำงาน เธออดใจรอจะมาทำงานไม่ไหว 
แหมอย่าหาว่าดิฉันบ่นเลยคะ
แต่พวกตาดีๆ อย่างพวกเรากลับภาวนา
ให้ถึงวันหยุดเร็วๆ เสียนี่กระไร’
สมจิตจบเรื่องด้วยเสียงหัวเราะเบาๆอย่างคนอารมณ์ดี
เมื่อชนะมาเล่าเรื่องนี้ให้กับผมฟัง
ในรถระหว่างที่เราเดินทางไปพบลูกค้าที่นวนคร

ผมจึงเสริมความเห็นของผมไปว่า
‘เราน่าจะเล่าเรื่องนี้ให้คนที่มาเข้าอบรมกับเราฟังบ้างนะ
บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินคนบ่นว่า
งานหนัก หรือไม่ก็ปัญหาเรื่องงานมีมาก

สิ่งที่คุณเรณูมีแตกต่างกับเรา
ไม่ใช่ว่าเธอตาบอดหรอกครับ

ความจริงพวกเราต่างหากที่บอด
เราทัศนคติบอดไงล่ะ

เราได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมายจากนายจ้างจนเคยชิน
กระทั่งมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น
ยิ่งนานวันเรายิ่งเรียกร้องมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงปลายปี
ในขณะที่คุณเรณูกลับมองแตกต่างกับเราอย่างสิ้นเชิง
บางคนเบื่องานจนอยากลาออกไปอยู่กับบ้านเฉยๆ
ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ Dr. Denis Waitley ผู้แต่งหนังสือขายดีชื่อ
‘The psychology of winning’.
เขายกรายงานวิจัยในอเมริกาที่บอกว่า
ผู้เกษียณอายุออกจากงานไปโดยไม่มีภารกิจอะไร
ทำไมมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่เจ็ดปีเท่านั้น
พวกเขาตายเพราะความรู้สึกด้อยคุณค่า
หรือ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเฉาตายนั่นเองครับ
เราบางคนมีโอกาสได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองรัก
ในขณะที่คนจำนวนมากไม่มีโอกาสอย่างนั้น
อย่างไรก็ตามเรามีสิทธิที่จะเปลี่ยนมุมมอง
โดยหันมารักและหลงใหลในสิ่งที่เราทำได้
โดยไม่ต้องรอให้ตาบอดแบบคุณเรณูก็ได้’
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว
เชื่อว่าหลายๆ คน อาจคล้อยตาม
หรือบางคนอาจคล้อยต่าง ก็สุดแท้แต่ค่ะ
แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าทุกๆ คนที่มีสำนึกไม่บกพร่อง
สติสัมปชัญญะยังบริบูรณ์อยู่ดี
คงไม่มีใครปรารถนาที่จะเข้าใกล้
หรือตกอยู่ในแวดล้อมของบุคคลที่มี “ทัศนคติบอด”
ท่านๆ ที่ละเลียดตัวอักษรตามมาจนบรรทัดนี้
อยากลองสำรวจตัวตนของตนเองว่าเรามีทัศนคติที่ดีอย่างคุณเรณู
ที่แม้ในโลกส่วนตัวของผู้พิการทางสายตาจะมืดมน
หากแต่ในมโนสำนึกของเธอกลับสว่างสดใส
ด้วยความคิดที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก
และแสดงพฤติกรรมอันประทับใจส่งต่อไปยังผู้คนรอบข้างบ้างไหมคะ
เอาแบบ…ไม่เอา “มโน”
เอาแต่ “ศิระกราน” ต่อข้อเท็จจริงอ่ะนะ
*** หมายเหตุ “ศิระกราน” หมายถึง ศีรษะก้มน้อมกราบ
—————————
คัดลอกและอ้างอิงจาก
NovaBizz. n.d. http://www.novabizz.com/NovaAce/Attitude.htm (accessed march 17, 2015).
SuNiNaTh. mblog Sites. January 17, 2015. http://mblog.manager.co.th/suninath/th-109059/ (accessed march 17, 2015).
 

2 thoughts on “ทัศนคติบอด

  • ตอนมาทำงานใหม่ๆ มีความรู้สึกว่าตัวเองลำบากมาก วันหนึ่งมีรุ่นน้องมาหากำลังจะอ้าปากบ่น น้องบอกพี่ฟังหนูก่อน จึงฟังๆๆๆๆ ไปนานทีเดียว จนรุ่นน้องนึกได้ ถามว่าพี่มีอะไรหรือปล่าว …. ตอนนั้นบอกว่าปล่าว เพราะคิดสะระตะแล้วปัญหาเรามันแค่นิด กระจิ้ดเดียวเอง เรื่องนี้ชอบเขียนเม้นท์เวลามีใครเขียนเรื่องแบบนี้
    เนื่องจากในกลุ่มเพื่อนๆ มักจะไปสถานสงเคราะห์คนชรากันเกือบทุกปี เวลาไปนอกจากได้คุยกับคนที่อยู่ที่นั่นแล้ว ยังมีโอกาสคุยกับคนทำงานจะได้รับมุมมองต่างไป บอกใครหลายคนเหมือนกันว่าลองทำบุญในที่แบบนี้บ้าง
    ต่อมาได้อ่านหนังสือ จำไม่ได้ว่าชื่ออะไร บอกว่าหากเวลาเราท้อให้มองคนงานก่อสร้าง เรื่องนี้จำได้ว่าแนะนำชายหนุ่มคนหนึ่ง สมัยที่มีการก่อสร้างใกล้ๆ ห้องสมุดเช่นกัน
    พอคิดแบบนี้จึงแทบจะไม่ปริปาก ทำงานทุกวันด้วยความบันเทิงเริงรมย์ และยิ่งอายุมากเท่าไรก็ยิ่งอยากจะรักษาใจให้สงบที่สุด

  • อ่านคิดเห็นคุณสมฯ หลายวันก่อนหลังเลิกงาน
    และได้เข้ามาเห็นต่อในเรื่องราวของความใหม่ต่องาน
    แต่ด้วยมีเหตุอิรุงตุงนังจากผู้ชมทางบ้านจึงต้องละทิ้งเห็นนั้นไป
    โดยยังมิทันจะได้เอออวยยินยอมคิดเห็นกับระบบ
    วันนี้ได้ฤกษ์ผานาทีเหมาะเหม็ง อิฉันจึงแวะเวียนมาร่ายคำใหม่
    เพราะเหตุในการเข้ามาทำงานใหม่ดั่งคุณสมว่าไว้
    เลยทำให้รำลึกวันวานยังหวานอยู่ในวิชาชีพบรรณารักษ์ของตนเองขึ้นมาได้
    อิฉันเริ่มเข้าทำงานเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา ในฐานะ Cataloger
    และคงอยู่ในฐานะดังกล่าวยาวนานร่วม 10 ปี
    ก่อนที่จะมีอันให้ต้องโยกย้ายมาทำงาน ปชส.ห้องสมุดในยุคเริ่มต้น
    ตามประสงค์ของหัวหน้าหอสมุดในยุคนั้น คือพี่แมว ป้าแมว ของเราๆ
    กระทั่งโอนย้ายไปทำงานที่ห้องสมุดโรงเรียนสาธิต
    แหล่งที่มีอิทธิพลบ่มเพาะ ปลูกฝัง ความเป็นตัวตนแก่อิฉันในวัยเยาว์
    ขณะที่งานcat. ในครั้งนั้นทุกอย่างต้องทำมือ
    ขณะที่คุณสมฯ มีประสบการณ์กับคอลเลคชั่นPop.
    อิฉันก็มีส่วนร่วมในยุคปลายของหนังสือระบบ DC
    ซึ่งหากจะเหลา เอ้ยยย เล่า ณ ตรงนี้
    เกรงว่าจะยาวววววว ย๊าวววววววว ยาววววว
    จึงขอเก็บไปต่อความยาวใน new blog ละกัน
    คุณสมฯ ขึ้นเม้นท์ด้วย “ตอนมาทำงานใหม่ๆ”
    และจบลงด้วย “ยิ่งอายุมากเท่าไรก็ยิ่งอยากจะรักษาใจให้สงบที่สุด”
    เหม่นะ…ประเมินกันไม่ออกเลยทีเดียวว่าปูนไหนแล้วววว หุหุหุ ^^

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร