ว่าด้วยเรื่อง…ลิขสิทธิ์ (ห้องสมุด)

เนื่องจากตัวเองต้องรับผิดชอบในงานของหอสมุดฯ ที่อาจมีโอกาสไปเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะจากการที่ได้อ่านเรื่องราวของลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจากหนังสือ หรือเอกสารการสัมมนา หรือแม้แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ รวมถึงครั้งล่าสุดที่ได้มีโอกาสไปร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ ซึ่งจัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ยิ่งฟังก็ยิ่งหนาว…เพราะถ้าเอาเข้าจริงๆ แล้ว เรามีโอกาสละเมิดลิขสิทธิ์ได้อยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
ลิขสิทธิ์ หมายถึงอะไรคงไม่ต้องพูดถึง เพราะจริงๆ มันคงผ่านเลยจุดนั้นไปแล้ว แต่ที่แน่ๆ ผลงานนั้นๆ เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ของตน และโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดง และการสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย ทั้งนี้ไม่คุ้มครองความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้ วิธีทำงาน แนวคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
งานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ ประกอบด้วยประเภทงานต่างๆ คือ  1) งาน 9 ประเภทที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ งานวรรณกรรม งานนาฏกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานสิ่งบันทึกเสียง งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนตร์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ  2) งานสร้างสรรค์ขึ้นเอง โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบงานของบุคคลอื่น  3) มีระดับการสร้างสรรค์งานที่เพียงพอ  4) เป็นงานลิขสิทธิ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
— ผลงานที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์
– ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร
– รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
– ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจ้ง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น
– คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
– คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
– ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้ วิธีทำงาน แนวคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ –> เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ดังนี้
1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง
4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ตามข้อ 1, 2 หรือ 3 โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ ที่ไม่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม
เมื่อเห็นทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่าหากเรากระทำการใดๆ ใน 5 ข้อที่ว่ามานี้ ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
การละเมิดลิขสิทธิ์ –> ได้แก่  1) การละเมิดขั้นต้น เป็นการกระทำแก่งานลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์  2) การละเมิดขั้นรอง เป็นการกระทำเพื่อหากำไร โดยผู้กระทำรู้อยู่แล้ว หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์
ถึงแม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะมีไว้คุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ยังมีไว้เพื่อการสร้างสมดุลด้วยโดย เป็นทั้งการคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ และประโยชน์สาธารณะ และมีข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้เพื่อให้สังคมได้รับสิทธิ…
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์  –> มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียน หรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
และในมาตรา 34 การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไรและได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
(2) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา
อย่างไรก็ตาม…ในฐานะที่เราอยู่ห้องสมุด เมื่อเราอ่านข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด เราก็อย่าได้ตีความเข้าข้างตัวเราว่า เราไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยอ้างว่าเพราะว่าเราปฏิบัติอยู่ในข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือที่เราเรียกว่า Fair Use
คุณตรัสวิน จิตติเตชารักษ์ (กรรมการบริหาร สมาคมผู้จัดพิมพ์ระหว่างประเทศ) ได้พูดไว้ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ เกี่ยวกับ Fair use ว่า “เราก็ต้องถามตัวเองก่อนว่าแค่ไหนคือ Fair” ละได้ให้ข้อคิดว่า เราจะหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้โดย…
– จงคำนึงถึงเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้เป็นนิสัย
– จงคาดไว้ก่อนว่าทุกงานได้รับการคุ้มครองจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าไม่มีเจ้าของ
– จงตรวจสอบว่างานนั้นนำไปใช้สาธารณะได้หรือไม่ และต้องอ้างที่มาเสมอ
– อย่าคิดว่าเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตไม่มีการคุ้มครอง และใครๆ ก็นำไปใช้ได้
– อย่าแชร์ อัพโหลด ดาวน์โหลดงานวรรณกรรม ซอฟต์แวร์ ภาพถ่าย ภาพเขียน ภาพยนตร์ ดนตรี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของงาน
– อย่านำเนื้อหาจากเว็บไซต์อื่นมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต พึงระลึกตลอดเวลาว่าถ้าเว็บไซต์ไม่ระบุว่า ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ก็แปลว่างานนั้นๆ มีลิขสิทธิ์
อย่างไรก็ดี…ในเรื่องของ Fair Use เราต้องคำนึงถึงหลักการตรวจสอบ Fair use หรือ Three-step-test หรือที่ระบุในมาตรา 32 ที่ว่า “การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของ ลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์”

ก่อนหน้านี้เคยมีโอกาสได้อ่านและบันทึกข้อมูลจากเว็บบอร์ดของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นคำถามของห้องสมุดว่า การกระทำของห้องสมุดในกรณีต่างๆ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ (ปัจจุบันพบว่าเว็บบอร์ดนี้หายไปแล้ว) … จึงขอยกมาเป็นตัวอย่างให้อ่านซัก 4-5 ประเด็น เช่น

คำถาม คำตอบ
หากห้องสมุดเปิดฉาย vcd / dvd ในห้องสมุด สามารถเก็บค่าบำรุงสถานที่จากผู้เข้าชมได้หรือไม่ การที่ห้องสมุดเปิดฉาย VCD DVD ในห้องสมุดถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน (มาตรา 28 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537)
ห้องสมุดซื้อ DVD ภาพยนตร์ที่มีลิขสิทธิ์ และให้บริการยืมแก่นิสิต/staff ได้ไหม กรณีห้องสมุดซื้อ DVD ภาพยนตร์ที่มีลิขสิทธิ์และให้บริการยืมแก่นิสิตหรือเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องพิจารณาดูว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ศาลเท่านั้นจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
เนื่องจากห้องสมุดเปิดให้บริการบุคคลภายนอกเข้าใช้บริการได้ หากบุคคลภายนอกประสงค์ จะ save / write / print ข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีให้บริการอยู่ เช่น ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ ฐานข้อมูล Full Text จะสามารถทำได้หรือไม่ การที่บุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการห้องสมุดแล้วมีความประสงค์จะ save/write/print ข้อมูลที่ให้บริการ เช่น ข้อมูลวิทยานิพนธ์ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการทำซ้ำเพื่อวิจัยหรือศึกษางานเท่านั้น โดยจะต้องไม่เป็นการขัดต่อการแสวหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายเกินสมควร
หนังสือห้องสมุดหาย แล้วจึงไปขอยืมจากห้องสมุดอื่นมาซีร็อค 1 เล่ม ทดแทนหนังสือที่หายไป ได้หรือไม่ การทำสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยบรรณารักษ์ หากเป็นการทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่นสามารถทำได้ แต่การกระทำดังกล่าวต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร และไม่เป็นการกระทบกระเทือนสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร (มาตรา 32 วรรค 1) เช่น กรณีหนังสือเล่มนั้นมีวางขายอยู่ในท้องตลาด การถ่ายสำเนาของบรรณารักษ์อาจเข้าข่ายขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์
อาจารย์มีบทความตีพิมพ์ในวารสาร ห้องสมุดทำเว็บไซท์รวมผลงานอาจารย์ทุกคนจะเชื่อม link ไฟล์บทความอาจารย์ไว้ในเว็บด้วยได้ไหมคะ จะต้องขออนุญาตวารสารอีกหรือเปล่า เพราะอาจารย์เจ้าของงานไม่ว่าอะไร อยากให้ทำด้วยซ้ำ การนำบทความลงเว็บไซต์ ถือเป็นการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์บทความก่อน มิฉะนั้นจะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

 
จะเห็นว่าการกระทำใดๆ ที่ห้องสมุดคิดว่า Fair Use มันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ซึ่งในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องยังมีอีกมากมาย ซึ่งคิดว่ามีความจำเป็นอยู่ไม่น้อยที่เราจำเป็นต้องรู้ไว้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์
 
บรรณานุกรม
กรมทรัพย์สินทางปัญญา.  (2557).  สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ข้อยกเว้นการละเมิด

ลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ.  กรุงเทพฯ : กรมฯ.

บุญเลิศ อรุณพิบูลย์.  (2555).  บรรณารักษ์กับกฎหมายลิขสิทธิ์.  สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม

2557, จากฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนา

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ http://www.stks.or.th/th/knowledge-bank/28-

library-science/2942-librarian-copyright-laws.html

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537.  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 59 ก (21 ธันวาคม

2537): 1-22.

One thought on “ว่าด้วยเรื่อง…ลิขสิทธิ์ (ห้องสมุด)

  • ตอนงานบุ๊คแฟร์ฯ คุณกิ่งฉัตร ได้พูดถึงเรื่องประเด็นนี้ พอท่านลงเวทีจึงไปสนทนาต่อ สอบถามหลายเรื่องในประเด็นที่เราคิดว่าใช่หรือไม่ และได้คำตอบแล้ว ส่วนในวงกว้างเพื่อให้รับรู้ด้วยกันคิดว่าถ้ามีผู้เชี่ยวชาญในสาขาจะพูดให้ฟังน่าจะดีกว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการหาเวลาที่เหมาะสมกับทางผู้เกี่ยวข้อง และส่งต่อให้คุณใหญ่แล้ว เพราะทราบว่าทางกลุ่มความเสี่ยงฯ จับเรื่องนี้อยู่ ระหว่างนี้พวกเราน่าจะรวบรวมประเด็นต่างๆ เตรียมไว้สำหรับเวทีที่กำลังจะเกิดขึ้นค่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร