ทำไมสมองชอบกระดาษ

จำไม่ได้แล้วว่า ได้ download บทความนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อใด เมื่อเปิดมาพบจึงตั้งใจอ่าน บทความชื่อ ทำไมสมองชอบกระดาษ เป็นบทความที่  ดร.พิทักษ์ เอี่ยมชัย จากหน่วยวิจัยอุปกรณ์และระบบอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เก็บความมาจากบทความเรื่อง “Why Brain Prefers Paper?” ของ Ferris Jabr ที่ตีพิมพ์ใน Scientific American  เดือนพฤศจิกายน 2013
จากผลงานวิจัยจำนวนมากพบว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ จะสามารถตีความ ทำความเข้าใจ จดจำ สิ่งที่อ่าน จากการอ่านหนังสือที่เป็นตัวเล่ม ได้ดีกว่าการอ่านจาก e-Books ผ่านหน้าจออุปกรณ์สำหรับอ่าน แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนาเพื่อการอ่าน e-Books จะพัฒนาไปมาก ตั้งแต่ การปรับสี แสง ตัวอักษรให้คล้ายกับหนังสือเล่มได้ดีกว่าเดิมแล้วก็ตาม  เพราะสมองมนุษย์ตีความตัวอักษรที่เราใช้แทนเสียงพูดและความคิด เป็นวัตถุทางกายภาพ ในทำนองเดียวกัน เมื่อหัดอ่านหัดเขียน มนุษย์เรียนรู้จดจำลักษณะตัวอักษรจากเส้นตรง เส้นโค้ง และช่องว่าง ซึ่งเป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่ต้องใช้ทั้งสายตาและมือสัมผัส
การเปิดหนังสือทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้ถึงขอบเขตของหน้ากระดาษซ้ายขวา  คุ้นเคยกับมุมทั้งแปดของหนังสือ เราจะอ่านเน้นที่หน้าใดก็ได้โดยที่ตัวหนังสือส่วนอื่นไม่เลื่อนหายไป  เราสามารถรับรู้ได้ว่า เราอ่านไปได้แค่ไหนแล้ว จากความหนาบางของหนังสือที่เหลืออยู่อีกด้านหนึ่งที่ยังไม่ได้อ่าน …การพลิกหน้าหนังสือจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ได้ฝากรอยเท้าไว้ในเวลาที่เราเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ สามารถบันทึกได้ ช่วยให้สามารถปะติดปะต่อสร้างภาพเชื่อมโยงเนื้อหาสาระขึ้นเป็นภาพเหตุการณ์ขึ้นในใจได้ง่าย
ในขณะที่การอ่านด้วยอุปกรณ์ดิจิทัล จะรบกวนระบบนำทางจากสัญชาตญาณของผู้อ่าน  แม้ว่าจะสามารถเลื่อนแถบข้อความไปได้ทีละหน้า หรือสามารถค้นหาคำที่ต้องการได้ทันที แต่ผู้อ่านจะไม่เห็นภาพรวม  อุปมาเหมือน Google Maps ที่สามารถซูมดูที่อยู่เฉพาะเจาะจงได้ แต่ไม่สามารถซูมดูบริเวณใกล้เคียงได้  คนอ่าน e-Books ก็เช่นกัน ต้องคอยชำเลืองดูแถบโปรเกรสบาร์ และยังรู้สึกคลุมเครือว่าอ่านหนังสือไปถึงไหนแล้ว  การอ่าน e-Books จึงเปรียบเหมือนการเดินป่าในเส้นทางที่มองเห็นต้นไม้ ก้อนหิน หรือสิ่งรอบตัววิ่งผ่านตาไปชั่วพริบตา โดยไม่ทิ้งร่องรอยที่เป้็นรูปธรรมของเส้นทางที่เคยผ่านมา  อีกทั้งมองไม่เห็นเส้นทางที่กำลังจะเดินทางต่อไปข้างหน้าด้วย
ส่วนการเรียนรู้ของเด็ก มีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า  เด็ก ๆ ที่อ่านนิทานบนกระดาษสามารถจดจำรายละเอียดได้ดีกว่ากลุ่มเด็กที่อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ปรุงขึ้นด้วยภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ และเกมส์ เพราะจะคอยดึงดูดความสนใจออกจากเนื้อหาไปเล่นอุปกรณ์เหล่านั้น…สำหรับเรื่องนี้ พ่อแม่บางคนอาจบอกว่า ลูกสนใจอ่านนิทานจากเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า และจำได้ด้วย เพราะสนุกกว่าพ่อแม่เล่า คิดผิวเผินคงเห็นจริงอย่างนั้น แต่ถ้าพ่อแม่ได้ใช้เวลากับลูก สังเกตการอ่านของลูก จะเห็นความแตกต่าง สำหรับฉันเห็นจากลูกเช่นกัน สิ่งที่เขาสนใจและอ่านจากหนังสือจำนวนมากมาย พอวันหนึ่งมีการพูดถึงเรื่องเดิมเขาก็จะสามารถไปหยิบหนังสือเล่มที่มีข้อมูลส่วนนั้น เปิดไปได้ราวกับเพิ่งอ่านผ่านไป  ดังนั้นแม้ว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยง การเป็น อยู่ คือ ด้วยเทคโนโลยีแล้ว ก็อย่างเพิ่งลืมเลือน การส่งหนังสือเล่มให้ลูกอ่าน อ่านกับลูก ให้ตังค์ลูกซื้อหนังสือตามที่เขาอยากได้บ้าง สมองของลูกเราก็จะได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตามแบบที่สมองชอบ
ในประเด็นที่บอกว่า สมองมนุษย์ตีความตัวอักษรเป็นภาพนั้น ฉันรู้สึกเห็นจริงตามไปด้วย เพราะสังเกตได้จาก การใช้ mind map ในการสรุปความสัมพันธ์ของสิ่งที่กำลังเรียนรู้ ทำให้เราสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพกว่ามีแต่ตัวอักษร  และจากภาพยนตร์ที่ฉันเคยเล่าให้เพื่อน ๆ อ่าน เรื่อง The Gifted Hand ที่คุณหมออ่านหนังสือ แล้วเวลาจะทำข้อสอบหรือบรรยาย ก็จะนึกภาพหนังสือที่อ่านได้เป็นภาพ ๆ เลย หรือฉันก็เคยมีเพื่อนที่เรียนเก่ง เล่าให้ฟังเหมือนกันว่า เขาอ่านหนังสือแล้วเขาหลับตาจำได้เลยว่า อยู่มุมไหนของหนังสือ ..เหมือนเห็นเป็นภาพเช่นกัน
สำหรับกรณีของหนังสือของห้องสมุด สำหรับฉัน ฉันก็ยังชอบหนังสือตัวเล่มมากกว่า เพราะมันจะยังอยู่กับเราตราบนานเท่านาน ไม่หายไปกับอากาศ หรือหากเราจะวิ่งตามเทคโนโลยีบ้างเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัย และผู้ใช้บริการของเราส่วนใหญ่ก็เป็น Gen X Gen Y การมี  e-Books ให้บริการก็อาจดูเชิญชวนได้มากกว่า

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร